080-5519598 (คุณแก้ว) plarnkhoi@hotmail.com
Select Page

สติปัฏฐาน หรือที่ตั้งแห่งการเจริญสติ คือหัวใจของวิปัสสนา แยกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือผู้เพ่ง 
อีกส่วนหนึ่งคือตัวถูกเพ่ง ตัวถูกเพ่งก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔

กายานุปัสสนา คือ รูปขันธ์ เป็น รูปธรรม
เวทนานุปัสสนา คือ เวทนาขันธ์ เป็น นามธรรม
จิตตานุปัสสนา คือ วิญญาณขันธ์ เป็น นามธรรม

สติปัฏฐาน ๔ ก็คือรูป-นามนั่นเอง การที่จะใช้รูปนามอะไรก็ได้มาเป็นฐานของการเจริญสติ ก็ถือว่าอยู่ในข่ายของสติปัฏฐานสี่ทั้งนั้น
สติปัฏฐานสี่แต่ละส่วนก็แยกออกเป็นหลายๆ บรรพ เฉพาะธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มี ๕ บรรพ คือ

นิวรณ์บรรพ
ขันธบรรพ
อายตนะบรรพ
โพชฌงค์บรรพ
อริยสัจบรรพ

จะพิจารณาบรรพไหนยังไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่า พิจารณาเพื่ออะไร บางทีพิจารณาไปพิจารณามา
ก็ไปหลงติดอยู่กับฐานที่พิจารณา ได้แค่ความสงบชั่วครู่ ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะไปกดมันไว้
จนลืมเป้าหมายของการปฏิบัติเพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฎฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ สติปัฎฐานทั้งสี่
อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ทั้งเจ็ดอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมทำให้วิชชาและวิมุติ ให้ สมบูรณ์ ……

ได้ยก อานาปานสติสูตร ส่วนซึ่งเป็นหลักการขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า สมถะและวิปัสสนามีความเกี่ยวเนื่องและเป็นไวพจน์
ซึ่งกันและกันอานาปานสติเป็นหนึ่งใน 40 กองสมถะกัมมัฎฐาน ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่วิปัสสนากัมมัฎฐานได้

พระเดชพระคุณ พระอาจารย์ ชา สุภัทโท เคยแสดง
“การปฏิบัติที่ให้ผลเร็ว’’“สมถะวิปัสสนา”ในการทำกรรมฐานนั้นมีอารมณ์อยู่ 2 อย่าง
1.ที่เรียกว่าให้เรามีความสงบ
2.เรียกว่าให้เราเกิดปัญญาแล้วก็สงบทีหลัง

อารมณ์ที่ให้เรามีความสงบนั้นไม่ยากอะไรหรอก เหมือนเด็กๆมันไม่นอน เราก็ไปจับกระเช้า
แกว่งไปมาเรื่อยๆเดียวมันก็หลับ อารมณ์อันนั้นเรียกว่าสมถะกรรมฐาน มีหลายอย่าง
บางคนไปจับเอาอานาปานสติบ้าง พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง สารพัดอย่าง
ต้องหาความสงบนี้เป็นเบื้องแรก แต่ความสงบอันนี้ มันยิ่งมีอะไรเจือปนอยู่ สงบเพราะว่าของ
มันมีอยู่เราไม่รู้จักมัน มันก็สงบ เช่นว่า ผ้าเช็ดเท้าที่ผมเหยียบอยู่
เดียวนี้มันมีงูตัวหนึ่งอาศัยอยู่ตรงนี้ นี้คือ สมถะทำให้จิตสงบ

กิเลสมีอยู่ก็ช่างมัน เวลานี้อันสงบ ที่เรียกว่าสงบจิต ไม่ใช้สงบกิเลส พูดตามภาษาอันนี้
เรียกว่าสมถะ การฝึกทำจิตให้สงบ แต่มันเป็นไวพจน์ ซึ่งกันและกัน เพื่อจะทำให้กิเลสสงบต่อไป

เรื่องทำกิเลสให้สงบต่อไปนั้นเป็นเรื่องของ “ปัญญา”เรื่องของปัญญานี้ก็มี
เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น ต้องเจริญอันนี้มากๆ ไม่เกิดเดี๋ยวนั้น
ต่อไปมันก็เกิด ถ้าเจริญไม่หยุด ปัญญามันจะเกิดไม่หยุดต่อไป

เรื่องทำให้จิตสงบเมื่อให้กิเลสสงบนั้น ที่ผมว่าอารมณ์ของวิปัสสนา คือ เรื่องอะไรบ้าง
คือเรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตา 3 อย่างนี้เท่านั้นแหละ มันเป็นเหตุ
ให้ปัญญาเราเกิด เราจะถูกอารมณ์ดีใจที่สุดก็ตาม เสียใจที่สุดก็ตาม รักที่สุดก็ช่างเถอะ (หลวงพ่อชา)

อย่าลืมขบปัญหานี้ให้แตกหากอุปมาว่า กิเลส เหมือนกับงู อย่างที่พระอาจารย์ชา
ยกขึ้นมาเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ให้ตระหนัก”เราท่านล้วนอยู่กับงู”

การปฏิบัติไม่ว่า สมถะกรรมฐาน ไม่ว่าวิปัสสนากรรมฐาน แท้จริงแล้วเป้าหมายก็เพื่อกำจัดงู
สมถะอย่างเดียวไม่ถึงที่สุด “งูก็ยังอยู่” (ผู้นำเสนอคำสอนหลวงพ่อชา)

อานาปานสติ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฎฐานทั้งสี่ ให้ บริบูรณ์หมายถึง
ฐานกาย ฐานเวทนา ฐานจิต ฐานธรรม บูรณาการ รวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกคตารมณ์
ไม่มีผู้เพ่งและสิ่งที่ถูกเพ่ง ไม่มีผู้ตามดู ไม่มีผู้ตามรู้ ไม่มีอะไรให้เห็นไม่มีอะไรให้รู้
รู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความรู้สึกอย่างเดียวเท่านั้นคือ “สักแต่ว่ารู้”

ขั้นตอนแยกฐานพิจารณาทีละขั้น ทีละสเต็บ เป็นอุบายวิธีระดับสมถะกรรมฐาน เพื่อฝึกสมาธิ
เพื่อเจริญสติ เป็นบาทฐานเบื้องต้น เมื่อพัฒนาจิตต่อไปสู่ระดับวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เข้าถึง
“ปัญญา” ปัญญาต้องเกิดขึ้น จากการเห็นแจ้งของจิต ไม่ได้เกิดขึ้นจากการนึกคิด จึงต้องปล่อยวาง
สรีระกายเข้าไปสู่ทิพย์กาย (จิตในจิต)เข้าไปขัดเกลาจิตให้ผ่องใสพัฒนาไปสู่ธรรมชาติเดิมของจิต
คือ ธรรมกาย จึงหมดกิจในการเวียนว่ายตายเกิด ขั้นตอนขัดเกลาจิตให้ผ่องใส (จิตในจิต)
บูรณาการ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นหนึ่งเดียวลื่นไหลไปตาม ธรรมชาติ ธรรมารมณ์ของจิต
มีสติรู้เท่าทัน อารมณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น สักแต่ว่ารู้ เป็นขั้นตอน เจริญมรรค ทุกอย่างเกิดขึ้น
ตามธรรมชาติของจิต ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีการกำหนด สักแต่ว่ารู้ ดำเนินไปเรื่อยๆ โพชฌงค์ทั้งเจ็ด
เริ่มแสดงตัว พัฒนาโดยดำเนินมรรคไปเรื่อยๆ โพชฌงค์ทั้งเจ็ดก็บริบูรณ์ โพชฌงค์คือผลของการเจริญมรรค
ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ของจิตเดิมเมื่อผลเกิดขึ้นเต็มเปี่ยม ผลสูงสุดคือวิชชาและวิมุติก็สมบูรณ์

วิชชา จึงมิใช่ความรู้ซึ่งเกิดจากการ เรียนรู้โดยการอ่าน การได้ยิน ได้ฟัง หรือได้เห็นโดยตาเนื้อ
แต่วิชชา ต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการประพฤติ ปฏิบัติโดยการเจริญอานาปานสติ
เจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 เจริญโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุติจึงเกิดขึ้น

อานาปานสติ คือการเจริญอนุสติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุบายในการเจริญอนุสติ 10 หรือเป็นส่วนหนึ่ง
ของอุบายในการเจริญกรรมฐาน คือกรรมฐานทั้ง 40 กอง เป็นการเจริญสติเล็ก อยู่ในส่วนของ
สมถะกรรมฐาน ซึ่งเป็นบาทฐานเบื้องต้น เพื่อมุ่งสู่การเจริญวิปัสสนา

สติปัฏฐาน 4 คือเครื่องมือในการเจริญเข้าสู่การเจริญ มรรค กาย เวทนา จิต ธรรม
ฐานทั้ง 4 คือที่ตั้งแห่งการดำเนินมรรค โดยใช้สติพิจารณา กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต
ธรรมในธรรม ขั้นตอนนี้ต้อง ใช้ สติพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม มิใช่ขั้นตอนของการเจริญสติ
ซึ่งอยู่ในระดับสมถะกรรมฐาน เหมือนนักมวยช่วงกำลังฝึกซ้อมชก หรือเตะกระสอบทรายเพื่อให้เกิดสมาธิ
เกิดสติมากขึ้น เพิ่มอินทรีย์พละของสมาธิและสติ เกิดปัญญาขึ้นระดับหนึ่ง ส่วนวิปัสสนากรรมฐานต้องพัฒนา
ไปสู่การเห็นแจ้งจึงต้อง ใช้ สติ รู้เท่าทันสิ่งที่จะมากระทบ เหมือนนักมวยเมื่อต้องขึ้นเวทีชกกับคู่ต่อสู้จริง
ซึ่งสามารถทำร้ายเราได้ ไม่เหมือนกระสอบทรายซึ่งเป็นเป้านิ่งชกเราคืนไม่ได้ ส่วนคู่ชกของเรานั้นเหมือน
เป้าบินเพราะเขาเคลื่อนไหวได้ สามารถชกและเตะเราได้ด้วย เป้านิ่งถ้ายิงไม่ถูกก็ยิงใหม่ได้
และมีเวลาตั้งสมาธิที่จะทำการยิงสวนเป้าบินนั้น เราไม่มีเวลาตั้งสมาธิ ตั้งสติ แต่ต้อง ใช้ สมาธิ ใช้ สติ
ที่มีอยู่แล้วอย่างฉับพลัน มิฉะนั้นเป้าก็จะตกก่อน พร้อมกันนั้น ยังต้องใช้ปัญญาหรือประการณ์ที่ฝึกฝนมาใช้ในการยิงด้วย

สมาธิ สติ ศีล ปัญญา ส่วนหนึ่งก็มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ (โพชฌงค์) บวกกับการฝึกฝนพัฒนาเพิ่มเติม
ขึ้นใหม่ในชาติปัจจุบันทำให้เกิดอินทรีย์ พละ ที่จะเข้าไปสู่กระแสมรรค (มรรคจิต) ซึ่งก็มีครูบาอาจารย์ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

จิตส่งออกคือสมุทัย
ผลของการส่งออกคือทุกข์
จิตเห็นจิต คือมรรค
ผลของจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งคือนิโรธ

สติปัฏฐานทั้ง 4 จึงเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่จิต (จิตในจิต) เพื่อขับเคลื่อนในการเจริญมรรค
(มรรค ผล นิพพาน) ไม่ใช้ขั้นตอนในการเจริญสติเท่านั้น เมื่อสติปัฏฐานทั้ง 4
เจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ฐานทั้ง 4 บริบูรณ์ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
รวมเป็นหนึ่งในขณะจิตเดียว มหาสติก็เกิดขึ้น (สติใหญ่) สามารถระลึกรู้อดีตกรรมได้
ก็สามารถเข้าถึงขั้นตอนขัดเกลาจิตให้ผ่องใส และได้เรียนรู้จากปัญญาซึ่งเป็นประสบการณ์ตรง
ซึ่งผ่านมาแล้วหลายภพหลายชาติ ซึ่งเป็นปัญญาที่แท้จริง เป็นปัญญาซึ่ง เกิดจากการเห็นแจ้งของจิต
มิใช่เกิดจากการนึกคิด หรือไปฟังไปเชื่อจากบุคคลอื่นที่บอกให้รู้ ซึ่งเป็นแค่ความจำ ไม่ใช้ความจริง
ทำให้เกิดอุปาทานขึ้นมาใหม่จากความจำ(สัญญา) ทำให้จมปลักและแช่ อยู่กับความจำซึ่งกลายเป็นสัญญาใหม่
โดยหลงว่าเป็นความรู้แจ้ง เป็นลักษณะที่เรียกว่า วิปัสสนึก คือนึกเอาเองว่าทุกอย่างเป็นสุญญตา
นิโรธมีอยู่แล้ว ความว่างมีอยู่แล้ว สติ สมาธิ ปัญญา มีอยู่แล้ว ซึ่งเอาอารมณ์ของปฏิเวชมาพูด แล้วก็มาฟัง มาจำ
กลายเป็นการสร้างอุปาทานใหม่ขึ้นมากลบเกลื่อนอุปาทานเดิม แล้วทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัสกับความว่าง
ซึ่งเป็นความว่างที่เกิดจากการกลบเกลื่อนอุปาทานเก่า และปล่อยวางความคิดชั่วคราว
เหมือนเป็นการคิดบวกเพื่อมากลบเกลื่อน การคิดลบเท่านั้นเอง ถ้าประคองได้ทุกขณะจิตไปเรื่อยๆ
ก็จะมีความรู้สึกสุขสบายไม่ทุกข์ แต่ก็ยังไม่พ้นทุกข์ เป็นแค่วิปัสสนึก มิใช่วิปัสสนาที่แท้จริงเพราะอารมณ์แค่นี้
ลิงก็ทำได้ ทาซานก็ทำได้ ถ้าพอใจแค่นี้ก็น่าเสียดาย หนึ่งชีวิตที่ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ

สรีระกาย ทิพยกาย ธรรมกาย ฐานกาย ฐานเวทนา ยังอยู่ในสรีระกายเมื่อปล่อยวาง
สรีระกายเข้าไปสู่ทิพยกายได้แล้วก็มีโอกาสได้ขัดเกลาจิตให้ผ่องใส ขาวรอบเนื่องจาก ได้ขัดเกลาเอาสิ่งปฎิกูลซึ่งห่อหุ้มจิตเดิมแท้
อันเป็นประภัสสร ทำให้เกิดความมัวมองจนมองไม่เห็นความจริง ได้มีโอกาสเกิดประภัสสรและเข้าสู่สภาวะเดิมคือ ธรรมกาย
ส่วนขบวนการซึ่งกำลังขัดเกลาอยู่ (มรรค) ก็ต้องประสบกับอุปสรรคนานาประการตามกระแสกรรมที่เคยสร้างมา ไม่ใช่ไป
สร้างหนี้กรรมไว้แล้วก็ไปคิดเอาเองว่าความประภัสสร มีอยู่แล้ว ว่างอยู่แล้ว นิโรธมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไร ไปโง่ทำให้ตัวเอง
ทุกข์ทำไม ไปแช่ไปจมอยู่กับอดีตทำไม (อดีตเป็นบทเรียนทำให้เห็นอนาคต) ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมไม่ใช่ไปติดอดีต แต่ไปเรียน
รู้อดีตเพื่อให้จิตไปเห็นเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องเวียนว่ายตายเกิด บางครั้งก็ใช้เวลาเรียนรู้ โปรแกรมในอดีต ใช้เวลาช้า-เร็ว
ก็ขึ้นอยู่กับโปรแกรมในอดีตว่าไปยึดมั่นถือมั่นมากน้อยแล้วแต่กรณี จิตปัจจุบันถ้ามีสติปัญญาที่เพียงพอก็สามารถผ่านไปได้
อย่างรวดเร็ว แต่ช้าหรือเร็วก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไรเพราะหมดอารมณ์นี้อารมณ์ใหม่ก็เกิดขึ้นอีก ให้ใช้สมาธิ สติ ปัญญา
รู้เท่าทันอารมณ์ (ธรรมในธรรม) ต่างๆที่เกิดขึ้นคือครูของจิตปัจจุบัน สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น แล้วก็เหวี่ยงทึ้ง ไม่ใช่เหวี่ยง
อารมณ์เหล่านั้นทึ้ง ไม่ใช่เหวี่ยงขันธ์ 5 ทึ้ง แต่เหวี่ยงความยึดมั่นถือมั่นที่จะไปหลงติดกับอารมณ์นั้นทึ้ง ไม่ใช่ไปติดไปแช่ไปจม
อยู่กับอารมณ์นั้น แต่เข้าไปเรียนรู้กับอารมณ์นั้นๆ ซึ่งจิตเดิมไปหลงยึดติดอยู่เพียงแค่สำรวมระวังอย่าให้จิตปัจจุบันไปหลงยึดด้วย
แต่ไม่ใช่กลัวว่าจะไปยึดติดจนไม่กล้าที่จะตรวจสอบอินทรีย์ พละ ของจิตปัจจุบันว่ามีปัญญาแค่ไหน จะผ่านอารมณ์นั้นๆได้หรือไม่
ถ้าจิตปัจจุบันมีกิเลสมีจริตที่ชอบอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยก็เผลอไปยึดติดอยู่ชั่วขณะ แต่ถ้าดำเนินเจริญมรรคไปเรื่อยๆก็ผ่านอารมณ์นั้นไปได้
(เป็นหนี้จ่ายหนี้ก็หมดหนี้ไม่ใช่หนีหนี้) อดีตกรรมที่ได้สร้างมาก็เนื่องจากจิตไม่รู้เท่าทันอารมณ์ ก็เผลอไปทำตามอารมณ์นั้นๆ
เมื่อโกรธก็โกรธตามไปเลย แต่ถ้าจิตปัจจุบันคอยเข้าไปดูอารมณ์ในอดีตอย่างมีสติ จิตปัจจุบันก็จะเห็นอารมณ์ในอดีตเวลาโกรธ
อย่างชัดเจน และเห็นผลของความโกรธว่าเป็นทุกข์. ทำให้จิตปัจจุบันเกิดปัญญา ปัญญาจึงต้องเกิดจากการเห็นแจ้งของจิต
ที่จิตเข้าไปสัมผัสอารมณ์นั้นจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากการนึกคิดหรือแค่ไปเพ่งดูแล้วสร้างจินตนาการขึ้นมาเอง ใครๆก็รู้ว่าทุกอย่าง
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สมองรู้แต่จิตไม่รู้ก็ยังวางไม่ลงเหมือนเดิม การเข้าไปสู่จิตในจิตจึงเป็นเรื่องจำเป็น