080-5519598 (คุณแก้ว) plarnkhoi@hotmail.com
Select Page

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติเมื่อจิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่งแล้ว(ดวงตาเห็นธรรม)

เมื่อนักปฏิบัติดำเนินการปฏิบัติมาจนถึงวงกลมที่ 4 คือ วงกลมสัมพันธ์ระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน
และทำการหมุนแล้วปล่อยความรู้สึกในการหมุน มีจิตพุ่งออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น บางคนออกทางสมอง
ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ฯลฯ เมื่อจิตหลุดออกมาพ้นจากสภาวะปรุงแต่งจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์
แล้วก็จะเข้าสู่สภาวะเดิมของจิต คือ โล่งโปร่ง หรือเข้าถึงธรรม เมื่อเรามาสู่ที่นี่ใหม่ๆ บางครั้งจะพบแสงสว่าง
ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน (ธรรมจักษุ) ซึ่งแสงสว่างนี้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาหรือรู้ด้วยใจ เป็นแสงสว่างที่เกิดขึ้น
ตามธรรมชาติของจิต ซึ่งเราปิดตาแล้วแสงสว่างยังทะลุเปลือก ตาไม่มีความแตกต่าง ในการเห็นระหว่างข้างในและข้างนอก
สว่างไปทั่วสากลจักรวาล ซึ่งผู้ปฏิบัติจะรู้เห็นได้เฉพาะตน เมื่อเข้าเจอแสงสว่างนี้ใหม่ๆ ตาของเขาเหมือนจะเปิด
แต่ไม่เปิดขยิบตั้งหลายครั้ง ซึ่งลักษณะนี้จะไปทำลายสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ความสงสัย เรื่องต่างๆ ที่เราเคยสงสัยมาก่อนจะหมดไป

2. ความเห็นเกี่ยวกับสมมุติและบัญญัติของโลก และการปฏิบัติเกี่ยวกับสมมุติและบัญญัตินั้นว่าเราควรปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร เช่น การทาน การรักษาศีล
การทำสมาธิ การไหว้พระ สวดมนต์อื่นๆ เพื่อจะไม่ไปทำลายสมมุติและบัญญัติในตัวเราเอง หรือให้ผู้อื่นเดือดร้อน

3. ความเห็นเกี่ยวกับตัวตน ร่างกาย จิตใจ รูปธรรม นามธรรม ทั้งหลายว่า เป็นสิ่งที่มาจากเหตุและปัจจัยต่อเนื่องกัน ไม่มีตัวตนถาวรที่ไหน เมื่อปัจจัยส่งมาหาเหตุ
เมื่อมีเหตุเกิด ผลก็เกิด เมื่อเหตุดับ ผลก็ดับ เช่น ความรู้สึกทางตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเหตุปัจจัย แสง เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ ส่งเข้ามากระทบกัน เมื่อตาไม่บอดหูไม่หนวก แสดงว่าเหตุยังไม่ดับ ย่อมส่งผลต่อเนื่องกันเป็นสายวนไปวนมา ไม่มีตัวตนถาวรที่ไหน คนที่หลุดพ้นสภาวะปรุงแต่งแล้ว จะเห็นเกี่ยวกับตัวตนนี้ชัดมากไม่เหมือนการเจริญสติ เพราะการเห็นแบบนี้สภาวะของขันธ์ถูกตัดขาดจากการปรุงแต่งแล้ว

ระยะแสงสว่างนี้กำลังทำลายสิ่ง 3 สิ่ง ที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นอยู่นั้นผู้ปฏิบัติจะมีแสงสว่าง ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวเองตลอดเวลา
บางคนอาจมีแสงสว่างนานถึง 7 วัน หรือบางคนก็นานประมาณ 1-2 วัน แล้วแต่บุคคลนั้นจะหมดความสงสัยเรื่องทั้ง 3
และยอมรับตนเองว่าได้เข้ามาถึงธรรมแล้ว แสงสว่างนี้ถึงจะหมดไป ถ้าไม่ยอมรับหรือสงสัยอยู่แสงสว่างนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ระหว่างที่แสงสว่างนี้เกิดขึ้น บุคคลผู้นั้นจะนอนไม่หลับ แต่ไม่รู้สึกเพลีย ระยะนี้ก็อย่ากดข่มให้นอนหลับ
เพราะจะทำให้ไม่หายสงสัย เมื่อนอนไม่หลับให้นำความคิดความสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ
สวรรค์ นรก นิพพาน ความดี ความชั่ว หรืออื่นๆเข้าไปละลายในแสงสว่างนั้น ทุกสิ่งที่เราข้องติดไม่หายสงสัย
ให้นำมาละลายในแสงนี้ให้หมด เมื่อหมดแล้วการหลับก็จะเกิดขึ้นมาของมันเอง

การมองเห็นทางเดิน (ดวงตาเห็นธรรม) เมื่อสภาวะคืนเป็นปกติแล้ว สภาพตัวของเราก็เหมือนคนปกติสามัญทั่วไป
แต่เราเริ่มมองเห็นทางเดินของชีวิตของเราว่าจะเดินไปในแนวไหน ซึ่งแต่ก่อนนั้นเราไม่รู้จะหันเหชีวิตของเราไปทางไหน
ไม่รู้แนวทางเดินของชีวิตที่แน่นอน แต่เดี๋ยวนี้เรามองเห็นแล้วว่าไม่มีทางอื่นที่ยิ่งกว่าเส้นทางที่เราได้ใหม่
ซึ่งจากสภาวะก่อนเคยคลุมเครือสงสัย เปลี่ยนเป็นสภาวะที่โล่งโปร่งปราศจากการกังวลใดๆ
มีชีวิตอิสระต่อเครื่องข้องทั้งหลาย (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์)

การปฏิบัติการเดินทาง เมื่อเราได้ทางเดินใหม่ๆ สิ่งที่เราได้กระทบจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีปฏิกิริยาต่อเราบ้าง
คือ เก็บไว้เป็นอารมณ์หรือชัง (กิเลส) อารมณ์อันนี้แหละจะไปขัดขวางทางเดินของเรา ไม่ให้เป็นอิสระโล่งโปร่ง
เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่กีดขวางเกิดขึ้นอีก เราจึงต้องมีสติต่อการรู้ การเห็น การคิด การนึก การกิน การนอน การทำงาน การพูด การเดิน ฯลฯ
สติอันนี้คือ การไม่ไปสุดโต่งส่วน 2 ส่วน คือ ผู้ทำกับสิ่งที่ถูกกระทำ ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ผู้คิดกับสิ่งที่ถูกคิด ผู้นึกกับสิ่งที่ถูกนึก
ผู้พูดกับคนที่รับฟัง ผู้กินกับสิ่งที่ถูกกิน ฯลฯ เมื่อเราทำได้สภาวะทางเดินของเราก็เปิดโล่งอยู่เสมอ การกิน การเดิน การนั่ง การนอน ฯลฯ
ที่เราไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลก ก็เป็นเพียงแต่กิริยาอาการเท่านั้น สภาวะโล่งโปร่งก็เกิดขึ้นแก่เราได้ทุกเมื่อ

การทำลายสิ่งที่กีดขวาง อารมณ์รักและชัง (กิเลส) ที่ฝังเป็นรากลึกอยู่ในหัวใจ ผู้ที่กำลังเดินทางอยู่จะเห็นว่า
มีสิ่งกีดขวางทางเดินของเรามากมี 7 อย่าง คือ
(1) ความติดใจใจกาม (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)
(2) ความขัดเคืองใจ (ความข้องติดในอารมณ์ที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย)
(3) ความยินดีในรูปของการคิด
(4) ความยินดีในรูปของการนึก
(5) ความฟุ้งซ่านของใจ
(6) ความพอกพูนตัวตนของใจ
(7) ความไม่รู้เท่าทันของจิตในอารมณ์ทั้งหลาย

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า เป็นศัตรูที่คอยกีดขวางทางเดินของเรามาก เพราะสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เขามีมาก่อน
แล้วก่อนที่เราจะได้พบหนทาง เราจึงจำเป็นต้องรื้อถอนทิ้งเหมือนดึงไม้ที่ขวางทางเดินของเราออก คือ มีสติรื้อถอนสิ่งเหล่านี้ออกไป
โดยตั้งแนวทางลงบนสิ่งเหล่านี้ ไม่สุดโต่งไปข้างรักหรือชัง ให้อยู่ในสภาวะนี้ไปสักระยะหนึ่ง สิ่งกีดขวางเหล่านี้ก็จะหมดไป
เป็นความโล่งโปร่ง ตัวอย่างเช่น เรามีความต้องการทางกาม ให้นำทางเดินที่เราได้ให้ไปอยู่กึ่งกลาง ระหว่างวัสดุกาม
กับความรู้สึกทางกาม (ใจ) เมื่อเราทำดังนี้ไปสักระยะหนึ่งโดยไม่ให้ไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง ความรู้สึกทางกามก็จะถูกทำลายทั้ง 2 ข้าง
คือ ผู้ทำและผู้ถูกกระทำ จะถูกทำลายลงด้วย ขึ้นชื่อว่า กิเลสโดนประหารแล้ว ในทำนองเดียวกัน ความขัดเคืองใจ ความยินดีใน
รูป-อรูป ฯลฯ ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ทำในทำนองเดียวกัน คือ ใจเป็นที่สุดโต่งด้านใน สิ่งที่ยึดติดเป็นความสุดโต่งด้านนอก
ให้ทางเดินที่เราเคยได้อยู่กลาง อยู่ลักษณะนี้สักระยะหนึ่ง กิเลสทั้งด้านนอก และด้านในจะถูกประหารพร้อมกัน
ขอให้เราอยู่กึ่งกลางทางสายกลางให้มั่น อย่าไปสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง กิเลสต้องถูกทำลายอย่างแน่นอน

ก่อนสุดของการเดินทาง เมื่อเจริญสติตามทางสายกลางโดยไม่ไปข้องติดข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อทำชำนาญเข้าบุคคลนั้นจะเข้าถึง
การมีสติเว้นรอบ คือ ปรากฏการณ์ ทุกชนิดที่เกิดขึ้นทางอายตนะทั้ง 6 เขาจะไม่ไปข้องติด จะทำให้บุคคลผู้นั้นขึ้นไปเหนือ
ปรากฏการณ์ต่างๆ โดยธรรมชาติของมันเอง ขึ้นไปเหนือสมมุติและบัญญัติ สภาวะเช่นนี้ ความนึก ความคิด จะถูกตัดทิ้งไป
จะมีความรู้เกิดขึ้นโดยไม่ต้องนึกคิดเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยไม่มีผู้คิดและสิ่งที่ถูกคิด และไม่มีผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ความรู้ที่ผ่าน
ออกมาจะไม่ผ่านใจและสมอง หรือสัญญา กับเวทนา ซึ่งสภาวะนี้ผู้ปฏิบัติจะทัศนะรู้เห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามที่เป็นจริง เมื่อต้องการรู้
เรื่องใดจะมีแรงสันตติ สืบต่อเนื่องเรื่องนั้น เป็นสายๆ เช่น ต้องการรู้เรื่องอดีต อนาคต ของกายว่า เป็นมาอย่างไร
จะไปสิ้นสุดเมื่อไร แรงสืบต่อนี้จะสาวไปหาอดีต และสาวไปหาอนาคตเอง โดยไม่ต้องใช้ความนึกคิด และความรู้ที่ได้ก็เป็นจริง
ตามระยะแรงสันตติได้ดำเนินต่อไป และระยะยาวนานเท่าใด ไม่เพียงแต่การรู้เรื่องทางกายอย่างเดียว
เราอาจรู้เรื่องอื่นๆ เช่น แรงสืบต่อของจิต แรงสืบต่อของวัตถุ ฯลฯ โดยไม่รู้จบสิ้น

ที่สิ้นสุดของการเดินทาง เมื่อผู้ปฏิบัติทัศนะจนพอรู้เรื่องว่าอะไรหมดแล้ว จะมองเห็นว่า เป็นเรื่องไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ซึ่งวนไปวนมาไม่รู้ต้นรู้ปลาย จึงเห็นว่าเป็นธรรมดาของสิ่งทุกสิ่ง จึงละคลายความเห็นต่างๆเสีย
จึงมองเห็นว่า เพราะมีแรงสืบต่อสันตตินี้สืบต่อให้สิ่งต่างๆ ต่อเนื่องกันเป็นสายๆ
แรงอันนี้เกิดจากเพราะมีเหตุและปัจจัยหนุนต่อเนื่องกันดังนี้ ผู้ปฏิบัติจึงละแรงอันนี้เสีย
ปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติของเหตุและปัจจัย ที่ส่งผลต่อเนื่องอยู่
บุคคลผู้นั้นก็จะถึงที่สุดของการเดินทางถึงความหลุดพ้นได้โดยสมบูรณ์

1. สภาวะจิตที่หลุดออกไปจากการปรุงแต่งแล้ว ไม่ต้องเที่ยวค้นหาอีก เพราะมันไม่มีแล้ว ถ้ามัวค้นหาก็จะพบแต่ความโปร่ง ความโล่ง ไม่มีอะไร

2. ถ้าเกิดความสงสัยว่า มันหายไปไหน ให้นำเอาความสงสัยนี้ไปสู่แสงสว่างที่เกิดขึ้น แสงสว่างนี้จะทำลายความสงสัยเรื่องนี้ทั้งหมด

3. สภาวะโปร่งโล่งและมีแสงสว่างนี้จะเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติทุกคน หลังจากที่จิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่งไปแล้ว

4. คำว่าเข้าถึงธรรม เข้าสู่กระแส เห็นฝั่ง เห็นธรรม มรรคทางเดิน ตถะตา นิพพาน คือ สภาวะเดียวกัน และสิ่งเหล่านี้มีประจำตัวของสัตว์ทุกชนิด
แล้วแต่สัตว์เหล่านั้นจะมีความหลงปรุงตัวเองให้ผิดแปลกไป มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถรู้ความจริงของคำกล่าวมาแล้วข้างต้น
ถ้าคนไหนไม่เข้าใจก็จะหาสิ่งเหล่านั้นนอกตัวแต่ที่แท้จริงแล้วมีอยู่ที่ตัวของเขาเอง เป็นเพียงแต่โมหะครอบงำเท่านั้น

5. เนื่องจากผู้ที่มีจิตหลุดจากสภาวะปรุงแต่งแล้ว จะทำให้กิเลสหมดไป แค่ 3 อย่างเท่านั้น คือ 1) ความสงสัย 2) ความยึดติดในสมมุติ
3) ความยึดถือในเรื่องมีตัวตน เปรียบเสมือนการเดินทางเดินมาแค่ 1/3 ของการเดินทางนั้นๆ เราควรเดินต่อไปอย่าประมาท
และอวดความรู้ของตนเองที่ได้ เพราะยังมีกิเลสที่นอนเนื่องในสันดานของเราถึง 7 อย่าง

6. ควรดำเนินทางเพื่อไปประหารกิเลสอีก 7 อย่าง คือความติดใจในกาม ความขัดเคืองใจ ความยินดีในรูปความคิด
ความยินดีในรูปความนึก ความฟุ้งซ่านใจ ความพอกพูนตัวตนของใจ ความรู้ไม่เท่าทันของจิตในอารมณ์ทั้งหลาย
เมื่อประหารกิเลส 7 อย่างนี้แล้ว เราถึงจะหลุดพ้น โดยสมบูรณ์ การประหารกิเลสให้ดู การปฏิบัติในการเดินทาง
และการทำลายสิ่งกีดขวางในการเดินทาง ดังที่กล่าวมาแล้ว

7. ผู้มีจิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่งแล้ว ถ้าไม่ดำเนินทางเพิ่ม เมื่อไประคนต่ออารมณ์กิเลส ไม่รู้จักประหาร
จะทำให้สภาวะที่เคยโปร่งโล่งหมดไป เป็นสภาพที่มืดๆ ตื้อๆ นั่งสมาธิเหมือนมีของหนักๆ ทับ สภาวะเช่นนี้ผู้นั้น
จะสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ สภาวะโล่งโปร่งหายไปไหน จะพยายามหาอีก และอาจเหมาไปว่าสิ่งที่ตนได้เรียน
มาแล้วนั้นเป็นของปลอม ต้องหาเอาอีก เดี๋ยวหาย เดี๋ยวเกิด อันนี้เป็นเพราะตนเอง เดินทางไม่เป็น หรือไม่ชำนาญ
จะต้องมีสติตั้งแต่เจอผัสสะตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ไปสุดโต่ง 2 ส่วน ทางถึงจะเปิดโล่ง ถ้าสุดโต่งแล้วจะมาแก้ทีหลัง
เท่ากับปล่อยให้คนพาลเอาโคลนมาทิ้งบ้านเรา แล้วค่อยนำเอาโคลนนั้นไปทิ้งทีหลัง บุคคลผู้ฉลาดควรห้ามคนพาล ระวังไม่ให้เขา
เอาโคลนมาทิ้ง เสียแต่แรกๆ ดีไม่ดีถ้าไม่ขยันเอาโคลนออกบ้านนั้นอาจจมลงไปในโคลนก็ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาท

8. ผู้มีจิตหลุดพ้นจากสภาวะปรุงแต่งใหม่ๆ ควรอยู่ใกล้อาจารย์เพราะท่านจะแนะแนวการเดินทาง เมื่อไประคนกับกิเลสก็จะแก้ไขได้
ถ้าไปคลำหาเองก็ได้แต่เป็นการเนิ่นช้ากว่าจะรู้เรื่องแต่ละเรื่อง หรือบางทียอมแพ้กิเลสเอาง่ายๆ

9. สภาวะโล่งโปร่ง ถ้าเรายึดติดเพื่อจะเอาตัวของเราไปอยู่สภาวะนั้น จะเป็นสภาวะที่นิ่ง ในเมื่อเราดำเนินทางไม่ได้เป็นปกติจะเกิดกระแสภวังค์
ทำให้เกิดมีอาการ เหมือนง่วง ถูกอะไรมากระชากเราไป เป็นเช่นนี้เพราะกิเลสที่นอนเนื่องคลายออกมา ทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกกระชาก
จะเป็นไปอีกนานถ้ามีกิเลสนอนเนื่องมากถ้ามีน้อยก็เกิดอาการน้อย

10. เมื่อเรารู้ว่า ตัวเราไม่โล่งโปร่ง หนักที่ใดที่หนึ่ง แสดงว่าเราไปยึดติดในกิเลสแล้วมันเข้ามานอนเนื่องในตัวของเราแล้ว
ควรกำหนดจากคลายไป คืออาการไหว ที่จิตกระเพื่อมไปกากิเลสนั้น และอาการนิ่งจิตไปกระทบกิเลสนั้น และสภาวะหลุดโปร่งในเมื่อถอน
ออกจากกิเลสแต่ละครั้งนั้น สภาวะโล่งโปร่งก็จะคืนสู่สภาพเดิม การกำหนดเท่ากับเวลาของโลก 1 วินาที

11. การที่จะได้ญาณทัศนะนั้นๆ บุคคลต้องเจริญทางให้มากและสมบูรณ์ก่อน ถึงจะได้ จะไปปรารถนาเอาโดยไม่เจริญทางแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้

12. ข้อควรระวังที่สุดคือ อย่าพยายามเอาจิตที่หลุดแล้วบังคับให้ไปคบกับใจอีก เพราะจะทำให้ถูกมายาภาพของใจหลอกเอาอีก มารจะรบกวน
เราอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราไม่ละจิตออกจากใจแล้วอันตรายมาก นรก สวรรค์ ความดี ความชั่ว จะถูกปรุงเป็นนิมิตภาพให้เรา เห็นอีกหรือบางที่อาจ
มีอิทธิฤทธิ์เกิดขึ้น ควรละทิ้งให้หมด

13. สภาวะโล่งโปร่งที่เราได้อยู่แล้วนั้นมารมองไม่เห็น ผู้ที่อวดอ้างรู้เห็นจิตใจ ผู้อื่นด้วยอำนาจฌาณไม่สามารถมองเห็นจิตของเราได้
นี้แหละที่มารไปไม่ถึง

14. สภาวธรรมที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา รู้ด้วยใจ และไม่มีแสงสี สิ่งกำหนดหมายว่าเป็นสิ่งใดได้ ดังนั้น
ผู้ที่ถูกถามเกี่ยวกับความจริงเรื่องนี้ เราควรบอกเขาว่าเป็นของรู้ได้เฉพาะตน บอกให้ผู้อื่นไม่ได้ ไม่สามารถบรรยายเป็นภาษาพูดได้
ถึงบอกไปสัจธรรมจะเลอะเลือนไป ควรแนะนำผู้อื่นให้มาปฏิบัติ

15. การดำเนินทางเพื่อที่จะให้ทางเปิดโล่งควรดำเนิน ดังนี้
● ความเห็น ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้เห็น และสิ่งถูกเห็น
สภาวะทางก็เปิดโล่ง ความเห็นเป็นแค่กิริยาอาการของสิ่งนั้นเป็นกระบวนการเห็น ถ้าใส่เจตนาถึงจะเห็นเป็นเรื่องราว
ถ้าไม่ใส่เจตนาจะหมุนวนอยู่ข้างล่าง ความคิด ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้คิดกับสิ่งที่ถูกคิด สภาวะทางก็จะถูกเปิดโล่ง
● ความคิดเป็นเพียงแต่อาการของสัญญาในสมองเท่านั้น ถ้าใส่เจตนาความคิดจะเป็นเรื่องราว ถ้าไม่ใส่เจตนาจะหมุนอยู่ข้างล่าง
● การพูด ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้พูดกับสิ่งที่ถูกพูด สภาวะทางก็จะถูกเปิดโล่ง กระบวนการพูดเป็นเพียงแต่กิริยา
อาการของเสียง ถ้าใส่เจตนาก็จะหมุนวนอยู่ข้างล่าง
● การงาน ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ทำกับสิ่งที่ถูกกระทำ กระบวนการที่ทำงานเป็นเพียงแต่อาการกิริยา
เท่านั้น ถ้าใส่เจตนางานนั้นจะมีผลออกมาตามที่เราต้องการถ้าไม่ใส่เจตนาก็จะเป็นอาการของงาน ทำซ้ำไปซ้ำมา
● อาชีพ อาชีพนั้นไม่ไปทำลายสมมุติ และบัญญัติของผู้อื่นและตนเอง
● ความเพียร การไม่พยายามไปสุดโต่งในการกระทำต่างๆ
ตั้งจุดประสงค์ไว้แล้ว ดำเนินไปตามแนวทางจนบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ ไม่มีผู้รับและปฏิเสธจากการทำนั้นๆ
● ความระลึก ไม่มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ล่วงมาแล้วกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ความนึกก็จะหมุนเป็นเรื่องราวซ้ำไปซ้ำมา
● ความตั้งใจ การใช้ใจทำงานควรใช้เป็นบางครั้ง เมื่อหมดเหตุที่จะต้องทำแล้วก็ปล่อยให้ใจเป็นอิสระ อย่าเอาจิตยึดติดในอารมณ์ของใจนั้นๆ
เมื่อบุคคลดำเนินทาง 8อย่างนี้ในชีวิตประจำวันได้ ทางนั้นจะโล่งเตียนทุกวินาทีที่เกี่ยวข้องกับโลก ทางนี้จะเป็นทางสายกลางอยู่ตลอดเวลา
หมดกิจที่จะต้องทำเกี่ยวกับทางเดินถึงความหลุดพ้นโดยสมบูรณ์

16. หลังจากจิตหลุดพ้นแล้ว ดำเนินตามข้อ 15 ไม่ได้ ให้ดำรงสภาวะโล่งโปร่งไว้ตลอด สภาวะนี้จะไร้เจตนา เวลาระคนกับสิ่งอื่น อย่าใส่เจตนา ถ้าจำเป็นให้ใส่น้อยๆ
ถ้าทำดังนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำข้อ 15 ได้