080-5519598 (คุณแก้ว) plarnkhoi@hotmail.com
Select Page

กันยายน

อวิชชา นัยยะซึ่งแปลว่า “ความไม่รู้” ส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นตามหลักภาษา ซึ่งเป็นของคู่ เปรียบเทียบมาจากคำว่า “วิชชา” นัยยะซึ่งแปลว่า “ความรู้” อวิชชาเป็นคำตรงกันข้ามจากวิชชา จึงแปลความหมายว่า “ความไม่รู้” และความไม่รู้นั้นก็ถูกกำหนดว่าคือ “ความโง่” ทุกคนกลัวว่าจะเป็นคนโง่ เลยแข่งขันกันเรียนรู้กันใหญ่เลย คนสองคนเรียนจบปริญญาเอกจากสถาบันเดียวกัน ออกมาแปลไทยเป็นไทยไม่เหมือนกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไปอาศัยคนจบปริญญาตรีมาตัดสินถูกผิด คนสองคนนี้เรียกว่าคนมีความรู้เรื่องวิชาที่เรียน แต่ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาแม้กระทั่งจะคุยกันให้มันรู้เรื่อง จิตสำนึกลึกๆ รู้ว่าตัวเองผิด แต่ความรู้บอกว่ารับผิดไม่ได้ เพราะจะเสียเปรียบ คนมีปัญญาเท่านั้นถึงจะยอมแพ้คนเพื่อชนะกิเลส ดีกว่าแพ้กิเลสเพื่อชนะคน ที่ไม่มีปัญญาเพราะขาดสติ ที่ไม่มีสติเพราะไม่มีศีล ที่ไม่มีศีลเพราะไม่มีสมาธิ ที่ไม่มีสมาธิเพราะถูกครอบงำโดย โลภ โกรธ หลง หลงความรู้ของตนเอง ใช้ความรู้ของตนเองไปเบียดเบียนผู้อื่น เป็นการสร้างกรรมใหม่ วิชาการต่างๆ ที่เรียนรู้กันอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นแค่ความรู้มิใช่ปัญญา

ปัญญาเกิดขึ้นจากการรู้วิชชา คือ รู้อริยสัจ4, รู้ปฏิจจสมุปบาท, รู้กฎแห่งกรรม ฯลฯ รู้หนทางเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ หรือรู้ความจริงตามธรรมชาติ และสามารถปฏิบัติให้เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ

วิชชา จึงน่าจะหมายถึง ความรู้ทีถูกต้อง

อวิชชา จึงน่าจะหมายถึง ความรู้ผิด ไม่ใช่แปลว่าความไม่รู้ เพราะรู้ผิดจึงทำให้คิดสร้างกรรม ถ้าไม่รู้ก็ไม่คิดสร้างกรรม ส่วนความไม่รู้ความจริงน่าจะเรียกว่า ไม่มีวิชชา หรือไม่รู้วิชชา ไม่รู้ความจริงที่ทำให้พ้นทุกข์ได้

ตุลาคม

ภาษาบ่งบอกนิสัย : นิสัยเกิดขึ้นจากภาษา ภาษาโลก ภาษาธรรม เป็นสองภาษาซึ่งแตกต่างกัน ภาษาโลกเกิดขึ้นจากมนุษย์เราสมมุติขึ้น ภาษาไทยก็คนไทยสมมุติขึ้น ภาษาจีนก็คนจีนสมมุติขึ้น ภาษาฝรั่งก็คนฝรั่งสมมุติขึ้น ภาษาจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร พัฒนาการของมนุษย์ได้พัฒนาภาษา เพื่อการสื่อสาร มาเป็นเครื่องมือในการสร้างกฎเกณฑ์ กฎบัญญัติ กฎหมาย กฎกติกา กฎระเบียบ กฎทางวัฒนธรรมประเพณี และกฎของลัทธิ ศาสนาต่างๆ ภาษาจึงเป็นสมมุติสัจจะ ซึ่งหมายถึง ความจริงซึ่งเกิดขึ้นจากที่มนุษย์สมมุติขึ้น มิใช่ความจริงซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ

โบราณกาล มนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์ดำรงชีวิตตามวิถี อิงแอบเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่อาศัยอยู่ ใช้ประสบการณ์อันยาวนานเป็นหลายร้อย หลายพันปี สร้างวัฒนธรรมประเพณี เพื่อเป็นอุบายในการดำรงชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมก็ใช้พฤติกรรมเป็นตัวถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสันติเสรี ไม่มั่วเผ่าพันธ์ แต่ละเผ่าพันธ์ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างรักษาเผ่าพันธ์ของตนเอง เพราะแต่ละเผ่าพันธ์ก็มีสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีประสบการณ์ชีวิตตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน

มาถึงยุคปัจจุบัน สังคมมนุษย์ดำรงชีวิตโดยใช้ระบบนิติรัฐ มาบริหารจัดการ นิติบัญญัติต่างๆถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุม และเป็นบทลงโทษผู้คนในสังคม ระดับชุมชน ระดับประเทศ และระหว่างประเทศใช้ภาษาเดียวกัน ควบคุมคนทุกหมู่เหล่า ปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย เพราะความเคยชินและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ภาษาพูด ภาษาเขียนเดียวกัน แต่แปลความหมายต่างกัน ตีความไม่เหมือนกัน เกิดความขัดแย้ง ขึ้นในหมู่สังคมมนุษย์มากมาย

ผู้รู้ทางศาสนาสองท่านแปลนิพพานไม่เหมือนกัน คนหนึ่งแปลนิพพานว่า อัตตา คนหนึ่งแปลว่า อนัตตา ภาษาโลกจึงเป็นสิ่งที่หยาบเกินไป ที่จะสื่อสะท้อนให้สัมผัสความจริงตามธรรมชาติได้อย่างแม่นยำ ภาษาธรรมสื่อกันได้ทางพฤติกรรม ปรมัตถสัจจะ : ความจริงตามธรรมชาติต้องสัมผัสและเข้าถึงได้ด้วยตนเอง การใช้ภาษาโลกมาถ่ายทอดความจริงนั้นจะทำให้เข้าใจผิดเพี้ยนได้ง่าย

สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือความจริง สิ่งที่พระองค์ทรงสอนคือภาษา พระองค์ใช้หลักภาษาโลกเป็นสื่อบอกว่าท่านจงมาดูเถิด ปฏิบัติเถิด ผู้ใดเห็นธรรมหรือเข้าถึงธรรมแล้ว ก็จะเข้าใจสิ่งที่พระพุทธองค์ประสงค์อยากให้รู้ เพราะสิ่งนั้นไม่สามารถถ่ายทอด ให้รู้ให้เข้าใจได้ด้วยระบบภาษา การเรียนรู้ความจริงตามธรรมชาติจึงต้องเดินทางเข้าสู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้เข้าถึง และนำมาประพฤติให้พ้นทุกข์ได้จริง ศาสนามิใช่เป็นเพียงคำสอน แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์

พฤศจิกายน_

คุณธรรมคืออะไร?  รูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร ?   ทำไมผู้คนในสังคมไทยจึงได้เอ่ยถึงกันเป็นประจำ  ความรู้คู่คุณธรรม  คุณธรรมนำความรู้  เป็นโจทย์ซึ่งถูกตั้งขึ้น ในขบวนการการศึกษาของไทย  สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเรื่องคุณธรรม แต่ขบวนการภาคปฏิบัติ มีวิชาไหนบ้างที่สอนให้มีคุณธรรม  เจ็ดแปดหมวดวิชาซึ่งนำมาสอนเด็กประถมศึกษา ก็เน้นสอนแต่เรื่องวิชาการ ใช้วิธีท่องจำเลียนแบบ  เด็กๆถูกจับก็อปปี้ให้เป็นหุ่นยนต์ เหมือนกันหมดทั้งประเทศ  เพราะกลัวจะไม่เสมอภาคกัน  และเป็นการง่ายต่อการจัดทำหลักสูตร  และง่ายต่อการประเมินผล  เด็กๆกลายเป็นเหยื่อของความมักง่ายของผู้ใหญ่  ซึ่งมีหน้าที่จัดการหลักสูตรและประเมินผล

ความรู้ถูกแยกออกจากคุณธรรม  คู่ขนานแบบรางรถไฟ  บางครั้งรถไฟก็ตกราง  น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ  ครูสอนวิชาการต่างๆ  ไม่ต้องมีคุณธรรม  เรื่องของคุณธรรมเป็นเรื่องของครูสอนจริยธรรมฝ่ายเดียว  ธรรมชาติของกิเลสในยุคทุนนิยมไม่ชอบคุณธรรม  ชอบแต่ความรู้  เพราะจะได้นำความรู้ไปเอาเปรียบผู้อื่น  การศึกษาน่าจะเป็นตัวกำหนดสังคม  อยากให้สังคมเป็นอย่างไร  ก็ปลูกฝังคนในชาติให้เป็นอย่างนั้น

แต่การศึกษาปัจจุบันถูกกำหนดโดยสังคม  กลายเป็นธุรกิจการศึกษา   “การศึกษาเพื่อธุรกิจ  มิใช่เพื่อชีวิต”

เด็กสาวคนหนึ่งคลอดลูกออกมา  แล้วนำไปทิ้งที่สะพานลอย  เพราะความรู้ผิดบอกว่าอย่าเลี้ยงนะ  จะทำให้ตัวเองลำบาก  ในขณะที่  “ไก่”  ธรรมชาติพอออกไข่แล้ว  ก็ฟักไข่อย่างมีความรับผิดชอบ  เมื่อออกมาเป็นลูกไก่แล้ว  แม่ไก่ก็พาลูกไก่ไปฝึกทำมาหากิน  สอนลูกไก่ให้รู้จักรับผิดชอบตัวเอง  โดยไม่คิดวางแผนนำลูกไก่ไปทิ้งสะพานลอยแน่นอน  เพราะแม่ไก่ยังมีคุณธรรมอยู่

คุณธรรมคือคุณสมบัติตามธรรมชาต  ซึ่งสัตว์โลกทั้งหลายมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ  ไม่ต้องแสวงหา  ไม่ถูกครอบงำโดยความรู้ผิด  จึงดำรงคุณสมบัติตามธรรมชาติได้ตามปกติ  แต่สังคมมนุษย์เราในยุคนี้  แม่ฆ่าลูก  ลูกฆ่าพ่อ  ผัวฆ่าเมีย  เป็นพฤติกรรมซึ่งสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ทำ  เพราะถูกครอบงำโดยความรู้ผิดซึ่งแฝงด้วยความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  คุณสมบัติตามธรรมชาติจึงหายไป  กลายเป็นพฤติกรรมของสัตว์นรก

ธันวาคม

สัญชาตญาณ คือ ญาณรู้ซึ่งเป็นสัญญาเดิมในอดีตชาต   หรือความรู้ดั้งเดิมซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ  ไม่ต้องแสวงหา  ไม่ต้องเรียนรู้  “ปลาเป็นทวนน้ำ  ปลาตายตามน้ำ”  ปลาน้ำจืดทำไมรู้ว่าต้องว่ายทวนกระแสน้ำ  รู้ได้อย่างไรว่าถ้าตามกระแสน้ำลงสู่ทะเล แล้วต้องตายหมด  ไปเรียนรู้มาจากโรงเรียนไหน? ในขณะที่ผู้คนในยุคปัจจุบันถูกปลูกฝัง  ปรุงแต่งให้วิ่งตามกระแสโลก  โดยผ่านทางขบวนการการศึกษา  และถูกบ่มเพาะโดยกระแสค่านิยม

ทางสังคมวัตถุนิยม นิยมวัตถุ  มีวัตถุเป็นเป้าหมายชีวิต  วัตถุเป็นมาตรวัดความมั่นคงของชีวิต  โดยมีความเชื่อว่า  ถ้ามีวัตถุเยอะๆก็จะทำให้เกิดความสะดวก สบาย  จะทำให้มีความสุข  จึงพากันแข่งขันวิ่งไปตามโลกวัตถุนิยม  ชีวิตทั้งชีวิตมีเป้าหมายหลักคือ  สร้างวัตถุ  มีวัตถุเป็นศูนย์กลางจนลืมชีวิต  ทั้งๆที่ก็รู้อยู่แล้วว่าเมื่อวันที่จะจากโลกนี้ไป  วัตถุแม้แต่หนึ่งชิ้นก็เอาไปด้วยไม่ได้  แต่ก็ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสร้างวัตถุ

การดำรงชีวิต จำเป็นจริงๆหรือที่ต้องไปผ่านขบวนการแข่งขัน มีได้มีเสียก่อนค่อยดำรงชีวิตได้
มีความจำเป็นจริงๆหรือที่ต้องไปเล่นเกมธุรกิจ เพื่อให้เจริญเติบโตมั่นคง แล้วจึงจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข…
จำเป็นจริงๆหรือที่ต้องละทิ้งความเป็นคน จนมุ่งสู่ความเป็นคนรวย จึงจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข…
จำเป็นจริงๆหรือที่จะต้องละทิ้งความเป็นคนธรรมดา มุ่งสู่ความเป็นคนมีชื่อเสียงจึงจะมีความสุข…
จำเป็นจริงๆหรือที่จะต้องละทิ้งจากความเป็นคนไม่เก่ง มุ่งสู่ความเป็นคนเก่งจึงจะมีความสุข…

คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะความสุขที่แท้จริงคือความไม่มีทุกข์ ความไม่มีทุกข์ที่แท้จริงคือความอิสระ มิใช่จน รวย ชนะ เจริญเติบโต หรือ เก่ง

จน แปลว่า ไม่มี มิใช่ทุกข์
รวย แปลว่า มีเยอะ มิใช่สุข
ชนะ แปลว่า ไม่แพ้ มิใช่สุข
เจริญ แปลว่า มีมากขึ้น มิใช่สุข
เติบโต แปลว่า ยิ่งใหญ่ขึ้น มิใช่สุข
เก่ง แปลว่า รู้มาก มิใช่สุข

ความรู้ผิด หรือความเห็นผิดเป็นชอบ จะไปครอบงำสัญชาตญาณเดิม ทำให้ไปสร้างกรรมใหม่ตามความรู้ผิดซึ่งแฝงด้วยความอยาก สุดท้ายก็ต้องรับผลของกรรม คือ ความทุกข์

“อย่าอดทนทำงานเพื่อความสุข จงทำตนให้มีสุขเมื่อได้ทำงาน”