โปรแกรมที่ 2 อิริยาบถ 4
เตรียมพร้อมเครื่องมือเดินทาง คือ สมาธิ สติ โดยอิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน 50 นาที แต่ละขั้นตอนจะมีสัญญาณระฆัง 1 ครั้ง เมื่อได้ยินสัญญาณระฆัง 3 ครั้ง คือหมดเวลา
เป็นการเตรียมสมาธิ สติ ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติตื่นขึ้นมาทำหน้าที่ โดยใช้อิริยาบถทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน มาเป็นฐานของการทำหน้าที่ มายืนดู เดินดู นั่งดู นอนดู ว่าเราเป็นใคร (WHO AM I) สมาธิตั้งมั่น สงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียวกับการทำหน้าที่ สติตื่นรู้ ระวังเฝ้ามอง ความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นก็สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่พิจารณา ไม่ตัดสิน ดูเฉยๆ เราก็จะเห็นความจริงว่า อารมณ์รูปนามต่างๆ เกิดขึ้นตั้งอยู่ สลาย เกิดดับเป็นธรรมดา และก็จะได้เห็นความจริงว่าเรามีกิเลสอะไรที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา เมื่อรู้ว่าตัวเองมีโรคอะไร เราจึงรักษาโรคนั้นได้อย่างถูกต้อง
ขั้นตอนที่ 1 อิริยาบถยืน
ปล่อยวางร่างกายให้ผ่อนคลาย สมาธิตั้งมั่นสงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียวกับการยืน สติตื่นรู้ ระวังเฝ้ามอง มองเฉยๆ ไม่ต้องจ้องมอง ไม่ต้องเพ่งดู ความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่พิจารณาไม่ตัดสิน เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่เรามีอย่างเดียวเท่านั้นคือ ยืนเฝ้ามอง ถ้าไปพิจารณาก็จะมีการกระทำเกิดขึ้นเป็นการสร้างกรรม การตัดสินก็จะเกิดขึ้น ถ้าเราไปเพ่งดู หรือกำหนดรู้ที่จุดใดจุดหนึ่ง ก็มีการกระทำเกิดขึ้น ใช้สมาธิไปกดไว้ ได้ความสงบชั่วครู่ แต่กั้นบังทำให้พลาดโอกาสได้เห็นอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใน ดับทุกข์ต้องดับที่ต้นเหตุแห่งทุกข์ ในขณะที่ยืนอยู่ ถ้าความสงบเกิดขึ้นไม่ได้ สู้ความฟุ้งซ่านไม่ได้ ก็นำความรู้สึกทั้งหมด มาจับที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้เป็นปกติไม่ต้องเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป เมื่อสงบแล้ว ก็ปล่อยวางลมหายใจ ไปอยู่ที่ตั้งมั่นสงบนิ่ง เป็นหนึ่งเดียวกับการยืน สติตื่นรู้ระวังเฝ้ามอง ตลอดชีวิตเรา บางทีก็ไม่เห็นว่าตัวเองกำลังยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ถูกความคิด ถูกอารมณ์ต่างๆ ครอบงำ ความเบื่อ หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน ความกลัว ความโกรธ ความพยาบาท ความพอใจ ความไม่พอใจ ความอยากเร็ว อยากช้า อยากสงบ อยากชนะ อยากรื่นเริง ต่างๆ ครอบงำสติทำให้คิดและตัดสินอะไรๆ ไปตามอารมณ์นั้นๆ สมาธิความตั้งมั่น สติความตื่นรู้ ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ต่างๆ ทำให้ปัญญาถูกบดบังด้วยความรู้ผิด ทุกอย่างดำเนินไปด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความทุกข์จึงเกิดขึ้นตามมา การดำเนินอิริยาบถ 4 จึงเป็นการเตรียมความพร้อม เครื่องมือในการเดินทางของจิต ซึ่งซ่อนอยู่ภายในให้ตื่นขึ้น คือสมาธิและสติ ขณะเดียวกันก็ทำให้สมาธิและสติมีกำลังมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 2 อิริยาบถเดิน
สมาธิ ตั้งมั่น สงบนิ่ง เป็นหนึ่งเดียวกับการเดิน สติตื่นรู้ ระวังเฝ้ามอง ถ้าความสงบไม่เกิดขึ้นให้เอาความรู้สึกทั้งหมด มาจับที่ฝ่าเท้ากระทบพื้น สงบนิ่งดีแล้วก็กลับมาที่ตั้งมั่น สงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียวกับการเดิน ความคิดและอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นก็สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่พิจารณา ไม่ตัดสิน ชีวิตเราถูกฝึกมาให้ต้องเร็วๆ ทำอะไรจึงต้องเร็วๆ จนกลายเป็นกิเลสความเคยชิน เรามาฝืนกิเลสโดยการเดินช้าๆ กิเลสย่อมไม่ชอบ จะมาในรูปของความคิด ลังเลสงสัยต่างๆ อารมณ์เบื่อ ว้าวุ่น ถ้าไม่เฝ้าระวังความคิดและอารมณ์ต่างๆ ก็จะดึงให้ จิตเราหลุดออกจากกรรมฐาน
ขั้นตอนที่ 3 อิริยาบถนั่ง
สมาธิตั้งมั่น สงบนิ่ง เป็นหนึ่งเดียวกับการนั่ง ถ้าความสงบเกิดขึ้นไม่ได้ ก็เอาความรู้สึกทั้งหมดมาอยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องเพ่งดู ลมหายใจเข้าก็คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออกก็คือลมหายใจออก ไม่มีผู้เพ่งกับสิ่งที่ถูกเห็น ไม่มีผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อสงบนิ่งดีแล้ว ก็ปล่อยวางลมหายใจ มาอยู่ที่ตั้งมั่น สงบนิ่ง ตื่นรู้ ระวัง เฝ้ามอง
ขั้นตอนที่ 4 อิริยาบถนอน
ปล่อยวางตัวตน ให้น้ำหนักตัวทั้งหมดลงไปสู่พื้นสมาธิตั้งมั่นสงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียวกับท่านอน สติตื่นรู้ระวัง เฝ้ามอง อิริยาบถนอนเป็นท่าที่ง่ายที่สุดเพราะไม่ต้องประคองตัว แต่ระวังยากที่สุด เพราะสัญชาติญาณ หรือความเคยชินจะเดินเข้าไปสู่การนอนหลับ การเฝ้ามอง ก็มองเฉยๆ ไม่ต้องจ้องมอง ไม่ต้องเพ่งดู อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นก็สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่พิจารณา ไม่ตัดสิน ถ้าความสงบไม่เกิดขึ้นก็ให้เอาความรู้สึกทั้งหมดมาอยู่ที่ท้อง พองยุบ หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ เมื่อสงบดีแล้วก็มาอยู่ที่ตั้งมั่น สงบนิ่ง ตื่นรู้ ระวังเฝ้ามอง