ความยึดมั่นถือมั่นทำให้เกิดความอยาก(ตัณหา)
ความอยากทำให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานทำให้เกิดทุกข์
ความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นจากความเคยชิน เมื่อกินของหวานบ่อยๆ ทำให้เกิดชอบของหวาน ความชอบของหวานทำให้ติดยึดในของหวาน
ความติดยึดในของหวานทำให้อยากกินของหวาน ความอยากกินของหวานทำให้เกิดอุปาทานขึ้นว่าถ้าได้กินของหวานแล้วจะมีความสุข
เมื่อได้กินของหวานแล้วกำลังรู้สึกพอใจมีความสุข บังเอิญมีคนมาแย่งของหวานไปต่อหน้า ความรู้สึกมีความสุขกลับกลายเป็นความทุกข์ในฉับพลัน
เหตุแห่งทุกข์จึงเกิดขึ้นจากการไปติดสุข สาเหตุแห่งทุกข์เพราะมีอุปาทาน ส่วนต้นเหตุของการเกิดทุกข์ก็คือความอยาก ความอยากทำให้เกิด
การกระทำเพื่อสนองความอยาก การกระทำซึ่งแฝงด้วยเจตนากลายเป็นวิบากกรรม วิบากกรรมส่งผลให้เกิดทุกข์ ความอยากจึงเป็นต้นเหตุของความเกิดทุกข์
เหวี่ยงความอยากทิ้งอย่างเดียวก็บรรลุธรรม บรรลุธรรมไม่ได้หมายความว่าได้อะไรเพิ่มขึ้นมา ธรรมมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
เพียงแต่เหวี่ยงสิ่งที่กีดขวางทิ้งไปแล้วเข้าสู่สภาวะเดิมของจิต จิตเดิมแท้เป็นประภัสสร