080-5519598 (คุณแก้ว) [email protected]
Select Page

มักจะมีคำถามที่ได้ยินเสมอว่า “ทำไมผู้ปฏิบัติบางคนแสดงอาการ กิริยาต่างๆ เช่น ฟันดาบ ฟ้อนรำ เป็นเสือ ช้าง” รู้สึกว่าไม่ค่อยสำรวม
ไม่น่าเลื่อมใส ! ทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจคำว่าสำรวมผิดไป จึงอยากจะอธิบายให้เข้าใจกันใหม่ว่า สำรวม แปลว่า “ระวัง”
คือ ไม่มีเจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้แปลว่าเรียบร้อย หรือมีมารยาทมารยาทของคนตะวันตกและคนตะวันออกไม่เหมือนกัน
เป็นแค่สมมุติและบัญญัติ มิใช่สัจจะ การปฏิบัติธรรมมีเป้าหมายเพื่อให้พ้นทุกข์ คนชอบก็เลื่อมใส คนไม่ชอบก็ไม่เลื่อมใส
เป็นอุปาทานของจิต ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาเดิมของแต่ละคนว่าปลูกฝังความเคยชินไว้อย่างไร

vatta-new-01

กลุ่มที่ 1
1. ตัญหา : แรงยึดเหนี่ยวของวงกลม
2. กิเลส : เพลิงทุกข์ที่เกิดจากเหตุเกิด-ดับไม่หมด

กลุ่มที่ 2
1. เจตนา : เจตนาของจิตที่ยังไม่หลุดพ้น
2. กรรม : การกระทำทางกาย วาจา ใจ ถึงพร้อมด้วยจิตที่มีเจตนา

กลุ่มที่ 3
1. สันสติ-กาละ : แรงแห่งความสืบต่อของกาลเวลา (อดีต ปัจจุบัน อนาคต)
2. วิบาก : สิ่งที่จะต้องรับสนองจากแรงสันสติ

สิ่งที่เป็นคู่ๆ นี้ จะทำให้เกิดการหมุนของวัฏฏะ ถ้าเราตัดตัวเลข ๑ แต่ละคู่ออกไปด้วยจิตที่ปัญญาแล้ว ตัวเลข ๒ ที่เหลือก็เป็นเพียงอาการสังขารเท่านั้น
เพราะเราตัดเหตุเกิดไปแล้ว เมื่อเหตุดับผลก็ดับ ตัวเลข ๑ ทั้งหมด เป็นเหตุเกิด ตัวเลข ๒ ทั้งหมดเป็นผลที่ตามมา

เมื่อเรารู้เรื่องความวนของวัฏฏะ ถ้าต้องการจะตัด ต้องตัดตัวเลข ๑ ทั้ง ๓ ตัวออกก่อน จะตัดเฉพาะเลข ๑ ตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ เพราะมันเป็นลูกโซ่
อาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ถ้าตัดต้องตัดพร้อมกันทั้ง ๓ ตัว ถึงจะทำให้หมดสภาพการหมุนวนได้ ก่อนตัดเราต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้ละเอียดก่อน คือ

เรื่องแรงยึดเหนี่ยวของวงกลม (ตัณหา) เราต้องศึกษาสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงดึงของวงกลมว่า
เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะหมดสภาวะแรงดึงได้อย่างไร เราไปมีส่วนของจิตไปทำให้จุดศูนย์กลาง
ของวงกลมนี้เป็นจุดของจิตรวมกับวงกลมอย่างไร เราจะเพิกถอนจิตออกจากแรงนี้ได้อย่างไร

เรื่องเจตนาของจิต เราต้องรู้เหตุของกรรมว่า มีผลมาจากเจตนาของจิตที่ยังไม่หลุดพ้น
ถ้าจิตมีเจตนาขึ้นเมื่อใด ก็เป็นเหตุให้ทำกรรมขึ้นเมื่อนั้น เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
ผลของกรรมนั้นเป็นแรงสะท้อนของกาละ และวงกลมที่ทำปฏิกิริยาร่วมกับจิต อาศัยเหตุปัจจัยที่ได้
สร้างไว้ก่อนแล้ว ส่งผลย้อนมาถึงปัจจุบัน เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วภาระของกรรมก็หมดไป

เรื่องสันตติของกาละ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของกาย เวทนา จิต ธรรม
ที่มีอยู่ในตัวเราซึ่งเป็นเหตุเกิดอยู่ เหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุดับดับไปได้อย่างไร
ปัจจัยที่หนุนให้เหตุนั้นดำรงอยู่มีอะไรบ้าง จะไปสิ้นสุดเอาเมื่อใด
และเราจะดำรงซึ่งเหตุและผลในภาวะปัจจุบันอย่างไร

ที่สิ้นสุดของการเดินทาง เมื่อผู้ปฏิบัติทัศนะจนพอรู้เรื่องว่าอะไรหมดแล้ว จะมองเห็นว่า
เป็นเรื่องไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ซึ่งวนไปวนมาไม่รู้ต้นรู้ปลาย
จึงเห็นว่าเป็นธรรมดาของสิ่งทุกสิ่ง จึงละคลายความเห็นต่างๆเสีย
จึงมองเห็นว่า เพราะมีแรงสืบต่อสันตตินี้สืบต่อให้สิ่งต่างๆ ต่อเนื่องกันเป็นสายๆ
แรงอันนี้เกิดจากเพราะมีเหตุและปัจจัยหนุนต่อเนื่องกันดังนี้ ผู้ปฏิบัติจึงละแรงอันนี้เสีย
ปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติของเหตุและปัจจัย ที่ส่งผลต่อเนื่องอยู่
บุคคลผู้นั้นก็จะถึงที่สุดของการเดินทางถึงความหลุดพ้นได้โดยสมบูรณ์

สรรพสัตว์สิ่งจะถูกแรงดึงจากศูนย์กลางดึงเข้าไป และเมื่อหมดแรงก็จะเด้งออกมา แล้วถูกดูดเข้าไปอีก
วนไป วนมาเป็นรอบๆ เท่ากับเวลาของโลก ๑ วินาที

สังขารทั้งปวง ต้องมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เพราะตกอยู่ในอำนาจของแรงดึงดังกล่าว ดังนั้น
เราควรทำกิจการหลุดพ้นของจิตให้ถึงพร้อมอยู่ตลอดเวลา
ด้วยความไม่ประมาท ถึงจะไม่ตกไปสู่อำนาจแรงดึงอีกต่อไป

มรรคทางเดินเพื่อดับวงกลมของวัฏฏะ

vatta-new-02

กลุ่ม ก. ๑. สันตติ ๒. วิบาก
กลุ่ม ข. ๑. เจตนา ๒. กรรม
กลุ่ม ค. ๑. ตัณหา ๒. กิเลส
กลุ่ม ก. ข. ค. หมุนไปอนาคตตามเข็มนาฬิกาไม่มีวันสิ้นสุด เป็นไปตามวัฏฏสงสาร
กลุ่ม ม. คือ มรรคมีองค์แปด หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หมุนกลับทวนกระแสของวัฏฏะ เพื่อเจริญ สติ ปัญญา บารมี

เพื่อเป็นพลังทำลายข้อ (๑)  สามเหลี่ยม ซึ่งเป็นสาเหตุของแรงสืบต่อของวัฏฏสงสาร

แรงดึงตามธรรมชาติเกิดจากธาตุที่เป็นของคู่ดึงดูดกัน
แรงดึงเกิดจากการกระทบของอายตนะ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เกิดแรงดึงขึ้น

การรับแรงดึง

๑. แรงดึงตามธรรมชาติดับไม่ได้ เพราะมีของคู่กันอยู่ เป็นเหตุและปัจจัยหนุนต่อเนื่องกันอยู่ เมื่อเหตุเกิดผลก็เกิด เมื่อเหตุดับผลก็ดับ ตราบใดยังมีของคู่ต่อเนื่องกันอยู่แรงดึงตามธรรมชาติจะหมดไม่ไป

๒. แรงดึงจากอายตนะดับไม่ได้ เพราะเหตุปัจจัยหนุนต่อเนื่องกันอยู่ ความรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเหตุ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์เป็นปัจจัย เมื่อเหตุและปัจจัยหนุนต่อเนื่องกันอยู่ เราจะดับแรงดึงไม่ได้ เมื่อเหตุดับคือตาบอด หูหนวก จมูกรับกลิ่นไม่ได้ กายเป็นอัมพาต ใจมโนธาตุดับรับอารมณ์ไม่ได้ แสดงว่าเหตุดับ ถึงจะมีปัจจัย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์มากระทบ เมื่อความรู้ทางประสาทสัมผัสดับแล้ว ผลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

ที่ว่าตัณหาดับนั้นก็คือ จิตของเราไม่ไปยึดในอาการเกิดและดับในแรงดึงดังกล่าว เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดทุกข์ต่างๆ ต่อไป

ความยึดถือในตัณหา (แรงดึง) ความยึดถือในกิเลส ทำให้เกิดภพชาติไม่รู้จักจบสิ้น ความยึดถือของจิตเมื่อแบ่งแล้วจะเป็นดังนี้

  • เพราะความไม่รู้ของจิตว่าตัวเองเกิดขึ้นได้อย่างไร อวิชชาเป็นปัจจัยทำให้เกิดสิ่งต่างๆ (สังขาร)
  • เพราะจิตหลงยึดติดในสังขารเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความรู้สึก (วิญญาณ)
  • เพราะจิตหลงยึดถือวิญญาณเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความรู้ละเอียด (นาม) ความรู้หยาบ (รูป)
  • เพราะจิตหลงยึดถือนามรูปเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความรู้ทางประสาทสัมผัสมากขึ้น (อายตนะ)
  • เพราะจิตหลังยึดอายตนะเป็นปัจจัย ทำให้เกิดการกระทบจากจุดสัมผัสจากประสาท (ผัสสะ)
  • เพราะจิตหลงยึดผัสสะเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ สุข เฉย (เวทนา)
  • เพราะจิตหลงยึดเวทนาเป็นปัจจัย ทำให้เกิดแรงรัดดึงให้จิตไปรัดสิ่งต่างๆ ไว้ (ตัณหา)
  • เพราะจิตหลงยึดถือตัณหาเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความสำคัญว่ามีตัวมีตน (อุปาทาน)
  • เพราะจิตหลงยึดถืออุปาทานเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเทียบตัวตนจากเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ภพ)
  • เพราะจิตหลงยึดถือภพเป็นปัจจัย ทำให้เกิดมีตัวตน มีการเกิดขึ้น (ชาติ)
  • เพราะจิตหลงยึดถือชาติเป็นปัจจัย ทำให้เกิดความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ (ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา) เมื่อจิตไม่หลุดพ้นยังมีอวิชชา ความไม่รู้ อาการวนก็เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกไม่รู้จักจบสิ้น ตราบใดเมื่อจิตมีปัญญาเห็นอาการเกิดดับของอาการวนอย่างชัดเจน แล้วก็จะไม่หลงยึดในการวนอีกต่อไป ปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติตามเหตุตามปัจจัย

“เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิด
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป”