080-5519598 (คุณแก้ว) [email protected]
Select Page
การเห็นธรรม บรรลุธรรม มีดวงตาเห็นธรรม จิตหลุดพ้น หมายความว่าอย่างไร ?

การเห็นธรรม คือการเห็นธรรมชาติ หรือเห็นความจริง ธรรมะคือสัจจะ สัจจะคือความจริง เช่น เห็นกฎพระไตรลักษณ์ หรือลักษณะสามประการของธรรมชาติ คือ

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเห็นมรรคทางเดินเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์

บรรลุธรรม คือเห็นแล้วทำได้ เช่น บางท่านรู้เห็นแล้วว่า การสูบบุหรี่เป็นโทษสำหรับตัวเองและผู้อื่น แต่ก็ยังไปสูบไปเสพ เพราะการรู้ การเห็น แค่ทำให้เข้าใจ แต่ไม่เข้าจิต เห็นแล้วแต่ยังทำไม่ได้ เพราะยังสู้ความอยากไม่ได้ ความอยากเกิดจากจิตซึ่งถูกกิเลสปรุงแต่ง จิตซึ่งบรรลุธรรม ก็มีหลายระดับ เช่น โสดาปัตติมรรค

โสดาปัตติผล สกทามิมรรค สกทามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล แต่ละระดับก็มีพลังอินทรีย์ที่แตกต่างกัน ทำให้การปล่อยวางความยึดมั่น

ถือมั่นมีผลที่แตกต่างกัน

มีดวงตาเห็นธรรม คือเห็นทางเดินเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ เมื่อเห็นทางเดินแล้วก็ตั้งมั่นเดินทางต่อไป

จิตหลุดพ้น คือหลุดพ้นจากสิ่งปรุงแต่ง ซึ่งมีหลายระดับเช่นเดียวกัน

วิธีปฏิบัติที่ศูนย์ฯ นี้ ทำไมถึงเรียกว่า “อายตนะวิปัสสนากัมมัฏฐาน” ?

ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์วิปัสสนานั้น ได้แก่ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท 12

ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องค้นคว้าเอาเอง อย่างไรก็ดี

ภูมิหรือหลักธรรมต่างๆ เหล่านี้ จัดไว้ 2 ประการ คือ รูป นาม

รูป คือ ลักษณะที่เข้าไปเห็น

นาม คือ ลักษณะที่เข้าไปรู้

เช่น ตาเห็นรูป จิตรู้รูป ตาจึงจัดเป็นรูป จิตจึงจัดเป็นนาม

การพิจารณารูปนามในทางวิปัสสนาทำให้เกิดญาณทัศนะขึ้นไปเป็นลำดับ เมื่อเราใช้อายตนะมาเป็นอารมณ์

หรือเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกระทำวิปัสสนาจึงเรียกว่า “อายตนะวิปัสสนากัมมัฏฐาน”

ผู้ปฏิบัติบางคนแสดงอาการต่างๆ เช่น ฟันดาบ ฟ้อนรำ เป็นเสือ ช้าง หรือ ถูกทรมานนั้น อาจารย์ทำไมถึงบอกว่าเป็นการ ระลึกชาติ เป็นจิตปรุงแต่งเองได้ไหม ?

การแสดงออกต่างๆ เป็นจิตปรุงแต่งเองได้ไหม ? ตอบว่าได้ และเป็นการระลึกชาติได้ไหมตอบว่าได้ ทุกอย่างอยู่ที่ศรัทธาความเชื่อระลึกชาติหรืออุปาทาน ก็คือความจริงซึ่งเกิดกับจิตแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็คือความยึดติด สิ่งที่ต้องทำก็คือ ขัดเกลาจิตให้ผ่องใสคือ ชำระสิ่งต่างๆ ที่ยึดติดในจิตใต้สำนึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภพชาติ หรือเรื่องอุปาทานซึ่งมีอยู่ในจิต ไม่ใช่มีวิตกจริต กลัวโน่นกลัวนี่ ระลึกชาติจริงหรือไม่จริง ไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งสำคัญคือใครทำให้มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วได้อะไร เสียอะไร ผู้ปฏิบัติธรรมเองต้องมีสติใช้ปัญญาพิจารณา ดูตัวเองว่า หลังปฏิบัติแล้วมีอะไรเลวร้ายลงหรือเปล่า ข้อกังขาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือผลกรรมอย่างหนึ่งโดยเฉพาะนักคิดทั้งหลาย ฝึกฝนให้เป็นคนชอบคิด ชอบสงสัย ผลก็คือ เกิดวิตกจริต วิตก วิจารณ์ ก็คือทางผ่านของการปฏิบัติ ใครผ่านได้ก็คือผ่านได้ ใครยังผ่านไม่ได้ก็คือยังผ่าน ไม่ได้ มารไม่มี บารมีไม่เกิด เมื่อรู้ว่าระลึกชาติได้จริง หรือเป็นแค่การปรุงแต่งหรืออุปาทานทำให้พ้นทุกข์หรือเปล่า จริงก็เหวี่ยงทิ้ง เท็จก็เหวี่ยงทิ้งวาง จึงจะเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์ มิใช่การสะสมความรู้

บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือวิชาที่ว่าด้วยการระลึกชาติได้ ว่าได้เกิดมากี่ครั้ง สามารถรู้ถึงจิตใจความเป็นอยู่ในอดีตชาติมาโดยตลอด มีความจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถจดจำชื่อเสียงของตนเอง บิดา มารดา บุตร สามีหรือภรรยา มิตรสหาย ตลอดจนที่อยู่อาศัย

ความสามารถระลึกชาติได้นี้ เป็นความรู้รับรองเรื่อง สังสารวัฏ และ ปฏิจจสมุปบาท คือการเวียนว่ายตายเกิดว่า เป็นความจริง พระพุทธองค์ ทรงระลึกชาติย้อนหลังไปนานแสนนาน การระลึกชาตินั้นต้องอาศัย “อนุสติ” คือ ความนึกลำดับ หรือ ความสำนึกซึ่งหนหลังได้อยู่เนืองๆ ถ้ามี อะไรมาสะกิดให้นึกขึ้นได้ ก็จะสามารถนึกเห็นเหตุการณ์ของชีวิตในชาติก่อนๆ การที่คนโดยมากนึกถึงเหตุการณ์แห่งชีวิตในชาติก่อนไม่ได้ ก็ เพราะถูกชีวิตปัจจุบันปกปิดไว้ (อัตตาปัจจุบัน) ความบังเกิดขึ้นของอัตภาพและความคิดนึกนั้นแหละ เรียกว่า “ชาติ” เป็นตัวปิดบังความรู้สึก ระลึกชาติหนหลัง ถ้าสามารถทำสติให้ทะลุปฏิสนธิไปได้เมื่อไหร่ เป็นระลึกชาติได้เมื่อนั้น

บุคคลผู้ระลึกชาติได้ด้วยอำนาจการฝึกฝนสติอบรมจิตใจ จะระลึกได้หลายชาติ และรู้เหตุการณ์สำคัญในชาตินั้นๆ พร้อมทั้งกรรมที่แต่งกำเนิด ให้เกิดใหม่ด้วย ย่อมจะเกิดความเชื่อมั่นในสังสารวัฏ คือ กิเลส กรรม วิบาก อันเป็นไปภายในจิตใจ แล้วจะเกิดญาณรู้แจ้งขึ้นในเรื่องสังสารวัฏ> อย่างทะลุปรุโปร่ง ตัดความสงสัยในเรื่องตายเกิดหรือตายสูญ คือการเวียนว่ายตายเกิดและอำนาจกรรมเสียได้ บุพเพนิวาสานุสติญาณคือหนึ่งในวิชาสามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งยังไปไม่ถึง ก็ต้องเริ่มจากศรัทธาต่อคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น เบื้องต้น ถ้าศรัทธาน้อยก็จะทำให้เกิดสงสัยมาก

โรคภัยไข้เจ็บที่ผู้คนประสบอยู่ เกี่ยวข้องกับกรรมหรือไม่ ? และวิธีนี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้หรือไม่ ? ถ้าได้จะหายขาดหรือไม่ ?

บี้หมัดหมาปวดหัว หักขาแย้เป็นอัมพาต กรรมเก่า+กรรมใหม่=ผล ไม่มีแม้แต่หนึ่งโรคไม่เกี่ยวกับผลทางกรรม “เป็นหนี้ จ่ายหนี้หมดหนี้” การจ่ายหนี้ความชั่วต้องจ่ายด้วยความทุกข์ ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจ ความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้นที่จิต วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือการใช้หนี้ กรรมทางจิต เมื่อใช้หนี้หมด กรรมก็หมด ใช้หนี้ไม่หมดกรรมก็ไม่หมดวิทยาศาสตร์การแพทย์รักษาโรคเวรโรคกรรมไม่ได้ โรคภูมิแพ้ยังรักษาไม่หายขาด เพียงแค่บรรเทาเท่านั้น

นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขเพราะไม่มีทุกข์ ที่ไม่มีทุกข์ เพราะอยู่เหนือกระแสกรรมทั้งปวง

คำว่าตั้งมั่นคืออย่างไร การไปจับที่ลมหายใจ ดูลมกายใจเข้า-ออก แบบนี้เข้าใจ แต่การตั้งมั่นไม่รู้จะไปจับที่จุดไหน อย่างไร

เราคุ้นเคยกับว่าต้องมีการกระทำเกิดขึ้น ถ้ามีการกระทำเกิดขึ้นแล้ว วิปัสสนาจะไม่เกิด ตั้งมั่นไม่ใช่ตั้งใจ ตั้งใจมันแฝงด้วยความอยาก เราจะต้องไปจับกับสิ่งไหน ตั้งมั่นคือเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เราทำ ไม่วอกแวก เช่น เราเดิน ก็เป็นหนึ่งเดียวกับการเดิน ไม่ใช่เดินไปด้วยคิดไปด้วย หาคำตอบไปด้วย แบบนี้ไม่ตั้งมั่น ตั้งมั่นคืออยู่กับปัจจุบัน มีสมาธิกับสิ่งที่เราทำ

การปฏิบัติโปรแกรมสมาธิเหวี่ยง ให้เราเข้าไปในจิตใช่หรือไม่

ช่วงสมาธิเหวี่ยง เราเข้าไปในฐานจิต เข้าไปจิตในจิต ให้อารมณ์เหล่านั้นแสดงออกมา แล้วเราเรียนรู้กับมัน แต่รู้อย่างเท่าทัน…รู้อย่างมีสติ…

อยู่ในกรอบของความพอดี เราควบคุมอารมณ์นั้นได้ มีสติอย่างยิ่ง ไม่ใช่ไปหลงมัน เราฝึกให้รู้เท่าทันอารมณ์ในจิตนั้นๆ เรียนรู้แล้ววาง

ไม่ใช่ไปหลงไปเป็นตามอารมณ์นั้น

การแสวงหาสิ่งใหม่ๆ จะมีผลดีผลเสียอย่างไร วิทยาศาสตร์สอนให้แสวงหาสิ่งใหม่ๆ จึงจะเป็นการพัฒนา

แต่ในทางจิตวิญญาณ การแสวงหาสิ่งใหม่ๆจะพบแต่สิ่งเก่าๆ การสนองความอยากรู้อยากเห็นตามอุปนิสัยเดิมๆ ซึ่งเป็นของเก่าๆ ซึ่งเป็นกิเลสความเคยชิน เป็นการบ่มเพาะทำให้กิเลสมีกำลังมากขึ้น  นั่นคือ การแสวงหาสิ่งใหม่ๆ เพราะเรามีความอยากรู้อยากเห็น และตัวอยากรู้อยากเห็นก็เป็นตัวเก่าๆของเรา เราก็สนองของเก่าๆของเรา เมื่อเราเจอของใหม่ๆแล้ว มันเหมือนใหม่สำหรับเรา แต่มันมีมาตั้งนานแล้ว แม้กระทั่งเราค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ทางธรรมชาติ มันใหม่สำหรับเรา แต่จริงๆมันเก่ามาตั้งหลายล้านชาติแล้ว ถ้าเราสนองความอยากรู้อยากเห็นเรา ก็เหมือนเราเอาอาหารให้มันกิน มันก็อยากรู้อยากเห็นไปเรื่อยๆ ในทางกลับกัน ในทางฝึกจิตเรา ถ้าเราอยู่กับการปฏิบัติเช้า สาย บ่าย เย็น แบบนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนซ้ำซากจำเจ เราทำสิ่งเก่าๆ แต่เราจะเห็นสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นตลอด อารมณ์ต่างๆที่เราไม่เคยพบเคยเจอจะเกิดขึ้น อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมันใหม่สำหรับเรา จริงๆแล้วอารมณ์ใหม่นี้มันเกิดขึ้นมาหลายล้านชาติแล้วแต่เราลืม สิ่งใหม่อย่างเดียวที่เรายังไม่เคยเจอ คือ นิพพาน

จิตในจิต และ นานาจิตตัง ต่างกันอย่างไร?

คำว่า ” จิตในจิต ” และจิดเห็นจิต แสดงว่ามีจิต 2 ดวงหรือ จริงๆแล้วมีดวงเดียว แต่คนละหน้า จิตแรกนี่คือ จิตปัจจุบัน จิตซึ่งเราปรุงแต่งแล้ว จิตที่ชอบคิด

เราเข้าไปในจิตใต้สำนึกเรา นี่อีกหน้านึง นั่นคือ จิตเดิมเรา นั่นคือ ครูบาอาจารย์ของเราที่แท้จริง เราเข้าไปเรียนรู้กับตรงนั้น ช่วงจิตในจิต เราสร้างแรงเหวี่ยงเพื่อจะเข้าไปในจิตอย่างเดียว อยู่ในฐานจิต ฐานธรรม ส่วนกายภาพเป็นแค่เครื่องมือของจิตเฉยๆ อันนี้คือ “inside out” อารมณ์ข้างในเป็นตัวสั่งข้างนอก ทำท่าโน้น ทำท่านี้ ไม่ใช่สมองเราสั่ง

ส่วน นานาจิตตัง เราอาศัยแรงสั่นสะเทือน การเต้น เราอยู่กับปัจจุบัน เราอยู่ทั้งฐานกาย ฐานจิต เข้าออก เข้าออก ไม่ต้องเข้าลึก อันนี้คือ “outside in”

พระพุทธเจ้าทรงเตือนเรื่องนี้มาก เตือนสาวกทั้งหลายว่า บรรพชิตไม่ควรเสพส่วนสุดโต่ง 2 ส่วน ระหว่างของคู่ ระหว่าง “ข้างนอก” กับ “ข้างใน” ข้างนอก คือ กาย ข้างใน คือ จิต

ข้างนอกนี่ เราสุดโต่งอะไร คิดๆๆไม่เลิก ส่งออกตลอด นั่งอยู่ที่นี่ แต่คิดไปถึงบ้านแล้ว

พอเข้าไปในจิต เราก็ไปสุดโต่งข้างใน ให้อารมณ์นั้นๆถูลู่ถูกังไปเลย ก็ไปจมอยู่กับอารมณ์นั้น

ชีวิตเรานี่ สุดโต่งตลอด ไม่ถูกก้อผิดเลย ไม่ดีก็ชั่วเลย มันไม่เป็นกลาง แต่ถ้าเราทำแบบนี้บ่อยๆ ต่อไปเราจะเป็นกลาง โดยอาศัยแรงสั่นสะเทือน ความเร็ว การเคลื่อนไหว ทำให้ความคิดมันสั่งการเราไม่ได้ คำว่า นิ่งอยู่กับการเคลื่อนไหว นิ่งไม่ใช่อยู่เฉยๆเหมือนตอไม้ เป็นหนึ่งเดียวกับการเคลื่อนไหว ทุกๆอิริยาบท นี้แหละ เป็นเทคนิค เป็นอุบาย ให้จิตเรามีที่เกาะ นี่คือ นานาจิตตัง

เนื่องจากร่างกายมีอาการเจ็บป่วย จึงขออนุญาตหมุนเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยก่อน

อันนี้ไม่ใช่คำถามนะ เป็นคำบอกเฉยๆ ว่า ชั้นมาที่นี่เพื่อจะรักษาโรค โรคอย่างอื่นไม่สำคัญ เท่าโรคอุปาทาน เรามัวแต่ไปรักษาร่างกาย ร่างกายอย่าไปรักษามัน เหวี่ยงมันทิ้ง สักวันหนึ่งมันจะทิ้งเรา เราต้องทิ้งมันก่อน

อย่าไปรักษาโรค เหวี่ยงโรคทิ้งรักษาชีวิต นี่คือโรคอุปาทาน ทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย ห่วงโน่นห่วงนี่ มุ่งจะนั่งหมุนให้มันรักษโรค

เรามีเจตนามีเป้าประสงค์มันไม่มีพลัง

ที่นี่ไม่ได้รักษาโรค ที่นี่เรามาปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์

โรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตายแล้วไม่จบคือโรคทุกข์

ส่วนโรคภัยไข้เจ็บนี่เรื่องเล็ก มะเร็งเรื่องเล็ก ตายแล้วไปเผามันก็จบแล้ว แต่โรคทุกข์ มันข้ามภพข้ามชาติ เกิดมาวันแรกก็แหกปากร้อง นี่เป็นอุปาทาน ถึงได้ทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย จิตมันไม่มีพลัง เพราะกังวลมากเกินไป มีแต่หาวิธีรักษามัน ไม่มาปฏิบัติปลดปล่อยให้จิตอิสระ จิตเค้าจะดูแลเอง พ่อครูพูดบ่อยๆ ไม่พิจารณา ไม่ตัดสิน ไม่มีเป้าประสงค์ อันนี้บอกเลยมีเป้า แล้วก็ไม่ใช่ คือมองไว้ว่ามาที่นี่ชั้นจะมารักษาโรคก่อน

ความนิ่งเฉยจะไม่ทำให้เฉื่อยชาเหรอ

ความนิ่งเฉยไม่ได้แปลว่าไม่ทำอะไร แต่ทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งแต่ปราศจากความปรารถนา ทำเพราะธรรม

พ่อครูทำอย่างนี้มานานแล้ว ธรรมะคือหน้าที่ ไม่แสวงหาความหมาย ความนิ่งเฉยมีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแปล ถ้าเรานิ่งเฉยได้เราก็จะรู้ว่ามันคืออะไร

พลังจิตคืออะไรรู้ไหม

พลังจิตสูงสุดคือพลังปัญญา เริ่มจาก ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่คือพลังจิต ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไร นั่นมันเป็นแค่อภิญญา มันไม่ใช่ทางให้เราพ้นทุกข์

เราต้องสร้างพลังจิตเราขึ้นมาคือ สร้าง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ

ปัญญา คือตัวสุดท้าย

ถ้ามีปัญญาแล้วมันไม่โง่ที่จะไปสร้างกรรมใหม่ มันไม่โง่ที่จะไปสร้างแบรนด์เนม มันไม่โง่ที่จะไปทะเลาะกับใคร มันไม่โง่ที่จะไม่ให้อภัย

รู้กับรู้สึกต่างกันอย่างไร แล้วในชีวิตประจำวันเราควรรู้หรือรู้สึก

ให้รู้เฉยๆ รู้กับรู้สึกต่างกันยังไง ต่างกัน เพราะว่า

“รู้สึก” มันมีสึกด้วย ส่วน”รู้” มันรู้เฉยๆ

“รู้สึก” นี่เวทนาเกิดขึ้นแล้ว รู้สึกดีใจเสียใจ เวทนาเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ตัดสินชอบไม่ชอบ ทุกข์สุขก็ตามมา

แล้วควรทำอย่างไร แค่ ” รู้เฉยๆ” “รู้สึก” มันช้าเวทนาเกิดไปแล้ว เหมือนเค้าด่าเรา ถ้าเราได้ยินเฉยๆ ก็จบ แต่รู้สึกปุ๊บ รู้สึกไม่พอใจ เวทนาเกิด สัญญาที่บันทึกไว้ว่าไม่ชอบถูกด่ามันเกิดขึ้นไปสปาร์คเลย ไปจุดต่อมไม่พอใจขึ้นมา สังขารเกิด เธอด่าฉัน ฉันเสียเปรียบ ไม่ได้ ได้ไงๆ ด่าไปเลย วิญญาณเกิด ภายใน 1 วินาที

แต่ตอนนี้เรากำลังฝึก รู้สึกแต่เรายังเบรคไม่ได้ ก็ให้ช่างมันเถอะ ช่างหัวมัน พ่อครูพูดหลายปีแล้วยังไม่มีเวลาทำเลย จะทำตาชั่งใหญ่ เอาหัวมันไว้ข้างบน คอยเตือนสติช่างหัวมัน

ถ้าเราช่างหัวมันได้ เราก็ “รู้เฉยๆ”
แต่ถ้าว่ารู้เฉยๆไม่ทัน มันรู้สึกแล้ว ต้องช่างหัวมัน เราก็จบไม่ต้องไปสร้างกรรมอีก อโหสิกรรมนะ

รู้เฉยๆ ถ้ารู้เฉยๆได้ เค้าด่าเราไม่ใช่เราไม่ได้ยิน ได้ยินแค่เสียงแล้วไม่ให้นัยยะมัน

ถ้ารู้สึกเราจะเกิดทุกข์ ถามว่าเราโง่ไหม ถูกด่าไม่พอแถมทุกข์อีก นี่โง่ซ้ำซาก

ถ้ารู้รู้เฉยๆ รู้ปุ๊บ จบ เราไม่รู้สึกอะไรเลย เห็นไหม เราก็ไม่เจ็บปวด

ก็คำตอบว่าที่เราปฏิบัติทุกวันนี้เพื่อให้เราทำ รู้เฉยๆ นะ นี่คือเป้าหมาย ถ้าเรารู้เฉยๆได้ กระทบหูไม่กระเทือนใจ เกิดแล้วก็ดับ รูปเกิดแล้วก็ดับ เวทนาสัญญาสังขารปรุงต่อไม่ได้ ปฏิจจสมุปบาทขับเคลื่อนไม่ได้ วัฏสงสารหยุด

เราจะสามารถปฏิบัติธรรม ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ ทั้งทางโลกและทางธรรมไปด้วยกันได้อย่างไร

พ่อครูถามว่า ทางโลกนี้ตายไหม คำตอบคือ “ตาย” มันก็คือทางธรรมเลย อย่าไปแยกทางโลกทางธรรม

ความตาย คือ ธรรมชาติ ไปด้วยกันได้ เพราะทางโลกกับทางธรรม ก็ทางเดียวกัน คือตายเหมือนกัน อยู่ที่ว่าใครจะ “ตายดี” หรือ “ตายชั่ว” เท่านั้นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเจริญมรรคจิต มุ่งสู่ความพ้นทุกข์ ทุกคนต้องมีสัมมาอาชีวะ ทางโลกเราหมายถึง เราต้องมีอาชีพ ตราบใดที่เรายังดำรงอาชีพอยู่นี่ มันก็เป็นการเจริญมรรคไง…มันก็เป็นการปฏิบัติธรรม

อาชีพอาศัยยังชีพ อยู่ได้ไม่ตาย ไม่ใช่ไปเล่นเกมส์แพ้ชนะ เกมส์รวยกัน ถ้าทำอย่างนั้นจะเป็นสัมมาอาชีวะยากมาก

เหมือนเราเป็นนักมวยอยู่ มีหน้าที่ขึ้นไปเวที เค้าขึ้นเวทีแข่งขันเสรี เราไม่ชกเค้า เค้าก็ชกเรา เราก็ตั้งใจชกอย่างมีสมาธิ อย่างมีสติ ส่วนชกแล้วมันแพ้ มันชนะนี่ มันก็เป็นผลพลอยได้นะ อย่าไปทุกข์กับมัน

แต่ตอนนี้เนื่องจากว่า ชีวิตเรานี่ เราทำอาชีพ มันเป็น”ธุรกิจ” สมัยก่อนเค้าเรียกว่า “การค้า” ตอนนี้การค้าไม่พอแล้ว ค้าเพื่อกำไรไม่พอแล้ว ต้องยิ่งใหญ่ด้วย ต้องชนะด้วย การยิ่งใหญ่ของเราคือ การทำร้ายคนอื่น กลายเป็นธุรกิจการค้า ตอนนี้ทุกข์สิ มันไม่ใช่สัมมาอาชีวะ มันเป็นเกมส์ได้เสีย

เราต้องเปลี่ยนอารมณ์ใหม่ ให้มีความพึงพอใจกับสิ่งที่เราทำ แต่”ทำเพราะธรรม” ทำเพราะมันเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ในการมุ่งสู่นิพพาน คือหนึ่งในมรรคมีองค์แปด ฝึกจิตไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันเปลี่ยนเอง เมื่อจิตเรามันมีปัญญาแล้ว

เราต้องเปลี่ยนหน้าที่การงานเรานี่ ให้เป็นสัมมาอาชีวะ ไม่ใช่เป็นการแข่งขัน เค้าจะแข่งก็แข่ง เราทำให้มันดีที่สุด เราไม่ได้แข่งกับใคร ทำแล้วได้ปุ๊บ ดีใจก็ถูกแล้ว ทำแล้วเสีย ก็ดีใจ แล้วทำไมต้องเสียใจหละ เราเสียนั้นเราได้ประสบการณ์อย่างยิ่ง

กิเลสเรามันชอบว่า ถ้าได้แล้วก็ดีใจ พอเสียมันก็เลยเสียใจ อันนี้ทั้งหมดคือ เราไม่เข้าใจชีวิต

“อยู่ทางโลก อยู่ทางธรรม ก็ทางเดียวกันนั่นแหละ คือตายเหมือนกัน”

วิธีทำให้จิตแข็งแรงทำอย่างไร

ก็ที่เราทำอยู่ทุกวันนี่ แต่ต้องทำจริงนะ ไม่ใช่ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง แล้วบอก…ฉันไม่ก้าวหน้าเลย วันนึงมี 24 ชั่วโมง เราทำวันนึงกี่ชั่วโมง เราสร้างให้เราแข็งแรงกี่ชั่วโมง แล้วเราสร้างกรรมกี่ชั่วโมง เห็นมั๊ย..ดึงชักกะเย่อกันอยู่ตรงนั้นหละ แล้วมันจะไปไหน ไปเอากิเลสเข้ามาอีก

อย่าค้ากำไรเกินควร “ปฏิบัติ” ไม่ได้หมายถึงว่า ปฏิบัติอยู่ที่ศาลาอย่างเดียว ศาลามี เช้า-สาย-บ่าย-เย็น สี่เวลา แต่รวมกันแล้ว 6 ชั่วโมง แค่นี้ไม่พอนะ ออกจากศาลาก็ต้องปฏิบัติ ต้องอยู่ปัจจุบันตลอด มีสติตลอด ต้องอยู่ในทาน ศีล ภาวนา
ตลอด 

ปฏิบัติธรรมไม่ใช่นั่งหลับหูหลับตาอย่างเดียวนะ มันยังไม่ครบองค์

ปฏิบัติธรรม คือ มรรค ผล นิพพาน

การเจริญมรรค คือ การปฏิบัติธรรม

มรรค-ผล-นิพพาน ไม่ใช่ สติ-ผล-นิพพาน ไม่ใช่ สมาธิ-ผล-นิพพาน

แต่ตอนนี้การปฏิบัติธรรม ไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมมาปุ๊ป ไปฝึกสมาธิ เจริญสติ แล้วบอกไปปฏิบัติธรรม ยังไม่ใช่ อันนั้นเป็นแค่ฝึกวิชาสมาธิ ฝึกวิชาสติเท่านั้นเอง ยังไม่ใช่ปฏิบัติธรรม

เมื่อเห็นทุกข์แล้ว จะอยู่กับทุกข์อย่างไร โดยไม่เป็นทุกข์

ก็สักแต่ว่าเห็นสิ ถ้าเราเห็นทุกข์ เราจะไม่ทุกข์ ที่เราทุกข์เพราะเราไม่เห็นมัน บางคนทุกข์แต่ไม่เห็นทุกข์ ไปวิ่งหาความสุขนอกกายมากลบเกลื่อนความทุกข์นั้น

คำว่า “เห็นทุกข์ คือ เห็นทุกขัง” เห็นความดำรงอยู่ได้ยาก มันเป็นกฎพระไตรลักษณ์

ถ้าเราเห็นตัวนี้ อย่าไปคิดเพิ่มเติม ไอ้ทุกข์ซึ่งเป็นทุกข์เพราะเราไม่สุขนั่นมันจะไม่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างว่า เรายึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู นี่ทรัพย์สมบัติกู นี่รถกู นี่บ้านกูใช่มั๊ย เราอยากให้มันดำรงอยู่ แต่พอเขามาชนรถเรา จากรถสวยๆ กลายเป็นรถไม่สวย… เห็นมั๊ย มันไม่เที่ยง มันทุกขัง

เหมือนเรารักษาตัวเอง เราไม่อยากตาย พอมันจะตาย การที่มันจะตายมันเป็นทุกขัง มันดำรงอยู่ได้ยาก ถ้าเรายอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้น ไอ้ทุกข์ซึ่งตรงข้ามกับสุขมันไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้ที่มันเกิดขึ้น เพราะเราไม่ยอมให้มันเปลี่ยนแปลง

คำว่า “เห็นทุกข์” ทุกข์ตัวนี้คือ “เห็นความไม่เที่ยง” มันทุกขังเพราะมันดำรงอยู่ได้ยาก ถ้าเรารู้เท่าทันมัน รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เราจะไม่รู้สึกทุกข์

การที่จะทำตัวให้เป็น ผู้ปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แบบ ควรทำตัวอย่างไร

เต๋าพูดไว้ว่า อุดมคติเรื่องของ “ความสมบูรณ์แบบ” นั้น เป็นอุดมคติของ “คนที่ยึดตนเป็นศูนย์กลาง” เอาจริตตัวเองเป็นที่ตั้ง

มีเรื่องเล่านะ มีชายคนหนึ่งเดินทางไปทั่วโลกเพื่อค้นหาหญิงสาวที่สมบูรณ์แบบ เค้าต้องการจะแต่งงาน เค้าต้องการผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ เค้าเสียเวลาไปทั้งชีวิต สูญเวลาไปเปล่าๆ แต่เค้าก็ไม่สามารถค้นหาได้

วันหนึ่งเพื่อนของเค้าก็พูดว่า ตอนนี้ท่านอายุ 70 ปีแล้ว ท่านค้นหามาทั้งชีวิตของท่าน ท่านยังไม่สามารถหาผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบพบแม้แต่คนเดียว เขาพูดว่า จริงๆแล้วครั้งหนึ่งฉันเคยพบกับผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบคนหนึ่ง เพื่อนจึงถามว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นล่ะ

ชายคนนั้นตอบอย่างเศร้าสร้อยว่า เกิดอะไรขึ้นน่ะหรือ ผู้หญิงคนนั้นก็กำลังมองหา “ผู้ชายที่สมบูรณ์แบบ” ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ถ้าเราเข้าใจคำว่า “นานาจิตตัง” นัยยะของความสมบูรณ์แบบของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

เวลาปฏิบัตินานาจิตตัง การยืนหมุนเป็นวงกลมมีวิธีเริ่มต้นอย่างไร? เทคนิคการทรงตัวไม่ให้เอียงหลุดทำอย่างไร?

ไม่มีวิธี ไม่มีเทคนิค ไม่ใช่วิชาสอน ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องฝึก ลองปฏิบัติเลย

การเชคกิ้ง (Shaking) ของตะวันตก สะท้อนให้เห็นมุมมองที่ทำอะไรแบบแยกส่วน มีการสั่งการ ควบคุม เป็นขั้นเป็นตอน มีรูปแบบ และหลักการที่แน่นอนตายตัว แยกเป็นวิชาๆ ต้องมีการศึกษาเรียนรู้ ต้องปฏิบัติตามเส้นทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด อยู่ภายใต้กรอบที่กำหนด

ฝึกเชคกิ้งแล้วเค้าก็สั่งการเดี๋ยวขาขวาขาซ้ายอะไรนี่ เป็นการ exercise ผ่อนคลายร่างกาย นั่นอยู่ในฐานกายฐานเวทนา เวทนายังอยู่ที่ใจเป็นส่วนนึงของฐานกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นอายตนะ มันเป็นส่วนของกาย

ส่วนนานาจิตตัง หรือ เชคแอนด์แดนซ์ (Shake&Dance) ที่เราปฏิบัติอยู่ในฐานกาย-เวทนา-จิต-ธรรม กิริยาที่แสดงออกมาจากข้างใน เรียกว่า “inside-out” ออกมาจากข้างใน เป็นตัว “ปัญญา” ไม่ใช่เทคนิคความรู้ที่เราสร้างมันขึ้นมา

นั่นคือ “ความอิสระ” จิตอิสระแล้ว เค้าพยายามจะปลดปล่อย สลัดอัตตาตัวตนเราออกไปหมด อัตตา บุคลิกภาพ และมารยาท ศักดิ์ศรีต่างๆ

มีอารมณ์ทุกข์อยู่ ถ้าเรามาทำตรงนี้มันจะเปลี่ยนเป็นสุข แล้วใครเปลี่ยน…สมองเราเปลี่ยนมั๊ย ถ้าสมองมันเก่ง มันทำให้ตัวเองทุกข์ทำไม มันก็สั่งอย่าทุกข์ๆ อย่าเครียดๆนะ ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด ยิ่งสั่งก็ยิ่งเครียดนะ

ฝึกทำเลย แต่อย่าตั้งใจ เพราะลึกๆมันแฝงด้วยความกลัวความอยาก จิตมันไม่อิสระ มันไม่มีพลังหรอก เมื่อพลังจิตเกิดขึ้น เดี๋ยวจิตมันจะดูแลเอง มันคือผลพลอยได้เท่านั้นเอง ไม่ใช่ตั้งใจหาวิชาโน่นวิชานี่

การทำงานให้มีความสุขเป็นอย่างไร

ถ้าเราทำงานด้วยความพอใจ ทำด้วยความสุข เจอปัญหาหนักแค่ไหนก็ไม่ท้อ และไม่ได้มองว่า มันคือปัญหาด้วยซ้ำ แต่เป็นเนื้องานที่ต้องแก้ไข ถ้าไม่มีปัญหา เราไม่มีงานทำแน่

การทำงาน คือ การแก้ปัญหา แต่ถ้าเราเบื่อมันเมื่อไร การทำงาน คือ ปัญหาทันที

ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิต เวลาเจอปัญหา เราจะท้อถอย ไม่มีกำลังใจ ทำไปด้วย เหนื่อยไปด้วย ผลงานก็ออกมาไม่ดี แล้วความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นด้วย

“อย่าอดทนทำงานเพื่อความสุข จงทำตนให้มีความสุขเมื่อได้ทำงาน”

ถ้าเข้าใจหลักการทำงาน เราจะมีความสุขตลอดเวลา อย่าไปทำงานเพื่อให้มีความสุขในอนาคต

ทุกวันนี้ เราทำงานเพื่ออนาคต รอให้งานสำเร็จ ถึงค่อยมีความสุข
.
.
พ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย

การปฏิบัติสมาธิแบบนี้ เราจะต้องปฏิบัติ หรือแสดงกิริยาท่าทางต่างๆแบบที่ทําอยู่ตอนนี้ไปตลอดชีวิตหรือไม่

จริงๆแล้วเรื่องปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เรื่องสมาธิอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องสติอย่างเดียวนะ เราต้องเจริญมรรค

เรากินข้าวสักสิบปีดีมั้ย แล้วเวลาที่เหลือนี่ไม่ต้องกินดีมั้ย เห็นมั้ย เราคุ้นเคยว่า ถ้าทําอะไรที่เราไม่อร่อย หรือ เราคิดว่า เราไม่ได้อะไรนี่ เราก็จะตั้งข้อกังขา เราจะทําเสียเวลาอย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าเราหลงป่า เดินออกจากป่านี่ พอมันเบื่อมา เอ๊ะ…เราจะเดินอย่างนี้ไปตลอดเหรอ ถามว่า…คุณจะรอเสือมันมากิน หรือ คุณจะรอไฟไหม้ป่าใช่มั้ย

นอกจากว่า เราออกจากป่าแล้ว เราก็ไม่ต้องเดินอีกไง แล้วอยู่ที่ว่า ใครจะออกได้หรือเปล่า มันก็แล้วแต่บุญกรรมที่เราสร้างมา มันไม่มีสูตรสําเร็จนะ เหมือนเราเรียนปริญญา ถ้าขยันไปลงเรียนทุกวัน จบสี่ปีเท่ากัน ไม่ใช่อย่างนั้นนะ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การปฏิบัติแบบนี้ ทําให้เราบรรลุธรรม

เป็นคําถามที่ดีมาก แล้วใครรู้บ้างว่า แบบไหนทําให้เราบรรลุธรรม เห็นมั้ย ใบไม้กํามือเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างให้เรานี่ เอาใบไหนก็ได้ ทําจริงๆจังๆเถอะ

การปฏิบัติแบบนี้ ทําให้เราบรรลุธรรม คํานี้ดีมาก ปฏิบัติแบบนี้ ถ้าหมายถึง องค์รวมทั้งหมดของศูนย์ฯ ศูนย์ฯนี้มี ศูนย์สมอง ศูนย์จิตใจ ศูนย์ปากท้อง

เรามีเด็กยากจนที่นี่ นี่ก็เป็นฐานที่ตั้งแห่งการสร้างทานบารมีของเรา

ศีลนี่ ถ้าเราฝึกบ่อยๆ ศีลเป็นความปกติ เราลดความอยากลงไปแล้วนี่ ไม่มีความทะยานอยาก เราอย่าไปสร้างกรรมใหม่ อันนี้ก็คือ ศีลไง

แล้วเช้า สาย บ่าย เย็น นี่เราเจริญภาวนา ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา แบบนี้ถ้าหมายถึงทั้งหมดนี้ แบบที่ศูนย์ฯทําทั้งหมดนี้ ไม่มีแม้แต่หนึ่งอย่างไม่ใช่คําสอนพระพุทธเจ้า นี่ ก็คือ “มรรค” ทั้งหมด

แต่ถ้าหากว่า มาปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้าง หรือเอาแต่ปฏิบัติอย่างเดียว แต่ออกไปนี่ก็ไปบ่นไปด่าเขา ไปอิจฉาเขา ให้อภัยเขาไม่ได้ แบบนี้ ไม่ใช่

ถ้าเรายังเข้าไม่ถึงศีลบริสุทธิ์ เราก็เอาศีลวินัยนี่มากํากับ เราหลีกเลี่ยง เราไม่สร้างกรรมใหม่ แล้วภาวนาเช้า สาย บ่าย เย็น อย่างนี้บ่อยๆนะ ทําไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันใดวันหนึ่ง มันก็จะออกจากป่าได้นะ
.
.
พ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย

ในขณะปฏิบัติทุกกิจกรรมจะมีวิธีใดบ้าง ที่จะกำจัดความคิดที่เข้ามาแทรกได้บ้าง

จากคำถามเห็นไหม เราทำอะไรบ้าง เราพยายามจะหาวิธี เราคิดหาวิธี เราก็ ”คิด” อีกแล้วไง นี่คือเรา

ทุกอย่างเราคิดจะหาวิธีกำจัดมัน วิธีกำจัดมันก็คือ “ไม่ต้องทำอะไร รู้เท่าทันมันเฉยๆ”

ที่พ่อครูเน้นว่า “ความคิดและอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่พิจารณา ไม่ตัดสิน” นั่นหละคือ วิธีจัดการ

“จัดการ โดย ไม่ต้องจัดการ รู้เฉยๆ” ไม่ใช่เรื่องความคิดอย่างเดียวนะ อารมณ์ทุกอย่าง

ถ้าสมมุติว่า เค้าด่าเรา เอาหละเราไม่ทัน กระทบหูปุ๊บ มันเกิดเวทนาไม่พอใจ เราก็รู้ว่า มันไม่พอใจ ก็จบแค่นั้น ถ้าเราไม่ระวังปุ๊บ ความไม่พอใจนั่น มันพัฒนากลายเป็นความพยาบาท ความโกรธเกิดขึ้นมาทันที เนื่องจากเราไม่ทัน

แต่ถ้าเราฝึก ทำไปเรื่อยๆ เหมือนเราออกกำลังกายไปเรื่อยๆ มันก็เกิดความแข็งแรง ความแข็งแรงนี่ เราไปไหนมันก็ไปด้วย จิตก็เหมือนกัน
.
.
พ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย

วิธีนี้เป็นสติปัฏฐาน 4 หรือไม่ อย่างไร ?

สติปัฏฐาน หรือที่ตั้งแห่งการเจริญสติ คือหัวใจของวิปัสสนา แยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือผู้เพ่ง อีกส่วนหนึ่งคือตัวถูกเพ่ง ตัวถูกเพ่ง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

ซึ่งเรียกว่า สติปัฏฐาน 4 หรือที่ตั้งแห่งการเจริญสติ 4 ประการ

กายานุปัสสนา คือ รูปขันธ์ เป็นรูปธรรมเวทนานุปัสสนา คือ เวทนาขันธ์ เป็นนามธรรมจิตานุปัสสนา คือ วิญญาณขันธ์ เป็นนามธรรมธรรมานุปัสสนา คือ ขันธ์ทั้ง 5 เป็นรูปธรรมและนามธรรม

สติปัฏฐาน 4 ก็คือรูปนามนั่นเอง การที่จะใช้รูปนามอะไรก็ได้มาเป็นฐานของการเจริญสติ ก็ถือว่าอยู่ในข่ายของสติปัฏฐาน 4 ทั้งนั้น สติปัฏฐาน 4 แต่ละส่วนก็แยก ออกอีกเป็นหลายๆ บรรพเฉพาะธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มี 5 บรรพ คือ นิวรณ์บรรพ ขันธบรรพ อายตนะบรรพ โพชฌงค์บรรพ และอริยสัจบรรพ จะพิจารณาบรรพ ไหนยังไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่า พิจารณาเพื่ออะไร ? บางทีพิจารณามา พิจารณา ไปก็ไปติดอยู่กับฐานที่ตั้งแห่งการพิจารณา ได้แต่ความสงบชั่วครู่ ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะไปกดมันไว้ จนลืมเป้าหมายของการปฏิบัติเพื่อให้เห็นกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อายตนะภายนอก 6 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์อายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เมื่ออายตนะภายนอก (เสียง) มากระทบอายตนะภายใน (หู) เสร็จแล้วกระทบตัวรู้ คือ ตัว “วิญญาณ” ขบวนการที่กระทบนี้เรียกโดยรวมว่า “ผัสสะ” เสียง คือ รูป, ได้ยินเสียง คือ นาม ปกติอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นส่วนของร่างกาย เมื่อใช้อายตนะมาเป็นอารมณ์ในการเจริญ วิปัสสนา ก็คือกายานุปัสสนา (รูปขันธ์) เมื่อเกิดผัสสะขึ้น ตัวรู้หรือวิญญาณก็มาเกี่ยวข้อง เมื่อกระทบผัสสะที่หู วิญญาณทีหูหรือโสตวิญญาณก็มารับรู้ แล้วส่งกระแส รับรู้ไปที่มโนวิญญาณซึ่งเกาะอยู่ที่ใจ เวทนา หรืออารมณ์ร่วมจึงเกิดขึ้น จึงพัฒนาไปสู่เวทนานุปัสสนา (เวทนาขันธ์) เมื่อมีความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วมีอารมณ์ ยินดี ยินร้าย ดีใจ เสียใจอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับสัญญาเดิมว่าบันทึกไว้อย่างไร (สัญญาขันธ์) บางคนเห็นรถเก๋งสีแดง มีความชอบ บางคนเห็นแล้วมีความไม่ชอบ บางคน เห็นแล้วเฉยๆ ก็อยู่ที่สัญญาเดิมว่าบันทึกไว้ในจิตว่าอย่างไร ขั้นตอนนี้เข้าสู่จิตตานุปัสสนา (วิญญาณขันธ์) ตัวสัญญาเดิม มีความไม่ชอบสิ่งนี้ เมือถูกบังคับหรือฝืนใจ ให้ทำ ความรู้สึกทุกข์ก็เกิดขึ้นที่ใจ ตัวสัญญาเดิมมีความพึงพอใจ เมื่อได้มาก็มีความรู้สึกเกิดขึ้นที่ใจ เมื่อพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่จิต ไม่ว่าดีใจ หรือเสียใจ ทุกข์หรือสุข ก็เปลี่ยนแปลงไป รูป-นามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลาย เกิดดับ-เกิดดับ อารมณ์ในขั้นตอนนี้เข้าสู่ธรรมานุปัสสนา (ขันธ์ทั้ง 5) ซึ่งเป็นรูปธรรมและ นามธรรม

เมื่อเราเข้าถึงกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง เป็นเนืองนิจ ซึ่งเรียกว่ากฎพระไตรลักษณ์ หรือลักษณะสามประการของธรรมชาติ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตก็จะจางคลายความยึดมั่นถือมั่น การใช้อายตนะมาเป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานสามารถพัฒนาไปถึงธรรมา นุปัสสนา จึงอยู่ในส่วนของธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง

มีคนบรรลุธรรมโดยวิธีนี้หรือไม่ ? สามารถไปถึงที่สุดแห่งทุกข์หรือไม่ ?

พระราหุลและพระจูฬปัณถก ใช้อายตนะวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอุบายพิจารณาเพื่อพ้นทุกข์

อินทรีย์พละคืออะไรคะ แล้วจะเพิ่มกำลังมันได้อย่างไรคะ

อินทรีย์พละ คือ อินทรีย์ 5  พละ5   ศรัทธา วิริยะ  สติ สมาธิ ปัญญา ที่ได้ถามพ่อครูว่า ศรัทธาต้องเอากี่เปอร์เซ็นต์  ศรัทธาต้องมาหลายชาติแล้ว คำว่าศรัทธาไม่ได้แปลว่า ความเชื่อ มันไม่ใช่ความเชื่อหยาบๆ  มันเป็นศรัทธา เป็นบารมีเก่ามาตั้งแต่อดีต  ยิ่งทำก็ยิ่งเห็นผล  ศรัทธาก็ยิ่งมากขื้น  ความเป็นมีวิริยะก็มากขึ้น  สติ สมาธิก็มากขึ้น  ปัญญาที่มีอยู่แล้วมันก็แก่กล้าขึ้น  มันก็กลายเป็นพละ อินทรีย์พละ กำลังก็มากขึ้น เมื่อกำลังมากขึ้นก็ปฏิบัติได้คล่องขึ้น  ได้เร็วขึ้น  เหมือนเราวิ่ง  ไม่เคยวิ่งวันแรกๆ  เนื่อยมากเลย  วิ่งไปได้กิโลนึงก็ไม่ไหวแล้ว  พอเราไม่เลิก  เรามีศรัทธา เราวิ่งอีกก็เป็นสองกิโล  พรุ่งนี้เป็นสามกิโล   พอกำลังมันมากขึ้นก็วิ่งได้เร็วขึ้น ได้มากขึ้น  นี่คือคำตอบว่าจะเพิ่มกำลังมันได้อย่างไร  พอเราออกกำลังกายบ่อยๆ  ร่างกายก็แข็งแรง  เราก็แข็งแรง   แต่ถ้าเราออกกำลังจิตบ่อยๆ  จิตก็แข็งแรง  คำว่าอินทรีย์พละ เป็นกำลังของจิต  แล้วออกกำลังจิตได้ผลอย่างไร    ก็คือมรรค ผล นิพพาน ที่เราทำอยู่ทุกวัน

ต้องมีศรัทธาตั้งมั่นขนาดไหนคะ 100% หรือเกิน 100% หรือต้องมอบกายถวายชีวิตไปเลยคะ ถึงจะได้มีดวงตาเห็นธรรม สามารถเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้คะ

อย่าเข้าใจผิด คำว่าดวงตาเห็นธรรม บางคนยังไม่มีศรัทธาอะไรเลย  ทาสีอยู่ ก็สามารถ จิตหลุดพ้นดวงตาเห็นธรรมได้ แต่ไม่ใช่เห็นธรรมขั้นสูง คือจิตเห็นจิต คือมรรค  ที่เรารำๆตอนนี้  ใครรำ ข้างในมันสั่งรำใช่ไหม แล้วเราก็เห็นแล้วใช่ไหม  แล้วเราคือใคร  เราก็คือจิตปัจจุบัน  เราก็เห็นจิตกำลังรำอยู่  อันนี้คือดวงตาเห็นธรรม  ไม่ใช่บรรลุธรรม  แต่บรรลุธรรมขั้นต้น คือเข้าไปสู่กระแสมรรค ขั้นต่ำสุดคือโสดาปฏิมรรค

แต่ไม่รู้หรอก สมองเราไม่รู้หรอก มันโง่ๆ   แต่จิตรู้เอง   ขั้นแรก คือโสดาปฏิมรรค บางทีบรรลุเป็นอนาคามี  บางทีเป็นพระอรหันต์เลยก็ได้  เพียงแต่ว่าอย่างน้อย ให้เราไปเข้ากระแสมรรค  อย่าไปคิดเอาเองว่าจะเอาศรัทธา 100% หรือศรัทธา 99% ก็ศรัทธาเท่าที่เราศรัทธา  คิดเอาเองไม่ได้

หรือ ใครจะคิดว่า ตายเป็นตาย  พอนั่งสมาธิแล้วเห็นหน้าผีหลอก เกิดกลัว ไม่เอาดีกว่า  แล้วเราจะรู้ว่าศรัทธาจริงหรือเปล่า เจ็บนิดหนึ่งก็ไม่เอาแล้ว  เราจะรู้ว่าศรัทธามีมากแค่ไหน  อย่าไปคิดเอาเองนะ ว่า 100% แบบนั้นคือนึกเอา  คือรู้ธรรม

เราไปอ่านพระไตรปิฎก เราไปฟังธรรม  เราก็เข้าใจ ไม่เข้าจิต อันนี้เรียกว่าคนรู้ธรรม  รู้ธรรม คือ ต้องทำให้มันเห็นธรรม  เห็นธรรมคือเห็นจิต ธรรมะคือสัจธรรม สัจธรรมคือความจริง  ในตัวเรามีความจริงอย่างเดียวคือจิต

เราเห็นธรรมแล้ว  เห็นธรรมแล้วต้องทำยังไง  ก็ต้องทำให้บรรลุธรรม  ทีนี้บรรลุธรรมก็มีสี่คู่แปดบุรุษ สมควรแก่สักการะและบูชา เขาก็แยกแยะเป็นอุณหภูมิเป็นระดับของมันแต่เราไม่ต้องไปกังวลเรื่องนั้นว่าระดับไหน  จิตเดิมเรารู้เอง

ทีนี้เมื่อรู้ธรรมแล้วทำให้มันเห็นธรรม  เห็นธรรมแล้วก็เจริญมรรค  มันเกิดผล  ผลสูงสุดคือนิพพาน

ทำไมเวลา Shake & Dance แล้วถึงปล่อยวางความคิดของเราไม่ได้

เวลาเรา Shake & Dance ความคิดยังมีอยู่ ถ้าวันไหนเราเลิกคิด เราหยุดคิด เราเป็นพระอรหันต์แล้ว จิตบรรลุธรรมแล้ว ตอนนี้ยังคิดอยู่ ไม่ใช่ไม่ให้มันคิด แต่เราไม่ไปคิดตาม เมื่อเราทำบ่อยๆๆๆๆ แล้วความคิด มันจะควบคุมเราไม่ได้ ต่อไปเราจะคิดน้อยลง เราจะคิดเมื่อเวลาที่เราจะคิด จิตเราจะใช้ความคิดมาสร้างประโยชน์ แต่ที่ผ่านมากิเลสใช้ความคิดของเรามาหลอกเรา คิดฟุ้งซ่าน ที่เราไม่มีสมาธิเพราะอะไร เพราะเราถูกความคิดมาสร้างอารมณ์มาครอบงำสติเรา ทำให้เราไม่มีสมาธิ เราทำ Shake & Dance ไปนานๆ สมาธิเราจะยาวขึ้น ความคิดมันจะอ่อนลง ไม่ใช่เราไม่คิดนะ แต่ว่าความคิดจะน้อยลง บางคนชอบคิดทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องก็คิดให้มีเรื่อง

มีไหมค่ะที่ปฏิบัติไป ช่วงเข้าจิต อยู่ๆมันจะเกิดอาการหยุดไปเฉยๆ แบบไม่อยากเคลื่อนไหว แบบเหมือนว่างๆเฉยๆ

มี มันเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง พอมันนิ่งปุ๊บ เฉยปุ๊บ เราก็ดูเฉยๆ สักพักเดี๋ยวมันก็เคลื่อนเอง แต่อย่าไปติดเฉยๆนานๆนะ มันจะไปติดสุขตรงนั้น มันก็ได้แต่ความสงบชั่วครู่ ปัญญามันไม่เกิด

จะทราบได้อย่างไรว่าปฏิบัติแล้วก้าวหน้าหรือถอยหลัง

ปฏิบัติเถอะ มันรู้ได้เฉพาะตน เป็นปัจจัตตัง คำว่า “ความก้าวหน้าหรือถอยหลัง” มันจะไปขัดแย้งกับความเคยชินของเรา ถ้าทางโลก ก้าวหน้าคือเราเรียนรู้วิชาการ เรารู้มากขึ้น แต่ทางจิต ก้าวหน้าเหมือนเราไม่รู้อะไรเลย มันน้อยลงนะ ดูว่าอารมณ์เราเป็นอย่างไร ความก้าวหน้าหรือถอยหลังประเมินจากอารมณ์เรา ตัวเวทนาเราเป็นอย่างไร เราสงบนิ่งลงไหม สติเราเร็วขึ้นไหม อย่าไปสนใจมันมาก ขอให้เดินทางไปเรื่อยๆ ที่พ่อครูบอกว่าเราหลงป่า เราก็หาทางเดินออกจากป่า ก็มีหน้าที่เดินไปเรื่อยๆ มันจะถึงเมื่อไหร่ช่างมัน

ยิ่งปฏิบัติธรรม ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนกิเลสเยอะ แล้วชอบคิดอกุศล มีอัตตาสูง จะลดละวางด้วยวิธีไหน ถ้ายังไม่เข้าถึงกล่องปัญญา

ก็ถูกแล้ว คำถามนี้มีคำตอบอยู่แล้ว ก็ทำไปเรื่อยๆ ให้มันเข้าถึงกล่องปัญญาที่แท้จริง เมื่อยังไม่เข้าถึง แต่เห็นกิเลสตัวเอง อันนี้เป็นปัญญาเบื้องต้น วิปัสสนาเกิดแล้ว คนที่เห็นกิเลสตัวเอง ถือเป็นปัญญาอย่างยิ่ง เห็นมันบ่อยๆ แล้วกิเลสมันก็หลอกเราไม่ได้ ก็ตั้งมั่น ศรัทธากับสิ่งที่ตัวเองทำ เดินต่อไป

ขอถามพ่อครูว่าเวลาเหวี่ยงหรือสั่นรู้สึกว่ามีพลังอะไรเข้ามาตามร่างกายจนถึงศีรษะ บางครั้งก็เกิดน้ำตาไหล สองวันนี้ปวดศีรษะทุกวัน พอถึงตอนเย็นก็รู้สึกหาย

ตอนที่เราเหวี่ยง มันจะปวดศีรษะ แสดงว่ามันไปขุดความรู้สึกส่วนลึกขึ้นมา มีใครบ้างที่เกิดมาถึงวันนี้ไม่เคยคิดเลย มีไหม?

คิด คือมโนกรรม

โดยเฉพาะพวกเราคนในเมือง มันอยู่ตรงนี้หมด พอเหวี่ยงแรงๆ มันจะสลัดออกมา ความปวดมันจะเกิดขึ้น มันให้เรารับวิบากกรรม คนคิดมากๆ ก็ต้องปวดหัวมากๆ ให้มันเจ็บมากๆ คราวหน้าจะได้ไม่ต้องคิดมากอีก สภาวะที่เกิดขึ้นนี้เขาเรียก ธรรมารมณ์ มันไม่ใช่ปวดจริงๆ ตอนนั่งกรรมฐาน บางคน ร้องไห้ บางคนเจ็บปวด พอบอกว่าหมดเวลา ความปวดนั้น ก็หายไป เดินไปกินข้าว แล้วมานั่งใหม่ ก็ปวดต่อ แสดงว่าโปรแกรมนั้นยังไม่หมด ความปวด มันคือเวทนา เราเอามาเป็นเครื่องมือในการฝึกจิต ใช้สติรู้เท่าทันมัน ไม่ต้องไปตอกย้ำว่ามันปวด รู้เฉยๆ อย่าไปให้ความสำคัญ แต่อย่าไปปฏิเสธมัน

ทำอย่างไรไม่ให้รู้สึกท้อถอยในการปฏิบัติธรรม เพราะดูเหมือนไม่ก้าวหน้า?

นี่แหละ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ก้าวหน้าแล้ว เพราะมันแฝงด้วย”ความอยาก” จะไปนิพานด้วย “ความอยาก” มันไปไม่ได้ ค้ากำไรเกินควร อย่าแกล้งลืมนะ สร้างกรรมไว้ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ปฏิบัติแค่ไม่กี่วัน บอก… ไม่ก้าวหน้า จะก้าวไปไหนเหรอ? ก็เห็นก้าวไปก้าวนึง เผลอปุ๊ป ก็ถอยไปสองก้าว แล้วมันจะไปก้าวหน้าได้อย่างไร

ความก้าวหน้า ปฏิบัติแล้วต้องนำไปประพฤติ ประพฤติต้องฝืนกิเลสตัวเอง นั่นแหละ เราทำแค่ไหน? อย่างไร?

เวลาเราเรียนหนังสือ เราอยากเป็นที่หนึ่ง ตีสองตีสามก็ไม่นอน
อ่านหนังสือยันสว่าง เรายังยอมทำเลย เห็นมั๊ย เราลงทุนขนาดนั้น อันนี้พ่อครูไม่เคยเห็นใครเหวี่ยงถึงเที่ยงคืนสักคนนึง แล้วจะไปถามหาก้าวหน้า ต้องตั้งมั่น มีขันติ มีศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า มันเรื่องง่าย แต่มันไม่ปล่อยให้เราง่าย เพราะกรรมที่เราสร้าง มันก็ดึงเราไว้อยู่ แต่อย่าไปท้อถอยนะ คือแค่คำพูดท้อถอยก็เหวี่ยงท้อถอยทิ้ง เดินต่อไป ถ้าเราไม่ก้าวต่อไป แล้วมันจะก้าวหน้าได้อย่างไร ท้อถอยก็หยุดแล้ว เบื่อจริงๆ ตื่นเช้ามาก็เดินไปเจอ เสือสิงห์กระทิงแรด เจอแต่ป่าเหมือนเก่า เมื่อไหร่จะทะลุป่าเสียทีนึง แล้วยังไง? ไม่เดินเหรอ รอเสือมันมากิน นั่นแหละ ต้องเพิ่มศรัทธาให้กับตัวเอง แต่ต้องวาง “ความอยาก” ซะ

ปฏิบัติเพราะปฏิบัติ ไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งนั้น

การไม่ยึดมั่นถือมั่นทำอย่างไร

ก็วาง ง้ายง่าย วาง โอเคไหม รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นมันไม่ดีแล้วไปยึดทำไม

เรายึดศีลเป็นแนวทางเดินอย่างมีสติ อย่าไปยึดมั่นอย่าไปกอดไว้

20 กว่าปีก่อนมีคณะนึง มาหาพ่อครู 10 กว่าคันรถ เกือบร้อยคน มีศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 มาครบทีมเลย พระคุณเจ้าท่านก็ถามพ่อครูว่า ยึดหลักอะไร พ่อครูบอก “ไม่ยึดมั่นถือมั่น”

ท่านก็บอกว่า พ่อครูขึ้นต้นไม้ไม่ยึดมั่นถือมั่นพ่อครูก็ตกลงมา พ่อครูก็มองหน้า ทำไมถามอย่างนี้ พ่อครูเลยบอกหลวงพี่ว่า

ถ้ากอดอยู่อย่างนั้นนะ อย่าปล่อยนะ ยึดมั่นก็กอดอยู่นั่น มันไม่ตกแต่ขึ้นต่อไปได้หรือไม่ ต้องยึดอย่างมีสติ แล้วก็วาง

ยึดศีลเป็นแนวทางไม่ใช่ไปหลงศีลไปกอดอยู่ตรงนั้น ติดดีอยู่ตรงนั้น แล้วไปหาว่าคนอื่นไม่ดี คนไปว่าเค้าไม่ดีเป็นคนชั่วร้ายอย่างยิ่ง

บางทีคำถามอะไรแปลกๆ พ่อครูก็ได้ธรรมะใหม่ พ่อครูบอกถ้าฝั่งนู้นมันเป็นนิพพาน สมมุตินะ นิพพานมันไม่ใช่ฝั่ง มันไม่ใช่แดนอย่างนี้หรอก แต่สมมุติเอา

ถ้ามันเป็นน้ำ เราจะข้ามมันต้องมีเรือ เรือนี้เปรียบเสมือนศีล เราต้องมีพาย เปรียบเหมือนสมาธิ เราต้องมีเข็มทิศเปรียบเสมือนปัญญา ไม่งั้นเราหลงทาง

ถามว่าเราไปถึงฝั่งแล้วเราจะแบกเรือขึ้นไปไหม ท่านก็นั่งนิ่ง ยึดได้แต่อย่าไปถือมั่น ยึดมั่นไปจะหลงแล้วติดดี ยึดศีลเป็นแนวทางเดินอย่างมีสติ เมื่อถึงฝั่งแล้ว แม้กระทั่งศีลเราก็ต้องวาง เพราะมันเป็นศีลโดยธรรมชาติแล้ว มันเข้าไปถึงศีลปกติแล้ว

พ่อครู 28 ปีไม่ถือศีล แต่ไม่ทำชั่วแน่นอน สมัยก่อนมือถือสากปากถือศีล ถือๆหลุดๆ อันนั้นมันศีลเทียม

การเจริญภาวนาเป็นอย่างไร การปฏิบัติที่ศูนย์นี้เรียกว่าเป็นการเจริญภาวนาหรือไม่ครับ

ก็เอาทางวิชาการที่เค้าบันทึกไว้ ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงภาษาพูดก่อน แล้วค่อยเติมเต็มให้ทุกคนเข้าใจ

ภาวนาคืออบรมจิตใจให้ฉลาดตรงต่อเหตุผล รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย มิให้จิตใจผาดโผนโลดแล่นไปตามความคิด นึก เลื่อนลอยไม่มีจุดหมาย

จิตใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนาย่อมเปรียบประดุจโคที่ยังมิได้ฝึกหัดเทียมเกวียน ไม่สามารถจะลากเกวียนไปได้ถูกตามความประสงค์ฉันใด จิตใจย่อมคิดอ่านนอกลู่นอกทางฉันนั้น

การภาวนาทำให้จิตใจอยู่ในระเบียบวินัยที่ดีงามและเกิดประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

วิธีภาวนาคือการสังเกตจิตใจตัวเองนั่นเอง เค้าใช้คำว่าสังเกต ไม่ใช่จิตดูจิต จิตเห็นจิตคือมรรค พอพูดแล้วคำว่า “เห็น” เราก็เข้าใจว่าต้อง “ดู” เห็นไหมภาษามันหยาบเกินไป ก็ไปจ้องดูกลายเป็น มีผู้ดู กับ สิ่งที่ถูก เห็น แล้ว

เค้าใช้คำว่าสังเกต คือ การสังเกตจิตใจตัวเอง โดยใช้สติระลึกรู้ ไม่ใช่ไปฝึกสติ สติเรามีอยู่แล้ว สติสัมโพชฌงค์เรามีอยู่แล้ว ใช้มัน ไม่ใช่ไปฝึกสติ ฝึกสมาธิ เป็นแค่ระดับสมถกรรมฐาน สติระลึกรู้ความเคลื่อนไหว ไม่ใช่นั่นอยู่เฉยๆเหมือนตอไม้ อันนั้นนั่งอยู่เฉยๆก็เป็นอริยบทนึง แต่ไม่ใช่ว่าต้องเป็นแบบนั้น

ในขณะที่เราเคลื่อนไหว เราเต้น เราก็เห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นเฉยๆ เต้นแล้วเหนื่อย ถ้าเหนื่อยมันเป็นเรื่องของเวทนาปัจจุบัน แต่ถ้าเข้าไปในอารมณ์ เราเห็นความโกรธ มันเป็นเรื่องของเก่า เป็นธรรมในธรรม เรามาขัดเกลาจิตใจให้ละได้ซึ่งตัณหา คลายความกำหนัดเพลิดเพลินหลงไหล ทำให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ไม่มีเหลือ โดยอาศัยหนทางอันประเสริฐ 8 ประการ ก็คือมรรคมีองค์ 8 หรืออีกนัยหนึ่งคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเรียกว่า ภาวนามยปัญญา

หากผลของการปฏิบัติธรรม คือ การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน ต้องการชีวิตที่สมถะเรียบง่าย แล้วหากว่ายังต้องทำงานอยู่ และต้องการที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นในทุกๆปี ถ้าหากมาปฏิบัติธรรมกลัวจะทิ้งงาน หรือเกิดความเฉื่อยชาในการทำงาน ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราขี้เกียจ และทุกคนต้องวิ่งเข้าไปอยู่ในป่า คำว่า”วาง” ไม่ได้แปลว่า “ทิ้ง”

คนทิ้งหน้าที่มันจะพ้นทุกข์ไม่ได้ ยิ่งปฏิบัติ..ยิ่งขยัน แต่ขยันแบบฉลาดมีปัญญา ไม่ใช่ขยันแบบโง่ๆ ขยันแบบโง่ๆไม่สำเร็จ 

ถึงจะสำเร็จในงานที่ทำอยู่ แต่ชีวิตเราไม่สำเร็จ เพราะเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่แข็งแรง อันนี้ขยันแบบโง่ๆ

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วนี่ เราจะขยันแบบมีปัญญา การงานเรามองอะไรชัดเจน รู้ปัญหา เราก็จะไม่เครียดกับงาน แล้วก็ในแง่ชีวิตเราก็จะดีขึ้น นี่คือ “ทางสายกลาง”

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราขี้เกียจ อันนี้เป็นการเข้าใจผิดว่า ปฏิบัติธรรมแล้วต้องทิ้งทุกอย่าง

สิ่งที่เราต้องทิ้งคืออะไร … สิ่งที่เราต้องทิ้ง คือ “ความทุกข์”

จะจัดการกับความคิดอย่างไร

เต๋ากล่าวว่า ประเด็นไม่อยู่ที่เรื่องของความคิด แต่มันเป็นเรื่องของความปรารถนา ก็คือ “ความอยาก”

ความคิดเป็นแค่คนรับใช้เท่านั้น จงฆ่าเจ้านาย แล้วคนรับใช้ก็จะหายไป การฆ่าคนรับใช้ไปเรื่อยๆ เจ้านายจะนำคนรับใช้ใหม่เข้ามาเรื่อยๆเช่นกัน

ทุกวันนี้เราแก้จากความคิด คือ มีสตินะ…มีสตินะ

ความคิด คือ กิเลส กิเลสมันคิด ถ้ามีสติรู้เท่าทัน มันหยุดแค่นั้น มันก็พัฒนาไปสู่ตัณหาไม่ได้ ตัณหา คือ ความอยาก คือความปรารถนา มันก็พัฒนาสู่อุปาทานไม่ได้ ทุกข์ก็ไม่เกิด เราฆ่าคนรับใช้ เดี๋ยวมันก็จะเอาคนรับใช้ใหม่เข้ามา มันเป็นการแก้ปลายเหตุ

เหมือนตอนนี้เราคิดจนปวดหัว แล้วกินยาแก้ปวด ไม่ให้มันรู้สึกปวด อันนี้คือ ฆ่าคนรับใช้ ปวดหัวเป็นปลายเหตุ ต้นเหตุ คือคุณคิดคุณสร้างมโนกรรมตลอดเวลา

ความคิดไม่เคยหยุดได้ด้วยตัวมันเอง มันจะหยุดได้ต่อเมื่อจิตที่ปรารถนาหายไป คือ ”ความอยาก”นั่นหละ

เต๋ากล่าวว่า “จงอยู่โดยปราศจากความปรารถนา”

ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนกิเลสเยอะ แล้วชอบคิดอกุศล มีอัตตาสูง จะลด ละ วาง ด้วยวิธีไหน ถ้ายังไม่เข้าถึงกล่องปัญญา

ก็ถูกแล้ว คำถามนี้มีคำตอบอยู่แล้ว ก็ทำไปเรื่อยๆ ให้มันเข้าถึงกล่องปัญหาที่แท้จริง

เมื่อยังไม่เข้าถึง แต่เห็นกิเลสตัวเอง อันนี้เป็นปัญญาเบื้องต้น คนที่เห็นกิเลสตัวเอง ถือเป็นปัญญาอย่างยิ่ง เห็นมันบ่อยๆ แล้วกิเลสมันก็หลอกเราไม่ได้ ก็ตั้งมั่น ศรัทธากับสิ่งที่ตัวเองทำ เดินต่อไปเรื่อยๆ

การปฎิบัติธรรมแนวนี้เหมือนหลุดโลกเลย ถูกต้องหรือไม่?

กริยาที่เราแสดงออกเหมือนหลุดโลก ไม่อยู่ในกรอบประเพณีวัฒนธรรม เราเรียกว่า หลุดโลกเนอะ

มันเป็นแค่อุบายวิธี เราไม่ติดบ่วงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เราต้องการผล วิธีไหนก็ได้ ที่ทำให้เราพ้นทุกข์ แต่วิธีนั้นๆต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

จริงๆแล้วไม่ได้หลุดโลกไปไหน มันหลุดออกจากโลกแห่งการปรุงแต่ง เข้าสู่ความเป็นจริงของธรรมชาติ

เวลาเด็กๆดีใจเป็นอย่างไร เย้เย้ กระโดดโลดเต้น ไม่มีมารยาท เวลาเสียใจ ลงไปกลิ้งร้องไห้ใช่ไหม พอลุกขึ้นมา ก็เล่นกันต่อได้

แต่ผู้ใหญ่ ถูกโลกมันครอบไว้ ทุกอย่างต้องเก็บไว้ แค้นนี้ต้องชำระ สิบปียังไม่สาย แล้วมะเร็งมันจะไปไหน

พอเรามาปฏิบัติแล้ว จิตมันอิสระแล้ว มันหลุดออกจากบ่วงตรงนั้น ไม่ใช่หลุดโลกแล้วหนีไปไหนนะ ก็ยังอยู่บนผิวโลกนี่ แต่มันหลุดออกจากโลกแห่งการปรุงแต่ง เข้าไปสู่สภาวะอิสระของเรา

พ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย

ถ้าหากเราเกิดความเครียด เราจะมีวิธีจัดการกับความเครียดนี้ได้อย่างไร

ง่ายมาก ก็อย่าเครียดซิ รู้ว่ามันเครียด ยังไปเครียดอยู่นี่ แต่ทําไมเราทําไม่ได้หละ กิเลสเราไม่ยอมไง เครียดนี้…ก็ไม่ต่างอะไรกับโกรธนะ เอาเป็นว่าขอให้เจริญมรรค

ที่มาของความเครียด ก็คือ “ความอยาก” นั่นหละ

อยากได้…กลัวไม่ได้ ก็คิดจนมันเครียด ใช่ไหม พอมันเครียด มันก็เลยกลัว เพราะกลัวว่า…มันจะไม่สําเร็จ อยากทั้งนั้นหละนะ ถ้าเหวี่ยงความอยากทิ้ง ทุกอย่างก็จบ
.
.
พ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย

ความกลัวเกิดจากอะไร แล้วเราจะจัดการกับความกลัวนี้ได้อย่างไร

ตอบสั้นๆคือ ความกลัว เกิดมาจาก “ความอยาก”

อยากสําเร็จ กลัวไม่สําเร็จ อยากปลอดภัย กลัวไม่ปลอดภัย ความกลัวทําให้เสื่อม ทําให้เราไม่มีพลัง

บางคนแมลงตัวนิดเดียว เราก็ไปกลัวมัน ถ้าถามแมลง แมลงพูดได้ มันบอกกลัวมนุษย์จังเลย นิดเดียวก็ตบๆ แถมเอายามาฉีดมันตายอีก มันกลัวคนมากนะ แต่เรากลับไปกลัวมันไง เราคิดเอาเอง เราก็กลัวเอาเอง เห็นมั้ย เป็นอุปาทานนะ

แล้วจะจัดการความกลัวนี้ได้อย่างไร ถ้าเจริญมรรค ความกลัวมันจะหายไปเอง เพราะว่า “มรรค” ไปแก้ที่ต้นเหตุของความกลัว ก็คือ ตัวอยาก

ต้นเหตุ คือ ความอยาก

เมื่อความอยากเราไม่มีแล้ว…เราจะกลัวอะไร
.
.
พ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย

บางคนสงสัยว่า ปฏิบัติธรรมแล้ว จะขี้เกียจหรือไม่ ? จะละทิ้งการงานที่ทำอยู่หรือไม่

เมื่อปฏิบัติแล้ว…เราจะฉลาดขึ้น เมื่อก่อนเราไม่กล้าทิ้งงาน แต่เมื่อมี “ปัญญา” แล้ว เราจะจัดเวลาได้ถูกต้อง

ที่ผ่านมา…เราไปเสียเวลากับเรื่องไม่มีสาระ แล้วทำให้ตัวเองไม่มีเวลา

.
.
พ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย

การเข้าจิตในการปฏิบัติสมาธิเหวี่ยง มีโอกาสที่ดวงจิตจะหลุดออกจากสมาธิตอนนั้นได้หรือไม่ แล้วถ้าหลุดแล้วจะไปอยู่ที่ใด

คำว่า “จิตหลุดพ้น ดวงตาเห็นธรรม” นั้น มันหลุดออกจากความเป็นทาสของอายตนะของใจ

เรื่องจิตวิญญาณค่อยๆฝึกไป เราปฏิบัติไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเรามีคำตอบได้ด้วยตัวเราเองนะ

เราไปติดที่สมาธิ บางคนก็ไปติดที่สติ สมาธิ สติ ปัญญา มันเป็นกำลังของจิต มันก็อยู่ด้วยกันนั่นหละ มันจะหลุดไปจากไหน

แต่ตอนนี้เราใช้จิตเรามาฝึกสมาธิๆ เราจึงเข้าไม่ถึงจิตในจิต เป็นแค่ความสงบชั่วครู่ แต่ปัญญาไม่เกิด

การสอนแบบแยกส่วนนี่ มันทำให้เราไปติดบ่วง เราก็ติดความคิดมองอะไรแบบแยกส่วน เอาเรื่องจิตวิญญาณมาสอนทีละขั้นตอนทีละขั้นตอน มันเลยเป็นแบบนี้ ไปติดที่สมาธิ ติดที่สติ เราเลยเข้าไม่ถึงกล่องปัญญา
.
.
พ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย