080-5519598 (คุณแก้ว) plarnkhoi@hotmail.com
Select Page

มกราคม

ถ้าไม่ยึดพุทโธในวันนั้น  ก็ไม่มีวันนี้

ถ้าวันนี้ไม่ปล่อยวางพุทโธ  ก็ไม่มีวันหน้า

กุมภาพันธ์

ชาวเขาถือผีถือสาง ถูกหาว่าหลงงมงาย

ชาวเราถือศักดิ์ถือศรี แย่งกันถือลาภยศ สรรเสริญ

ชาวเขากลัวผิดผี จึงไม่กล้าทำชั่ว ดำรงชีวิตร่วมกันอย่างศานติ

ชาวเรากลัวว่าจะแพ้ จะเสียเปรียบ แข่งขัน ขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกัน

“ใครกันแน่หลงงมงาย”

มีนาคม

คิดบวก คิดลบ ก็จัญไรเหมือนกัน

          พระพุทธศาสนาไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย ไม่ได้มองโลกในแง่ดี แต่มองโลกในแง่ความเป็นจริง ความเป็นจริง คือ ทึกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีร้าย ไม่มีดี ไม่มีถูก ไม่มีผิด ถูกผิด ดีชั่ว แง่ดี แง่ร้าย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้น เป็นสิ่งปรุงแต่ง ไม่ใช่ความจริง

          ความล้มเหลวเกิดขึ้นเพราะตั้งความหวัง เมื่อไม่สมหวังก็รู้สึกว่าล้มเหลว เมื่อไม่หวังก็ไม่มีโอกาสผิดหวัง หรือ ล้มเหลว

          คนคิดเป็น คือ คนไม่คิด ไม่ใช่คนคิดเก่ง คนคิดเก่งยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ เรียกว่า คนคิดไม่เป็น คนคิดเป็น ถ้า จำเป็น ต้องคิด ก็คิดแต่เรื่องเป็น กุศลเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และผู้อื่น ถ้า ไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องคิด คิดดีก็ทุกข์ คิดชั่วก็ทุกข์ เพราะเป็นมโนกรรม เช่นกัน

          “คิดบวกถ้าคิดบวกเพราะอยากชนะ อยากสำเร็จ โดยมีความเชื่อว่า การชนะ คือ ความสำเร็จ ความสำเร็จจะทำให้ มีอนาคต การคิดบวก เป็นเหมือนการปลุกยักษ์ภายในให้ตื่นขึ้น ที่เรียกว่าพลังด้านบวก ทำให้รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น รู้สึกหึกเหิม ดังที่ยกตัวอย่างว่า นักมวยสองคน ทำหน้าที่ชกกัน คนที่คิดบวกว่าเราต้องชนะ เราต้องทำได้ เพราะชนะ แล้วเราจะมีอนาคต ชีวิตก็จะสำเร็จ เมื่อยักษ์ภายในตื่นขึ้น ถ้าไม่สำรวมระวัง ก็จะทำอะไรแบบยักษ์ จนทำอะไรเกินความเป็นมนุษย์ ทรมานตัวเอง และเบียดเบียนคนอื่น เพียงเพื่อสนองความอยาก(ตัญหา) และการได้มาซึ่งความชนะนั้น เกิดจากการทำให้มีคนแพ้ เอาชีวิตตัวเองไปทุกข์เพื่อสร้างอนาคต เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ก็เป็นกรรม ถ้าการคิดบวกเพียงเพื่อสนองความอยาก จึงไม่ถือว่าเป็นฝ่ายกุศล เพราะความอยาก(ตัญหา) คือที่มาของทุกข์ คนคิดบวกขึ้นชกมวยบังเอิญไปพบกับคู่ชก เขาก็คิดบวกเหมือนกัน บังเอิญเขามีความสามารถมากกว่า เราจึงแพ้เขา ก็ต้องใช้การคิดบวก ปลอบใจว่าไม่เป็นไร ขยันฝึกซ้อมใหม่ โอกาสหน้ายังมี สักวันหนึ่งคงพบความสำเร็จได้ สุดท้ายแพ้ก็เจ็บ ชนะก็เจ็บ”

          “ส่วนคนคิดลบคิดว่าตัวเองคงแพ้แน่ๆ เพราะคู่ต่อสู้เขาคงเก่งกว่าเรา ยักษ์ภายในก็ไม่ตื่นขึ้น ก็ชกไปตามหน้าที่ เพราะเป็นอาชีพ พอแพ้มาก็ไม่รู้สึกเสียใจอะไร เพราะไม่ได้คาดหวัง (แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร เรายอมแพ้คนเพื่อชนะกิเลส ดีกว่าแพ้กิเลสเพื่อชนะคน) “

          “คิดบวกคิดลบก็จัญไรเหมือนกัน เพราะเป็นมโนกรรมเช่นเดียวกัน คิดบวกคือตัญหา คิดลบเป็นวิภวตัญหา ถ้าอยากรู้ว่าคิดลบดีกว่าคิดบวกอย่างไร ก็ลองหยุดคิดลบ และไม่ต้องคิดบวกดู”

          “คนคิดเป็น คือ คนไม่คิด ไม่ใช่คนคิดเก่ง คนคิดเก่งยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ เรียกว่าคนคิดไม่เป็น”

          “ธรรมเพราะธรรม : ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การทำหน้าที่ คือ หนทางมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ ตั้งมั่นทำหน้าที่อย่างดีที่สุด พรุ่งนี้ – ปีหน้า – ชาติหน้า คือ อนาคต ของวันนี้ ก็จะดีเอง”

เมษายน

ตามเหตุ ตามปัจจัย

กินก๋วยเตี๋ยวควรใช้ตะเกียบ

กินข้าวแกงควรใช้ช้อนส้อม

กินข้าวเหนียวควรใช้มือ

ที่เหมือนกันคือใช้ปากกิน

ผล คือ อิ่มเหมือนกัน

อย่าเสียเวลาไปหาคำตอบ ว่าอันไหนดีกว่ากัน

ผู้มีสติปัญญา ย่อมรู้เท่าทัน เหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเคยชินของตัวเอง

พฤษภาคม

อิสรภาพดำเนินไปพร้อมกับความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

แต่ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเพื่อรักษา ไว้ซึ่งความมั่นคงถาวร อิสรภาพก็จะสูญหายไปทันที

เพราะถูกความรู้สึกกังวลห่วงใยและความกลัวมาแทนที่

มิถุนายน

“ธรรมะที่แท้จริงไม่มีธรรมะ ไม่มีธรรมะนั่นแหละธรรมะ”

เมื่อธรรมะไม่มี เราจะไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมได้อย่างไร

ที่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมที่ได้สัมผัสนั้นเป็นเพียงธรรมารมณ์ซึ่งเป็นเพียงสภาวธรรม อย่างหนึ่ง มิใช่ธรรมที่แท้จริง ถ้าเข้าถึงธรรมที่แท้จริง ผู้เข้าถึงจะถูกฆ่าทิ้งในทันที เมื่อผู้เข้าถึงถูกฆ่าทิ้งแล้วใครจะเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นในธรรม ใครจะเป็นผู้ดำรงธรรม

กรกฎาคม

วิทยาศาสตร์ซึ่งศาสนาก็เหมือนคนแขนขาด ขาขาด

ศาสนาถ้าขาดวิทยาศาสตร์ก็เหมือนคนตาบอด

เป็นสองคำพูดที่สะท้อนให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในยุคทุนนิยมแข่งขันเสรี ซึ่งมีความคิดแบบแยกส่วน การดำรงชีวิตแบบปัจเจกบุคคลโดยมีวัตถุเป็นมาตรวัดความสำเร็จของชีวิต การแข่งขันยื้อแย่งรุนแรงขึ้นทุกวัน แย่งกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพียงแค่สนองความต้องการของตัวเอง

“จำแนกแยกแยะหาเหตุเพื่อหวังผล ยิ่งแยกยิ่งเยอะ ยิ่งแยะยิ่งสับสน”

ขบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เชื่ออะไรง่ายๆแบบหลงงมงายทุกขั้นตอนต้องผ่านการค้นคว้าวิจัยทดลองทดสอบให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความเป็นจริงตามธรรมชาติไม่ใช่มีแค่รูปธรรม แต่มีนามธรรมด้วย ร่างกายมนุษย์ไม่ได้ประกอบด้วยร่างกายอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยจิตวิญญาณด้วยซึ่งเราเรียกว่านามธรรม

ตัวอย่าง เรารูสึกปวดหัว วิทยาศาสตร์ใช้ความสามารถด้านค้นคว้าวิจัยหาวิธีรักษาบรรเทาความปวดนั้น โดยผลิตยาแก้ปวดให้ทำหน้าที่ระงับประสาทส่วนที่จะไปรับรู้อาการปวดนั้น ก็บรรเทาความปวดนั้นได้ชั่วคราว วิทยาศาสตร์ละเลยในการค้นคว้าวิจัยต้นเหตุสาเหตุที่ทำให้ปวดหัว ซึ่งเป็นเรื่องของความคิดเรื่องจิตวิญญาณเรื่องของอารมณ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายศาสนา วิทยาศาสตร์ซึ่งขาดศาสนาจึงเหมือนคนแขนขาด คือไม่ครบองค์

ศาสนาแปลว่า คำสั่งสอน หมายถึงคำสั่งสอนที่เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสัจธรรม

ศาสนาซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน นัยว่าจะต้องมีองค์ประกอบ5ประการ คือ

1 ศาสนศาสดา คือ ผู้สั่งสอนมีตัวตนปรากฏ

2 ศาสนธรรม คือสั่งสอนที่เป็นหลักปฏิบัติ

3 ศาสนบุคคล คือ ผู้สืบต่อ หรือสาวก สานุศิษย์

4 ศาสนพิธี  คือ พิธีกรรม

5 ศาสนสถาน คือ สถานที่ประกอบพิธีกรรม รวมถึงวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆของศาสนา

ศาสนาทุกๆศาสนาจึงเป็นองค์กรที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นโดยต้องมีส่วนประกอบ 5 อย่างที่กล่าวมาแล้ว คือมีผู้สอน มีหลักการสอนเพื่อปฏิบัติ มีบุคลากร มีพิธีกรรม (อุบายวิธี) และมีสถานที่ในการดำเนินกิจกรรม

ศาสนาจึงมิใช่สิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นองค์กรที่มนุษย์สมมติขึ้น ศาสนาจึงเป็นสมมติบัญญัติ ศาสนาจึงแตกแขนงเป็นหลายลัทธินิกาย ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล ตัวศาสนาเองจึงมิใช่สัจธรรม

ประโยชน์ของศาสนาคือเป็นกลไกเครื่องมือขับเคลื่อนคำสอนของศาสดาทุกศาสดา ที่ผ่านมาการทดลองทดสอบ ค้นคว้าวิจัยทางจิตวิญญาณจนเข้าถึงสัจธรรมความจริงของธรรมชาติ โดยเฉพาะในทางพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้สัจธรรมความจริงซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่4ประการที่เรียกว่าอริยสัจ4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค  เป็นความจริงที่ทุกคนสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง และเป็นความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อีกกี่ล้านปีข้างหน้าก็ไม่มีใครสามารถลบล้างความจริงนี้ได้ และเป็นความจริงที่ต้องพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองเท่านั้น ภาษาเพียงแค่พูดให้รู้เฉยๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง

ฉะนั้นการนับถือศาสนาเพราะคนอื่นบอกให้เรานับถือ หลับหูหลับตานับถือตามกระแส โดยไม่มีการค้นคว้าวิจัย ทดลองทดสอบปฏิบัติ พิสูจน์ให้สัมผัสความจริงแบบวิทยาศาสตร์ จึงเปรียบเสมือนคนตาบอด ไม่สามารถได้เห็นความจริง มีแต่ความจำที่คนอื่นยัดเยียดให้เรา กลายเป็นความเชื่อ การนับถือที่หลงงมงาย ไปหลงในรูปแบบอุบายวิธี ทั้งๆที่ศาสนธรรมของทุกๆศาสนาส่วนใหญ่ต้องมีหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงถ่ายทอดผ่านมาเป็นเวลาหลายพันหลายร้อยปี แต่บุคลากรในศาสนาในยุคนี้ ที่ไม่ลาภ ยศ สรรเสริญเป็นเป้าชีวิต ถ้าไม่สำรวมระวังก็ถูกครอบงำด้วยกิเลส ตัณหาอุปาทาน จึงใช้อุบายวิธีที่ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง บางทีเอาสวรรค์มาล่อ เอานรกมาขู่ ทำให้ศาสนชนที่ยังไม่เข้าถึงสัจธรรมความจริง ก็ถูกครอบงำด้วยความรู้ผิด

ศาสนาซึ่งขาดวิทยาศาสตร์จึงเปรียบเสมือนคนตาบอด

สิงหาคม

นิพพานเป็นอย่างไร นิพพานไม่ได้เป็นอะไร ถ้ายังเป็นอยู่ก็ไม่ใช่นิพพาน นิพพานโดยลักษณะมีอยู่3ประการคือ
1 อนิมิตตนิพพาน คือนิพพานดับรูปนาม ไม่มีนิมิตเครื่องหมายใดๆ
2 อัปปณิหิตนิพพาน คือนิพพานดับรูปนาม ไม่มีราคะ โทสะ โมหะเหลืออยู่อีก
3 สุญญตนิพพาน คือนิพพานดับรูปนาม ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ สูญสิ้นจากกิเลส อาสวะและขันธ์5 ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

นิพพานโดยธาตุแท้แล้วมีอยู่2ประเภท
1 สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังมีอุปาทิ คือขันธ์5เหลืออยู่ และได้ละกิเลสอาสวะไปหมดสิ้นแล้ว ไม่มีอะไรเหลืออยู่
2 อนุปาทิเสสนิพพาน ได้แก่พระอรหันต์ที่เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว คือดับขันธ์แล้ว

กันยายน

เรียนจบปริญญาเอกทางด้านภาษาแต่พูดกันไม่รู้ภาษา เพราะไม่มีทักษะในการใช้ภาษา

คนพูดเป็นไม่ใช่คนพูดเก่ง

คนพูดเก่งยิ่งพูดยิ่งขัดแย้ง เรียกว่าคนพูดไม่เป็น

คนพูดเป็นถ้าจำเป็นต้องพูดก็พูดแต่เรื่องที่เป็นกุศล

เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น

ตุลาคม

ศูนย์กลางชีวิตไม่อยู่ที่สะดือ แต่อยู่ที่กรรม(จตุปาตญาณ) ญาณรู้ว่าด้วยการเกิดเพราะกรรม ตายเพราะกรรม เป็นชีวิตในวัฏสงสาร

ส่วนชีวิตปัจจุบันทางกายภาพ ศูนย์กลางอยู่ที่ใจ ถ้าหัวใจหยุดเต้นเมื่อไหร่ชีวิตก็จบลง

ส่วนทางจิตวิญญาณนั้น ศูนย์กลางอยู่ที่จิต จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ทุกอย่างจบอยู่ที่จิต อย่ากดให้จิตอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เพียงเพื่อแลกกับความสงบชั่วครู่ ปัญญาไม่เกิด จิตไม่เป็นอิสระ ปล่อยจิตให้ดำเนินได้ตามธรรมชาติ ลื่นไหลไปตามฐานทั้ง4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเรียกว่าสติปัฏฐาน4 พัฒนาไปสู่ความเป็นมหาสติปัฏฐานจึงมีกำลังพอที่จะระลึกรู้อดีตกรรมได้ และนำอดีตบารมีมาต่อยอด ( บุญเก่า+บุญใหม่คือผล) เพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์

กบในกะลา In the box

อยู่ในอัตตา ทิฐิ มานะ ไม่เปิดโลกทัศน์ ยึดมั่นถือมั่นกับความเคยชิน ไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง อุปนิสัย(กิเลส) ใจ(มโน) คอ(วจี) กรรม(เจตนา) จิตอาสาถ้าทำด้วยอุดมการณ์ มีเมตตา กรุณา แต่ไม่มีมุทิตา อุเบกขา ทำแล้วภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเอง พอไม่ได้ดังใจเลยเสียใจ สร้างมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมโดยทิ้งงานที่ทำ

พฤศจิกายน_

จงวาง ความสงบ สะอาด สว่าง ว่าง ข้ามพ้นสุขวิปลาส ซึ่งเป็นเมถุนสังโยชน์ เข้าสู่สุญญตา จึงจะพบกับความอิสรภาพอย่างแท้จริง

ธันวาคม

ส่วนประกอบแผนที่ชีวิต

ส่วนประกอบแผนที่ชีวิต-01

ส่วนประกอบแผนที่ชีวิต-08

1.ชีวิตคืออะไร
2.ชิวิตประกอบขึ้นด้วยอะไร?
3.ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างไร
4.สิ่งที่ชีวิตต้องสัมพันธ์ด้วยคืออะไร?
5.จุดจบของชีวิตเป็นอย่างไร
6.ชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร

1.ชีวิตคืออะไร
ชีวิตคือความเป็น ความอยู่ยังไม่ตาย ยังมีลมหายใจอยู่

2.ชิวิตประกอบขึ้นด้วยอะไร?
ชีวิตประกอบขึ้นด้วยร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ส่วนประกอบทั้ง 3 อย่างนี้ อาศัยซึ่งกันและกัน จึงทำให้เป็นมนุษย์มีชีวิตจิตใจขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ ส่วนประกอบทั้ง 3 อย่างนี้ เมื่อจัดเข้าเป็นเบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ 5
-ร่างกาย คือ รูปขันธ์ ประกอบด้วย ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเรียกว่า รูป
-อารมณ์ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก
-จิตใจ คือ วิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิต
ขันธ์ทั้ง 5 รวมกันแล้ว คือ รูปธรรม และ นามธรรม หรือ รูป-นาม

3.ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างไร
ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัย 4 อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค  ถ้ามีปัจจัย 4 สมบูรณ์แล้ว ชีวิตก็ดำรงอยู่ได้ มีความสุขตามอัตภาพ

4.สิ่งที่ชีวิตต้องสัมพันธ์ด้วยคืออะไร?
สิ่งที่ชีวิตต้องสัมพันธ์ด้วยตลอดเวลา  คือ กามคุณทั้ง 5 หรือ เรียกว่าอายตนะภายนอกทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และก็มารับรู้อารมณ์ที่ใจ   รูปกระทบทางตา  เสียงกระทบทางหู  กลิ่นกระทบทางจมูก  รสกระทบทางลิ้น  สัมผัสกระทบทางกาย  ถ้าไม่เฝ้าระวัง ผัสสะที่กระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะส่งผลให้เกิดอารมณ์ที่ใจ  ถ้าไม่ระวังก็ส่งผลให้ไปสร้างกรรมดี หรือ กรรมชั่ว ประทับจิตติดวิญญาณ  กลายเป็นวิบากกรรมส่งผลข้ามภพข้ามชาติ

5.จุดจบของชีวิตเป็นอย่างไร
จุดจบของชีวิตทุกชีวิต  คือ  ความตาย  คือ ร่างกายไม่มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก  ความตาย  คือ  จิตจุติ  เคลื่อนออกจากร่างกาย  ไปเกิดหรือ ปฏิสนธิใหม่ตามผลแห่งกรรม  สภาพที่ต้องไปเวียนเกิดเวียนตายนั้น  คือ สังสารวัฏ  คนตายจิตไม่ตาย

6.ชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร

ชีวิตเกิดขึ้นได้เพราะรูปนามมารวมกัน เหตุที่ก่อให้เกิดรูปขึ้นมีอยู่ 4 ประการ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร

กรรม : เป็นธรรมชาติที่ทำให้เกิดรูปขึ้น คือ รูปที่เกิดจากกรรมเป็นเหตุ เรียกว่า “กรรมชรูป” ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ความเป็นหญิง ความเป็นชาย หัวใจและชีวิตรูป

จิต : เป็นธรรมชาติที่ทำให้เกิดรูปขึ้น คือ รูปที่เกิดจากจิตเป็นเหตุ เรียกว่า “จิตตชรูป” ได้แก่ รูปการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกอิริยาบถ และรูปการพูดจา หัวเราะ ร้องไห้ ดีใจ เสียใจ

อุตุ : เป็นธรรมชาติที่ทำให้เกิดรูปขึ้น คือ รูปที่เกิดจากอุตุเป็นเหตุ อุตุ คือ ความร้อนเย็น เรียกว่า “อุตุชรูป” ได้แก่ รูปซึ่งเกิดจากความร้อน และรูปซึ่งเกิดจากความเย็น ความร้อนทำให้รูปขยายตัว ความเย็นทำให้รูปหดตัว

อาหาร : เป็นธรรมชาติที่ทำให้เกิดรูปขึ้น คือ รูปที่เกิดจากอาหารเป็นเหตุ เรียกว่า “อาหารชรูป” ซึ่งต้องอาศัยโอชา คือ รสชาติและคุณค่าของอาหารที่รับประทานเข้าไป ไม่เฉพาะแต่โอชาที่อยู่ในอาหารต่างๆเท่านั้น แม้ในยาบางชนิด เช่น วิตามินต่างๆ ก็มีโอชาอยู่ด้วยกัน ฉะนั้นเมื่อใช้ ฉีด กิน หรือ ทายา ก็ทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นได้เช่นเดียวกัน สำหรับทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา เมื่อมารดากินอาหารเข้าไปโอชาก็แผ่ซึมซาบเข้าสู่ร่างกายของทารก ทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาติดต่อกันไม่ขาด ตราบจนสิ้นชีวิต