080-5519598 (คุณแก้ว) [email protected]
Select Page

มกราคม

ตัวกูของกู : คำพูดนี้ถ้าใครติดตามธรรมทานของพระอาจารย์พุทธทาสก็คงรู้ทันที  ว่าเป็นวลีที่ท่านใช้เพื่อเตือนสติให้ระวังเรื่องความยึดมั่นถือมั่น  จนกลายเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมา  ถ้าพิจารณาภาษา  คำว่า  กูในยุคนี้  ความเคยชินจะทำให้รู้สึกว่าเป็นภาษาที่หยาบไม่สุภาพ  กรรมชี้เจตนา  เนื่องจากผู้ที่มีความเคารพศรัทธาในพระอาจารย์พุทธทาส  จึงยอมรับในเจตนาที่บริสุทธิ์ของท่าน  ถึงจะเป็นคำด่าก็กลายเป็นคำสอน  แต่ถ้าศรัทธาไม่มี  คำสอนก็กลายเป็นคำด่า

         การอ้างถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เพื่อเป็นธรรมาธิษฐาน หรืออ้างถึงครูบาอาจารย์หรือบุคคลต่าง ๆ เพื่อเป็นบุคลาธิษฐาน ซึ่งยังประโยชน์ให้ผู้ฟังพึงเกิดสุตมยปัญญา ก็คือการประกาศพรหมจรรย์ชี้ทางพ้นทุกข์ให้สัตว์โลก ซึ่งเป็นประสงค์ของพระพุทธเจ้า  สำคัญอยู่ที่ผู้นำเสนอว่ามีเจตนาที่ทำเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ หรือเป็นการให้ธรรมทานอย่างบริสุทธิ์ที่แท้จริง

         ยุคทุนนิยมแข่งขันเสรีโดยมีวัตถุเป็นตัวแข่งขัน ใช้เครื่องมือทางธุรกิจนิยมขับเคลื่อนลัทธิความเชื่อ ความรู้ต่าง ๆ กลายเป็นสินค้า เป็นลิขสิทธิ์  การสื่อสารต่าง ๆ ถูกระบบธุรกิจนิยมครอบงำ  การแข่งขันยื้อแย่งทำให้ผู้คนในสังคมเกิดวิตกจริต เกิดความระแวงซึ่งกันและกัน เพราะกลัวจะเสียเปรียบ กลัวว่าจะแพ้  อารมณ์กลัวครอบงำสติ ทำให้มองไม่เห็นถึงเจตนาของผู้ทำ เห็นเพียงกิริยาภายนอกแล้วจับถูกจับผิดกัน  สื่อต่าง ๆ น่าจะเป็นเวทีแข่งขันประสบการณ์หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามขึ้นในสังคม  ปัจจุบันความคิดแบบธุรกิจนิยม ทำให้ใช้เวทีสื่อเป็นแค่เครื่องมือประชาสัมพันธ์เพื่อจะขายความรู้ และใช้เป็นเวทีตั้งศาลเตี้ยขึ้นมาจับถูกจับผิดกัน ตัดสินถูกผิดตามอำเภอใจโดยยังมิได้ศึกษาถึงเจตนาของผู้นำเสนอ จึงเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสังคมมากทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น

         ถ้าความรู้กลายเป็นสินค้า เป็นลิขสิทธิ์ ก็แสดงออกถึงความเป็นตัวกู ของกู จึงเป็นแค่การซื้อการขายมิใช่เป็นการให้ธรรมทาน  ธรรมทานซึ่งเป็นความบริสุทธิ์ไม่มีต้นทุน ไม่มีกำไร ไม่มีขาดทุน ไม่มีราคา มีแต่คุณค่า ทั้งของผู้ให้และผู้รับ  ถ้าจะมีใครมาเลียนแบบนำไปใช้ก็ต้องรู้สึกอนุโมทนาสาธุด้วย เพราะสิ่งที่ให้ได้ไปใช้ประโยชน์ แต่ปัจจุบันความรู้กลายเป็นสินค้า เป็นลิขสิทธิ์ ใครมาลิดรอนไม่ได้ เหมือนสื่อซึ่งเป็นหนังสือ การจัดพิมพ์หนังสือก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์ การโฆษณาการตลาดต่าง ๆ เป็นเรื่องของธุรกิจ จึงมีลิขสิทธิ์เรื่องรูปเล่ม หรือชื่อเรื่อง เพราะป้องกันไม่ให้มีการเลียนแบบหรือแปลกปลอมก็เป็นเรื่องที่พอรับได้ แต่ถ้าลิขสิทธิ์แม้กระทั่งคำพูดซึ่งเป็นภาษา เป็นอักษร ซึ่งบรรพบุรุษเป็นคนสร้างขึ้น แล้วคนรุ่นนี้ก็มาตบแต่งภาษาซึ่งใช้อักษรซึ่งเป็นของส่วนรวมของทุกคน กลายมาเป็นลิขสิทธิ์ของตัวเอง ต่อไปก็พูดอะไร เขียนอะไรออกมาไม่ได้เลย เพราะถูกลิขสิทธิ์ไว้หมดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง  บางครั้งการแสดงธรรมหรือการให้ธรรมทานโดยเอ่ยอ้างถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อเป็นบุคลาธิษฐาน เพื่อให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น  ดังเช่นการยกตัวอย่าง องคุลีมาล ก็รับรู้ได้เลยว่าเป็นผู้ที่ฆ่าคน 999 คน แล้วตัดนิ้วมาแขวนคอ แต่สุดท้ายก็บรรลุธรรมได้ในชาตินั้น  และถ้าเอ่ยถึงพระอานนท์ ถามว่าใครมีความรู้มากกว่าพระอานนท์ ซึ่งเป็นผู้รับใช้พระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด จดทุกคำพูดที่พระองค์ตรัส  ทำไมจึงยังไม่พ้นทุกข์จนเวลาที่ปล่อยวางจะเอนลงไปนอนเกิดบรรลุกลางอากาศ  การเอ่ยถึงบุคคลก็เพื่อให้เข้าใจเรื่องการบรรลุธรรมก็เป็นเรื่องของนานาจิตตัง ไม่มีสูตรตายตัวว่าทุกคนต้องทำเหมือนกัน บรรลุเหมือนกัน  สิ่งสำคัญการเอ่ยอ้างบุคคล หรือคำพูดของบุคคลนำมาเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ อยู่ที่วัตถุประสงค์ว่าเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง หรือเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคสื่อ  คนอื่นไม่รู้ จิตตัวเองย่อมรับรู้  ถ้าทำเพื่อตัวเองจะได้ผลประโยชน์ก็คือ ความโลภ  ถ้าทำเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ก็เป็น ธรรมทาน  “กรรม ชี้เจตนา”

กุมภาพันธ์

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นวันมาฆบูชา  ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฎิโมกข์  ในทางศาสนาถือว่า เป็นวันแห่งพระธรรมจึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  ซึ่งมีหลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6
หลักการ 3 คือ
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม
3. การทำจิตใจให้ผ่องใส

อุดมการณ์ 4 คือ
1.ความอดทน อดกลั้น ต่อการทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
2.ความไม่เบียดเบียน งดเว้นจากการทำร้าย หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
3.ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ
4.นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

วิธีการ 6 คือ
1.ไม่ว่าร้าย
2.ไม่ทำร้าย
3.สำรวมในปาติโมกข์
4.รู้จักประมาณ
5.อยู่ในสถานที่สงัด
6.ฝึกหัดจิตใจให้สงบ

         สรุป คือ ไม่สร้างวจีกรรม  ไม่สร้างกายกรรม  อยู่ในมรรคในทาง  โดยยึดหลักทางสายกลาง  เลือกสถานที่สัปปายะฝึกเจริญภาวนาเพื่อความสงบ

มีนาคม

กาลามสูตร

1. อย่าเพิ่งเชื่อ ตามที่ฟังกันมา
2. อย่าเพิ่งเชื่อ ตามที่ทำต่อๆกันมา
3. อย่าเพิ่งเชื่อ ตามเค้าเล่าลือ
4. อย่าเพิ่งเชื่อ ด้วยอ้างตำรา
5. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยนึกเดา
6. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยคาดคะเนเอา
7. อย่าเพิ่งเชื่อ โดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
8. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะถูกกับทฤษฎีของตน
9. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะมีรูปลักษณะที่ควรเชื่อได้
10.อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะผู้พูดเป็นครูอาจารย์ของตน

เป็นสูตรซึ่งมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์โดยไม่สรุปโดยการเชื่อ  แต่ต้องลงมือปฏิบัติทดลองทดสอบด้วยตนเอง  โดยเฉพาะข้อ2 อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆกันมา  เช่นอุบายวิธีในการฝึกจิตที่ทำต่อๆกันมา  ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด  แต่บางครั้งไม่ทันยุคทันสมัย  ไม่ทันต่อเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง  ในขณะที่กิเลสพัฒนาไปตามเทคโนโลยี  กิเลสขี่จรวจ  ใช้อาวุธนิวเคลียร์  ถ้าเรายังฝึกขี่คอช้าง ถือเงี้ยวถือง้าวฟันดาบ  โดยคิดแบบอนุรักษ์นิยมเพื่อรักษารูปแบบที่เคยชิน  ย่อมตามไม่ทันเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง  หลักการทางพุทธศาสนาคือการไม่ทำบาปทั้งปวง  การทำกุศลให้ถึงพร้อม  การทำจิตใจให้ผ่องใส  จึงเป็นสัจธรรมซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  แต่เทคนิคอุบายวิธีน่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง

เมษายน

กัลยาณมิตรเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นกระจกเงาส่องสะท้อนให้เห็นซึ่งกันและกัน หลายเดือนที่ผ่านไปหลังจากหนังสือสามชั่วโมงบรรลุธรรม  ได้ถูกนำเสนอต่อสังคมในวงกว้าง  ได้รับความเมตตาจากกัลยาณมิตรเป็นอย่างดี  โดยให้ข้อคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  ไม่ใช่ฝ่ายลบหรือฝ่ายบวก  ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด  แต่ล้วนมีประโยชน์อย่างยิ่ง  โซเชียลมีเดียในยุคนี้ถ้าใช้เป็นสื่อกลาง  แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สังคมจะได้ประโยชน์อย่างมากมาย  แต่ถ้าไม่ระวังกันเอง  เป็นเวทีตั้งศาลเตี้ยห้ำหั่นกัน  ตัดสินถูกผิดจะเป็นเรื่องอันตรายมาก  จะไม่มีใครได้ประโยชน์  แถมทำให้เกิดการขัดแย้งกันโดยใช่เหตุ

พ่อครูขออนุโมทนาบุญกับกัลยาณมิตรทุกท่าน  ที่ให้ความเมตตาให้ข้อคิดเห็นมา  แต่ขอออกตัวก่อนว่าพ่อครู  24 ปีที่ถอยชีวิตไปอยู่ในป่านั้น  พ่อครูใช้โทรศัพท์ไม่เป็น  โซเชียลมีเดียต่างๆก็ใช้ไม่เป็น  ได้ข่าวสารบ้างก็อาศัลกัลยาณมิตรที่อยู่ข้างตัวรายงานให้รู้

เร็วๆนี้ก็ได้รับคำบอกเล่าว่า  มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งส่งข้อคิดเห็นมาว่า  ได้ฟังคำบรรยายของพ่อครูแล้ว  รู้สึกชอบและพอรับได้  แต่พอตามไปดูในเว็บไซท์  เห็นที่ศูนย์พลาญข่อยมีการสร้างพระใหญ่  หลวงพ่อทันใจ  และสร้างตำหนักพระโพธิสัตว์กวนอิม  จึงมีความรู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังคำบรรยายของพ่อครู  โดยให้ข้อคิดว่า  “ไหนว่าวางแล้วทำไมยังยอมให้เขาสร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ที่ศูนย์”

คำว่า  “ว่าง”  ไม่ได้แปลว่า  ไม่มีอะไรเลย  ว่างจากอัตตา(สุญญตา)  คือ  ว่างจากมีอัตตา ส่วนวัตถุภายนอก  เช่น  พระพุทธรูป  หรือ  รูปเหมือนพระโพธิสัตว์กวนอิมต่างๆ  เป็นแค่สัญลักษณ์  เป็นสมมุติอย่างหนึ่ง  มีก็เหมือนไม่มี  คำว่านานาจิตตัง  คนเราถูกบ่มเพาะความเคยชินต่างกันสะสมมายาวนานหลายชาติ  ทำให้เกิดเป็นจริตที่ต่างกัน  เลยต้องสร้างอุบายวิธีที่ต่างกัน

สุญญตา  คือ  ว่างจากอัตตา  ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นกับความเชื่อของเรา  แล้วไปกล่าวโทษคนอื่นที่เขาไม่เชื่ออย่างเรา  เป็นการทำลายสมมุติบัญญัติของคนอื่น  เป็นกรรมใหม่เพราะมีการเบียดเบียนเกิดขึ้น  เรายึดแนวทางที่เราเชื่อเราศรัทธาอย่างมีสติ  แล้วตั่งมั่นดำเนินไปตามจริตของเราเป็นเรื่องปกติ  แต่ถ้าเรายึดมั่นถือมั่น  กับความเชื่อของเราจนไปกล่าวโทษคนอื่น  ที่เขามีความเชื่อไม่เหมือนเรา  ก็กลายเป็นอัตตาของเรา  เราก็ถูกอัตตาครอบงำเช่นเดียวกัน

ว่างไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไร  ร่างกายเราประกอบด้วยขันธ์ 5  เราปฏิเสธไม่ได้ว่าขันธ์5 มีอยู่  เพียงแค่อย่าไปหลงยึดติดในขันธ์นั้น  ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์นั้น  ความเปลี่ยนแปลงของขันธ์นั้นก็ไม่มีผลอะไรกับเรา  ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงตามเหตุ  ตามปัจจัย  ตามธรรมชาติ  เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  เราไปหยุดความเปลี่ยนแปลงไม่ได้  เพราะมันคือความจริงตามธรรมชาติ  สิ่งที่เราทำได้คือรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้นและยอมรับมัน  เป็นทางเดียวที่จะพ้นทุกข์

ทางสายกลางไม่ได้หมายความว่าอยู่ตรงกลางระหว่างขาวกับดำ  สว่างกับมืด  แต่หมายถึงไม่ปฏิเสธขาวกับดำ สว่างกับมืดเพราะเราปฏิเสธความจริง ตามธรรมชาติที่เป็นของคู่ไม่ได้ เพียงแค่ยอมรับและรู้เท่านั้น ไม่ไปหลงติดและไปสุดโต่งส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ชอบขาวและปฏิเสธดำ ชอบสว่างแล้วไปปฏิเสธมืด เราจะไปชอบหรือปฏิเสธมืด เราจะไม่ชอบหรือปฏิเสธอย่างไร คู่ก็ยังคงมีอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีสกปรกก็ไม่มีสะอาด ไม่มีสะอาดก็ไม่มีสกปรก คนเราไปสมมุติฐานว่าความสะอาดเปรียบเหมือนสีขาวสีดำเลยถูกสมมติว่าสกปรก แต่ความเป็นจริงแล้วสีดำที่สะอาดก็มีมากมาย สีขาวที่สกปรกก็เยอะ สมมุติฐานก็คือสมมุติฐาน ถ้าไปหลงติดในสมมุติฐานแล้ว บางทีก็ทำให้พลาดโอกาสในการได้เห็นความเป็นจริง

บางครั้งทุกคนมองเห็นว่านาย ก. ผลักเด็กคนหนึ่งล้มลงไป พอเด็กคนนั้นลุกขึ้นมาก็ชี้ตัวว่านาย ก. เป็นคนผลัก .นาย ก. ถูกจับไปลงโทษ ทุกคนรู้สึกพอใจที่นาย ก. ถูกลงโทษ ทั้งๆที่นาย ก. เห็นงูกำลังจะกัดเด็กคนนั้น นาย ก. ผลักเด็กคนนั้นเพื่อให้พ้นจากการถูกงูกัด นาย ก. จึงกลายเป็นคน ทำคุณได้โทษ ทุกคนเห็นจริงว่านาย ก. ผลักเด็กคนนั้น แต่ไม่เห็นเวลาที่นาย ก.  ทำอย่างนั้นเพื่ออะไร บางครั้งจึงอย่าเชื่อสายตาตัวเองมากเกินไป พลาดพลั้งไปกล่าวโทษผู้บริสุทธิ์จะเป็นการสร้างความหนัก อย่าดูแค่กิริยาภายนอก ต้องดูเข้าไปถึงเจตนาข้างใน   “กรรมชี้เจตนา”

“อดีตเห็นภูเขาเป็นแหล่งทรัพยากร
เห็นแม่น้ำเป็นแหล่งพลังงาน
ปัจจุบันเห็นภูเขาเป็นภูเขา
เห็นแม่น้ำเป็นแม่น้ำ”

“เห็นจริงแต่สิ่งที่เห็นมันไม่จริง”

พฤษภาคม

คิดลบคิดบวกก็เป็นของคู่ ล้วนเกิดจากตัวตัณหาเหมือนกัน
สมุทัยหรือตัณหา คือ เหตุแห่งทุกข์ นักมวยคิดลบคิดบวกเป็นมโนกรรมเหมือนกัน แพ้ก็เจ็บชนะก็เจ็บ
ความสุขเกิดขึ้นไม่ได้จากการเบียดเบียน
เพราะคิดว่าตนเองยังขาด จึงแสวงหาสิ่งมาชดเชย
เพราะไม่พอใจเพียงแค่มี จึงเติมไม่มีวันเต็ม
ยังกระเสือกกระสนแสวงหาอยู่ไม่มีวันสำเร็จ สำเร็จแปลว่าเสร็จแล้ว ไม่มีปัญหาที่จะต้องแก้ไขอีก
เหตุแห่งทุกข์คือตัวตัณหา ไม่ใช่เป็นเพราะไม่มี แต่เป็นเพราะอยากมี
แค่ขยันขันแข็งก็เพียงพอ ดิ้นรนขวนขวายมากไป อยู่เย็นเป็นสุขก็เพียงพอ มั่งมีศรีสุขมากไป

ยุคแข่งขันเสรี  ผู้คนถูกบ่มเพาะว่าต้องชนะถึงจะดี  ถึงเรียกว่าสำเร็จ  ทุกคนก็เกิดวิตกจริตกลัวที่จะแพ้  จึงแสวงหาเทคโนโลยีใหม่  เพื่อเป็นอาวุธในการต่อสู้  รวมทั้งสร้างจินตนาการ โดยการคิดบวกเพียงเพื่อจะได้มา  ซึ่งสิ่งที่กิเลสตนเองต้องการ

         คน 8 คนวิ่งร้อยเมตรแข่งกัน  ต่างคนต่างคิดบวกด้วยกันว่าจะต้องชนะแน่นอนเพราะเราเป็นคนเก่ง  เราแข็งแกร่งกว่าใครๆ  สุดท้ายแล้วก็มีผู้ชนะแค่คนเดียว

ชนะแล้วก็ดีใจ  แล้วก็กลัวว่าจะแพ้อีก  ความกลัวทำให้เสื่อม  แล้วก็ต้องคิดบวกอีกเพื่อกลบเกลื่อนความกลัว

“คนคิดเป็นคือคนไม่คิด  มิใช่คนคิดเก่ง  คนคิดเก่งยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์  เรียกว่าคนคิดไม่เป็น”

วลีอมตะของ เดการ์ด ที่ว่า “I THINK THERE FORE I AM” “ข้าพเจ้าคิด ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีตัวตน” เป็นคำพูดซึ่งมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว คิดอย่างไรเป็นอย่างนั้น ความคิดคือมโนกรรม เป็นตัวสร้างตัวตน สร้างอัตตา สร้างสัญญา คณะสัญญากั้นบังอนัตตา เป็นการพอกพูนอัตตา ทำให้เข้าไม่ถึงอนัตตา

การคิดบวกจึงเป็นแค่อุบายวิธีหรือเทคนิคในการเล่นเกมได้เสีย  มิใช่หนทางพ้นทุกข์ของชีวิต

“ไม่คิดลบก็ไม่ต้องคิดบวก”

“ธรรมะคือหน้าที่  หน้าที่คือธรรมะ”

         “ทำเพราะธรรม”

มิถุนายน

ชาวบ้าน  ชาวเมือง  ชาวป่า  สามคนนั่งคุยกัน  มีคนตะโกนบอกว่า  มีงูตัวใหญ่มากกำลังเลื้อยมา
ชาวเมืองได้ยินแล้วรีบวิ่งหนีไป
ชาวบ้านรีบวิ่งหาท่อนไม้แล้ววิ่งไปหางู
ชาวป่ากำลังนั่งงงอยู่ว่าคนพวกนี้กำลังทำอะไรอยู่  คนหนึ่งวิ่งหนี  คนหนึ่งวิ่งใส่
เรื่องเดียวกัน  สามคนสามความรู้สึก  เพราะบันทึกสัญญาไว้ต่างกันจึงเกิดอุปาทานที่ต่างกัน
ชาวเมืองมีบันทึกสัญญาว่างูน่ากลัวโดนกัดถึงตาย
ชาวบ้านมีบันทึกสัญญาว่างูเป็นอาหารชั้นเลิศ
ส่วนชาวป่านั้นอยู่กับงูจนเป็นปกติจึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ
“ทุกข์ สุข เกิดขึ้นเพราะอุปาทาน”

กรกฎาคม

ผลสำรวจขององค์กร (PEW) ปี ค.ศ.2010 จากประชากรโลกจำนวน  6,872 ล้านคน  มีผู้นับถือ

ศาสนาคริสต์                                    จำนวน                 2,200  ล้านคน
ศาสนาอิสลาม                                  จำนวน                 1,600  ล้านคน
ไร้ศาสนา                                          จำนวน                 1,100  ล้านคน
ศาสนาฮินดู                                       จำนวน                 1,000  ล้านคน
ศาสนาพุทธ                                   จำนวน               500  ล้านคน
นับถือธรรมชาติ  ภูติผี  เทพ              จำนวน                 400  ล้านคน
ศาสนาบาไฮ  เต๋า  ชินโต  ซิกข์        จำนวน                  58  ล้านคน
ศาสนายิว                                          จำนวน                   14  ล้านคน
                                                       รวม                      6,872  ล้านคน

ถ้าดูจากจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาต่างๆแล้ว  ศาสนาพุทธอยู่ระดับที่ 5  มากกว่าคนนับถือภูติผีและเทพเจ้าเล็กน้อย   ถ้าในเชิงเปรียบเทียบไม่ใช่ในเชิงแข่งขันแย่งชิงมวลชน  มีแนวโน้มคนในส่วนที่ไร้ศาสนาจะเพิ่มมากขึ้นทุกที  ผู้คนในยุคสมัยนี้ติดยึดกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์  ต้องการคำตอบซึ่งมีเหตุผลแบบตรรกะ  โดยเฉพาะความคิดแบบทุนนิยม  วัตถุนิยม  ซึ่งใช้การแข่งขันเสรีเป็นเครื่องมือเพื่อกระตุ้นการบริโภคนิยม  เพื่อส่งเสริมการขาย  เป้าหมายเพื่อเพิ่มตัวเลขทุนให้มากขึ้น  จึงมองว่าศาสนาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทำให้มีทุนมากขึ้น  ศาสนาจึงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต  ทุกศาสนาถ้าไม่ปรับเปลี่ยนขบวนทัศน์ในการนำเสนอ  หรือปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ซึ่งต้องแข่งขันเร่งรีบแล้ว

ศาสนาที่ยังคงเหลืออยู่ก็คงเป็นแค่สัญลักษณ์ของพิธีกรรมทางวัฒนธรรมเท่านั้นเอง

“ยาวิเศษถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์  ก็คือ ขยะ  ซึ่งเป็นส่วนเกินของสังคมเท่านั้นเอง”

สิงหาคม

” ขันติ คือ ความอดทนอดกลั้นต่อความอยาก ไม่ใช่อดทนอดกลั้นเพื่อสนองความอยาก”

” ความอยากคือที่มาของทุกข์ ”

กันยายน

สัมมัปปธาน 4

ป้องกัน + กำจัด——- อกุศล
เพิ่มเติม + รักษา——- กุศล

ตุลาคม

” ถ้าศรัทธา เสื่อม คำสอนกลายเป็นคำด่า

ถ้าศรัทธา มี คำด่ากลายเป็นคำสอน”

พฤศจิกายน_

การศึกษา ใฝ่ เรียนรู้ หรือ การศึกษารู้ วิธี เรียนรู้ แต่ระบบการศึกษาปัจจุบันเป็นแค่การศึกษาเรียนรู้วิชาการ และ วิชาการส่วนใหญ่เป็นความรู้ซึ่งเกิดจากการท่องจำเลียนแบบความรู้ ซึ่งเป็นของคนอื่นจัดตั้งขึ้นมา ผู้เรียนเป็นแค่นักเรียนแบบไม่ใช่นักเรียนรู้

กระบวนการจัดการศึกษา เริ่มจากการวางนโยบาย การบริหารจัดการ การจัดหลักสูตรขบวนการเรียนการสอน การติดตามประเมินผล

ธันวาคม

อดีตประธานาธิบดีเนลสัน เมเดลล่า  ได้กล่าวไว้ว่า  มนุษย์เราไม่ได้เกลียดชังกันตั้งแต่กำเนิด  การเกลียดชังเกิดขึ้นจากการบ่มเพาะขึ้นมาทีหลัง

การแก้ปัญหาความเกลียดชังในแนวพุทธ  ต้องเริ่มต้นที่อภัยทาน  แล้วค่อยๆจางคลายอารมณ์เกลียดชังนั้นไป  โดยยึดหลักเมตตาธรรม  เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

แต่ผู้คนในทุกวันนี้  เนื่องจากการแข่งขันยื้อแย่ง  ความยึดมั่นถือมั่นในความคิดตัวเอง  และความเชื่อว่าตัวเองถูก คนอื่นผิด ครอบงำสติ  จนลืมไปว่าถ้าไม่มีคนผิดเราจะให้อภัยใคร

ทั้งหมดทั้งปวงคือ  เราไม่รู้ว่าเราเป็นใคร  มาจากไหน  เกิดมาทำไม  ตายแล้วไปไหน  ความสุขที่แท้จริงคืออะไร?

บรรพบุรุษทิ้งปริศนาธรรมไว้ให้เราว่า  “สี่คนหาม  สามคนแห่  สองคนนั่งแคร่  หนึ่งคนพาไป”

สี่คนหาม  ตามที่ผู้รู้ตีความหมายถึงธาตุ 4 ซึ่งประกอบด้วย  ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  ประกอบกันขึ้นกลายเป็นร่างกาย  สังขารของเรา

        สามคนแห่  หมายถึง  กฎพระไตรลักษณ์ คือ  ลักษณะสามประการของธรรมชาติ  คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  สรรพสิ่งไม่เที่ยง  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  สลาย  เป็นทุกข์เพราะดำรงอยู่ได้ยาก  ไม่ใช่ตัวตนที่แน่นอน  ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติ  ทุกชีวิต  ทุกสรรพสิ่ง  ซึ่งอยู่ในสามโลกธาตุนี้  ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์สมบัติ  นรกสมบัติ  มนุษย์สมบัติ  ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ  คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา

สองคนนั่งแคร่  หมายถึง  บุญและบาป  ซึ่งก็เกิดขึ้นจากการกระทำ  คือ  กรรม  เป็นเหตุซึ่งทำให้เกิดผล

หนึ่งคนพาไป หมายถึง  จิตสุดท้ายซึ่งเป็นพาหะนำพาเหตุที่สร้างไว้ไปสู่ผล  ไปอยู่ในร่างที่ดีขึ้น  หรือเลวลงก็แล้วแต่เหตุที่ทำไว้

ถ้ามนุษย์เรารู้ว่าเราเป็นใคร  ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดขึ้นเป็นเราในทุกวันนี้เป็นอย่างไร  เราก็จะรู้ว่า  ทุกอย่างเป็นแค่สมมุติชั่วคราว  เกิดมาตัวเปล่า  ตายไปก็ตัวเปล่า  ดีก็ไม่ใช่  ชั่วก็ไม่ใช่  ล้วนเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้น  เราก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น

รักชาติไม่ต้องทะเลาะกัน ยุวชน เยาวชน คือ อนาคตของชาติ สร้างชาติ สร้างยุวชน เยาวชน