080-5519598 (คุณแก้ว) [email protected]
Select Page

มกราคม

ทำบุญ ทำทาน บุญเกิดจากการให้ทาน วัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน “ทาน ศีล ภาวนา”  ทานจึงเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งในสามส่วนสำหรับผู้เดินทางเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์  วัตถุประสงค์ของการให้ทานเป็นอุบายเพื่อให้ละความละโมบ (ความโลภ) ความตระหนี่ถี่เหนียว  เพื่อละความอยาก (ตัณหา) เป็นต้นเหตุที่มาของอุปาทาน  ซึ่งก่อให้เกิดทุกข์ทั้งปวง

การให้ทานจึงเป็นกระบวนการขัดเกลาจิตให้ผ่องใส  ส่วนหนึ่งให้บ่อยๆความอยากได้ก็ลดลง  เมื่อความอยากอ่อนลง  การสร้างกรรมก็น้อยลง  เมื่อความอยากหมดไป  ก็หยุดการสร้างกรรมใหม่  เมื่อกรรมเก่าอ่อนลง  ด้านกุศลมีมากกว่า ก็ตัดกรรมได้ วัฏฏสงสารก็ดับ (จุตูปปาตญาณ)  ญาณรู้ว่าด้วยการเกิดเพราะกรรมตายเพราะกรรม  เป็นหนึ่งในวิชาสาม  ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  กรรมจึงเป็นที่มาของการเวียนว่ายตายเกิด  เมื่อมีการเกิด ความแก่  ความเจ็บ ความตายก็ตามมา  การทำบุญโดยการให้ทาน  เป้าประสงค์หลักคือการหยุดวัฏฏสงสาร  การทำบุญจึงเป็นอุบายวิธีอย่างหนึ่งเพื่อลด  ละ  เลิก  ความทะยานอยาก  ซึ่งเป็นเหตุแห่งการสร้างกรรม  แต่ยุคทุนนิยม  วัตถุนิยมแข่งขันเสรี  ผู้คนไม่มีเวลาศึกษาพุทธธรรม  จึงเอาเงินไปซื้อบุญ  สะสมบุญเพื่อที่จะมีอนาคตที่ดีขึ้น  การทำบุญ  การปฏิบัติธรรมจึงเป็นเพียงการค้ากำไรเกินควร  เป็นการทำบุญเพื่อสร้างอนาคตโดยไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ในการทำบุญเพื่อหยุดวัฏฏสงสาร (เพื่อความพ้นทุกข์)

กุมภาพันธ์

ทำไมต้องพัฒนาจิต

ชีวิตของเราประกอบด้วยกายและจิต ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ร่างกายที่ไม่แข็งแรง สุขภาพไม่ดี มีโรคภัยไข้เจ็บ จิตก็ไม่มีความสงบสุข ทำให้วิตกกังวล ในทางกลับกัน เมื่อจิตไม่ปกติ และไม่มีความสงบสุข เกิดความเครียดและวิตกกังวล ก็ส่งผลให้ร่างกายเกิดความตึงเครียดผิดปกติ ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางกายได้

ยุคทุนนิยมแข่งขันเสรี แนวคิดแบบบริโภคนิยม ความสุขเกิดขึ้นได้จากการบริโภค ทำให้มีความเจริญทางด้านวัตถุอย่างมากมาย แต่สิ่งที่ตรงข้ามกลับทำให้สภาวะจิตใจตกต่ำลง วิถีการดำรงชีวิตต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ความกังวล ความห่วงใย ความกลัว ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ส่งผลทำให้ร่างกายตรึงเครียดตามมา ภูมิต้านทานโรคทางธรรมชาติอ่อนแอลง บวกกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรังต่างๆ เช่นโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคเส้นเลือดสมองตีบ โรคภูมิแพ้และโรคมะเร็ง เป็นปัญหาสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน ทำให้คุณภาพชีวิตเสื่อมลง

สุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษย์ จะเกิดขึ้นได้จากการเจริญสติ เพื่อพัฒนาจิตให้บริสุทธิ์เกิดปัญญาสูงสุด เพื่อรู้เท่าทันความจริงตามธรรมชาติ มุ่งสู่ความพ้นจากทุกข์กายและทุกข์ใจ การพัฒนาจิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน

มีนาคม

ศาสนามิใช่เป็นเพียงคำสอนแต่เป็นการปฎิบัติเพื่อพ้นทุกข์ ศาสนาในส่วนซึ่งเป็นคำสอนนั้น น่าจะเป็นกระบวนการที่ทันสมัย ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ตามยุค ตามสมัย ส่วนหลักการทางศาสนา ซึ่งเป็นความจริงทางธรรมชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ยุคทุนนิยมแข่งขันเสรีนี้ กิเลสพัฒนาไปตามเทคโนโลยี กิเลสขี่จรวดใช้อาวุธนิวเคลียร์ ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมของเก่า ยังยึดมั่นถือมั่นที่จะขี่ช้าง ใช้ง้าว ใช้เงี้ยว และดาบ คงไม่มีทางที่จะสู้กิเลสได้ การฝึกสติซึ่งใช้ความเร็วแบบช้าๆนั้น เหมือนฝึกยิงปืนแบบเป้านิ่ง ยังมีเวลาทำสมาธิเล็งอยู่ ยิงผิดยังยิงใหม่ได้ เพราะเป้ายังอยู่ แต่การยิงเป้าบินนั้น เป้าบินเกิดขึ้นเร็วมากและไม่รู้ล่วงหน้า ว่าจะขึ้นมาทิศไหน ถ้ายิงไม่ทัน เป้าก็ตกลงมาก่อน เหมือนคนที่จะด่าเรา เขาก็ไม่ได้บอกล่วงหน้าว่า ระวังนะ กำลังจะด่าแล้ว เขาด่ามาเลย รูปนามเกิดดับเร็วมาก ถ้าไม่มีสติที่เร็วกว่า ย่อมไม่ทันรูปนาม การดำรงชีวิตก็ต้องเคลื่อนไหวเป็นปกติธรรมดาเหมือนเป้าบิน ไม่ใช่เป้านิ่ง จึงควรฝึกฝนรู้เท่าทันทุกๆอิริยาบถที่เคลื่อนไหว สร้างอินทรีย์พละให้มีกำลังมากกว่ารูปนาม ใช้สติสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของจิตรู้เท่าทัน ทุกๆอิริยาบถการเคลื่อนไหวรู้เท่าทันทุกๆอารมณ์รูปนามต่างๆ เช่นนักมวย ซ้อมชกกระสอบทรายจนชำนาญมาก แต่ถ้าไม่เคยขึ้นเวทีมาเลย จะไม่เกิดทักษะเพราะกระสอบทรายชกเราคืนไม่ได้ มันเป็นเป้าตาย แต่ถ้าขึ้นเวทีมวยแล้วคู่ชกเขาชกเราได้และเขาไม่ได้บอกเราล่วงหน้าเลยว่า จะชกขวาแล้วนะ ถ้าเขาชกมาแล้ว เราก็ต้องใช้สมาธิสติปัญญาที่มีอยู่แล้วหลบหลีกและตอบโต้ ยิ่งใช้ก็ยิ่งชำนาญ เพราะสรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครไปหยุดหรือเปลี่ยนแปลง สัจจธรรมข้อนี้ได้  ถ้าไม่อยากทุกข์ก็มีอย่างเดียวเท่านั้น  คือรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นโดยดุจสดีจึงจะทำให้ไม่ทุกข์

เมษายน

สุขใดซึ่งเกิดขึ้นจากการเสพเป็นสุขเทียม
ทุกข์ใดซึ่งเกิดขึ้นจากความรู้สึกเป็นอุปทาน
ทุกขัง คือ การดำรงอยู่ได้ยาก คือ ของจริง
สุขขัง คือ การดับทุกข์แล้ว คือ สุขจริง

พฤษภาคม

ISO : INTERNATIONAL ORGANIZATION

เป็นมาตรฐานการบริหารจัดการระดับสากล เป็นโปรแกรมที่พยายามสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมและเชื่อมโยงกัน ระหว่างองค์กรขับเคลื่อนไปคล้ายระบบฟันเฟืองแบบเครื่องจักร มนุษย์ก็ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมนี้ ฟันเฟืองซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเหล็กกล้า ไม่มีเลือดเนื้อและอารมณ์ ถูกป้องกันการเสียดทานด้วยน้ำมันหล่อลื่นต่างๆ ดำเนินไปตามคำสั่งที่โปรแกรมไว้ แก่มนุษย์เกิดขึ้นจากธาตุทั้ง สี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และวิญญาณธาตุมีเลือดเนื้อ ความรู้สึกอารมณ์ ถูกหล่อลื่นหรือหล่อหลอมด้วยผลตอบแทน ด้วยเงินตราซึ่งเงินตราเป็นเครื่องมือในการแรกเปลี่ยนปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคและปัจจัยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ซึ่งถูกพัฒนาให้เกิดขึ้นอีกมากมาย ทำให้ค่าครองชีพมากขึ้นเรื่อยๆ จนน้ำมันหล่อลื่นซึ่งเป็นเงินตรานั้นไล่ไม่ทัน ความรู้สึกกังวนห่วงใยความเครียดจึงเกิดขึ้น ภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอลง โรคภัยไข้เจ็บก็เบียดเบียนไม่มีความรู้สึกมั่นคงในชีวิต กลายเป็นISO มาตรฐานสากลในการบริหารจัดการ ซึ่งไร้วิญญาณ มนุษย์กลายเป็นหุ่นยนตร์ กลายเป็นแค่เครื่องมือในการสร้างทุนของระบบทุนนิยม ความสุขที่มีอยู่แล้วตามอัตภาพตามธรรมชาติถูกบดบังด้วยวิถีที่เร่งรีบ เคร่งเครียดสับสนสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ทำให้เกิดความทุกข์กาย-ทุกข์ใจต้นเหตุของปัญหา คือมนุษย์ตั้งโจทย์ให้ชีวิตผิด โดยเห็นผิดเป็นชอบว่าถ้ามีเศรษฐกิจที่มั่นคงแล้วชีวิตจะมีความสุข เป็นทฤษฎี เป็นความคิดที่ล้มเหลว เพราะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมทั้งใต้ดิน บนดิน และบนอากาศ น้ำบาดาลถูกนำขึ้นมาอย่างบ้าระห่ำ เพื่อมาเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจ น้ำมันใต้ภิภพก็ถูกดูดขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนเกิดการเสียสมดุล ทรัพยากรตามธรรมชาติทุกๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุต่างๆ ป่าไม้พื้นดินมนุษย์เรานำมาตีเป็นราคาเพื่อสร้างเศรษฐกิจ เป็นเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากการทำลายล้างกันเองของมนุษย์ ปลาใหญ่กินปลาเล็กอย่างไม่บันยะบันยัง เมื่อปลาเล็กสูญพันธ์ปลาใหญ่ก็กำลังจะตาย ทรัพยากรของโลกร่อยหลอลงทุกวัน ความไม่สมดุลเกิดขึ้น ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ขยะสารพิษมากขึ้น ความสุขตามอัตภาพที่มนุษย์ควรมีหายไป ลูกหลานเราจะอยู่ในโลกใบนี้ต่อไปอย่างไร

มิถุนายน

ยุคล่าอาณานิคมผ่านไป ยุคข้าทาสผ่านไปยุคหลังสงครามโลกครั้งที่2 ผู้ชนะสงครามเป็นผุ้ตั้งโจทย์โลก ทุนนิยมแข่งขันเสรีโดยสร้างกระแสวัตถุนิยม ใช้กระบวนการธุรกิจนิยมเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนมาตรวัดสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแสดง “พัฒนาการ” ของประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นการใช้ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ”หรือ “จีเอ็นพี” ที่นำเอา “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” (จีดีพี)มาเฉลี่ยดูว่าประชากรในแต่ละคนของประเทศเป็นเท่าไรแล้วใช่เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของประเทศชาติ

ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คือ จีดีพีก็ดี จีเอ็นพีก็ดี เพียงสะท้อนถึงความก้าวหน้า ทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมแต่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “ความเป็นอยู่ดี” ของประชากรในประเทศนั้นๆ แต่อย่างใด
นักวิจัยที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานในทางด้านนี้ก็คือ แคโรล เกรแฮม นักวิชาการจากสถาบันบรุกกิ้ง และมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา งานศึกษาวิจัยแรกของเธอ แสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์กันน้อยอย่างยิ่งระหว่างรายได้ประชาชาติ กับ ความสบายอกสบายใจ งานบางชิ้นของแกรแฮมแสดงให้เห็นชัดว่า ผู้คนที่มีความสุขสูงที่สุด กลับเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำมาก อย่างเช่นประเทศในแถบภูมิอากาศกึ่งทะเลทรายใน แอฟริกา
ความสนใจในเรื่องว่าด้วย “ความสุข”ทำให้ประเทศอย่าง “ภูฏาน”ชาติเล็กๆในเอเชีย ได้รับความสนใจตามไปด้วย ภูฏานมีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีตามการประเมินของธนาคารโลกเพียง 670 ดอลลาร์(ราว 20100บาท ) แต่ละประเทศนี้กลับได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศ “มีความสุข” สูงสุดในเอเชียและเป็นอันดับ 8 ของโลก โดย 40 ปีก่อนหน้านี้ ภูฏาน ได้นำเอาแนวทางการประเมิน “ความสุขมวลรวมประชาชาติ ”(จีเอ็นเอช) มาใช้แทนที่ จีเอ็นพี เพื่อวัดความรุดหน้าในพัฒนาการของประเทศ
เดือนสิงหาคม 2011 สมัชชาสหประชาชาติผ่านร่างมติที่ 65/309 ออกมาบังคับใช้ หัวข้อมติดังกล่าวก็คือ “ความสุข : การก้าวไปสู่ความสมบูรณ์แบบในการพัฒนา” เนื้อหาในมติดังกล่าวยอมรับเอาไว้ว่า “ดัชนีชีวิตจีดีพีนั้น โดยธรรมชาติแล้วไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ และไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของชาติหนึ่งๆ”
กรณีที่สะท้อนเรื่องนี้ชัดเจนคือ สหรัฐอเมริกาประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ได้เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก แต่อย่างไรทั้งสิ้น (แถมยังมีหนี้สินมากที่สุดในโลกด้วย)
ในขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามในระดับของสหประชาชาติต่อไป เพื่อให้บรรดาชาติสมาชิกนำเอา “วาระว่าด้วยความสุข” เข้าไปรวมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายของตนเอง ซึ่งทำให้เรื่องนี้น่าจับตามองอย่างยิ่งในอนาคต เพราะแม้ในขณะที่ยังไม่ได้เป็น “วาระโลก” เรื่องนี้ก็ถูกต่อต้านในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว จากกลุ่มนักวิชาการที่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นความพยายามโจมตีระบบ “ตลาดเสรี” จากกลุ่มวิศวกรทางสังคมที่พยายามหลีกเลี่ยง “ความทันสมัย” ทั้งหลาย
นั่นอาจเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด คิดว่า จีเอ็นเอช คือการต่อต้านเทคโนโลยี หรือต่อต้านวิกฤตซึ่งผิดเป้าโดยสิ้นเชิง จีเอ็นเอชไม่เพียงอยู่ร่วมกับทุนนิยมวัตถุนิยมได้เท่านั้น ยังอยู่ได้ด้วยดีอีกต่างหากขอเพียงอยู่ได้อย่าง “เป็นสุข” เท่านั้นเอง (ข้อมูลจากมติชนสุดสัปดาห์ 13-19 เมษายน 2555)
จึงค่อนข้างชัดแล้วว่า ความคิดแบบทุนนิยมแข่งขันเสรีโดยมีวิกฤตเป็นตัวแข่งขัน มี จีเอ็นพี เป็นมาตรวัดสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแสดง “พัฒนาการ” ของประเทศ ไม่สามารถแก้ปัญหามวลมนุษย์ชาติให้มีชีวิตอยู่ดี กินดี มีความสุขได้ จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีซึ่งสมัชชาสหประชาชาติผ่านร่างมติ “ความสุข:การก้าวไปสู่ความสมบูรณ์แบบในการพัฒนา” อย่างน้อยๆ ก็มีการเริ่มต้นถึงแม้จะมีความหวังที่ริบหรี่เต็มที เพราะการที่จะไปเปลี่ยนแนวความคิดแบบทุนนิยมซึ่งมีเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย ซึ่งได้ยึดพื้นที่โลกไปจนเกือบจะทั้งหมดเป็นเวลายาวนาน เพื่อเปลี่ยนเป็นความสุขมวลรวมนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก คงต้องใช้เวลาไปอีกยาวนานพอสมควร แต่ระดับปัจเจกบุคคล ถ้าตระหนักถึงชีวิตซึ่งมีความสุข “เป็นเป้าชีวิตแล้ว ก็น่าที่จะเปลี่ยนทัศนคติในการดำรงชีวิตใหม่ โดยมีความสุข” เป็นเป้าหมาย มิใช่มีการสร้างทุนเป็นเป้าหมาย เพราะมันไม่มีวันเสร็จ อยากมีก็ทุกข์ มีแล้วอยากรักษาไว้ก็ทุกข์ อยากมีเพิ่มขึ้นอีก กลัวว่าจะไม่ได้ตามเป้าก็ทำให้กังวล ห่วงใยก็ทุกข์อีก ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ถ้ามีความสุขเป็นเป้าหมาย สามารถทำได้เลยทันที เพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติใหม่ เปลี่ยนวิถีดำรงชีวิตใหม่ ก็สุขได้ทันที เพราะความสุขมีอยู่แล้วเต็มเปี่ยมตามธรรมชาติ แค่อย่าหาเรื่องเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองเท่านั้น ก็สามารถมีความสุขตามอัตภาพ แต่เราถูกใส่โปรแกรมความรู้ผิดว่าต้องได้มา ถึงจะสุข ต้องมีมากๆถึงจะสุข จริงๆแล้วแค่มีความรู้สึกพอใจเพียงแค่มี “ก็มีความสุขได้” แล้วเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพาะถูกโปรแกรมความรู้ผิด ครอบงำไว้แล้วเป็นเวลายาวนาน (กิเลสคือความเคยชิน) จึงต้องผ่านกระบวนการล้างพิษทางอารมณ์และขบวนการชำระจิตให้ผ่องใส คืนความเป็นอิสระตามเดิมให้กับจิต แล้วทุกอย่างก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว “ความสุขก็จะแสดงตัว”

กรกฎาคม

มรรค:ทางสายกลางเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์  มิใช่ศาสตร์วิชา  เทคนิค  อุบายวิธี  หรืออุดมการณ์  แต่เป็นทาง   เป็นขบวนการปฏิบัติ  เพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์  เหมือนเราหลงป่า  สิ่งที่ต้องทำคือหาทางเดินจากป่า  ไม่ต้องไปฝึกวิชาเดินป่า  ในระหว่างกำลังเดินทางออกจากป่าก็เจออุปสรรคนานาประการ  เป็นประสบการณ์ตรงทำให้เกิดทักษะความชำนาญ  ยิ่งเดินก็ยิ่งชำนาญ  เป็นสิ่งที่รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน  ไม่มีเทคนิคอุบายวิธี  และหลักสูตรตายตัว  เป็นเรื่องของนานาจิตตัง  ทุกดวงจิตบ่มเพาะอุปนิสัยมาเป็นเวลายาวนาน  จนกลายเป็นความเคยชินที่แตกต่างกัน  เลยมีจริตที่ไม่เหมือนกัน  สร้างวิบากกรรมมาไม่เหมือนกัน  ระหว่างเดินทางออกจากป่าจึงพบอุปสรรคที่แตกต่างกัน  สร้างบุญกุศลมาก็ไม่เท่ากัน  ความยาก-ง่ายจึงไม่เหมือนกัน  จึงไม่มีเทคนิควิธีการอุบายวิธีที่ตายตัว  แบบสำเร็จรูปมาใช้กับจิตวิญญาณ  เหมือนการเรียนรู้วิชาการแบบทางโลก  ซึ่งแยกเป็นวิชาเรียนรู้  เป็นขั้นเป็นตอน  มีเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจนว่าวิชาไหนใช้เวลาเรียนเท่าไรก็สามารถจบหลักสูตรได้  การใช้ความคิดแบบตรรกะ  เรียนรู้แบบแยกส่วนทีละขั้นตอน  เป็นวิชาๆ  มาใช้กับการพัฒนาจิตนั้นเป็นสิ่งที่ต้องระวังจะทำให้เสียเวลาชีวิต

          มรรค:ทางสายกลางเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์  ไม่ใช่ถนนหนทางที่จะไปอินเดีย  หรือภูเขาหิมาลัย  สถานที่ศักดิ์สิทฺธิ์  หรือไปแสวงหาผู้วิเศษที่ไหน  เป็นการเดินทางเข้าไปสู่จิตในจิตข้างใน  ไม่ใช่เรื่องไกลตัว  แต่อยู่ข้างในตัวเรา  พร้อมแล้วอยากก้าวหน้าต้องถอยหลัง  เข้าไปในจิตในจิต  ต้นกำเนิดเดิมซึ่งเป็นที่มาของปัจจุบัน “ดวงตาเห็นธรรม”  คือเห็นตามความเป็นจริง  ซึ่งเป็นธรรมชาติเดิมว่าทุกอย่างเป็น  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  พุทธศาสนิกชนก็เข้าใจใน  กฎพระไตรลักษณ์นี้  เข้าใจแต่ไม่เข้าจิต  จึงปล่อยวางไม่ลง  จึงต้องมีการฝึกจิต  เพราะจิตเป็นตัวหลุดพ้น  จึงต้องเข้าไปสู่จิตในจิต  จิตเห็นจิตคือมรรค  ผลของจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งคือนิโรธ  จึงต้องเข้าไปสู่จิตในจิต  ไม่ใช่ไปนั่งดูกาย  ดูเวทนา  ดูจิตเท่านั้น  แต่ต้องเข้าไปสู่จิตในจิต  เพื่อเข้าไปขัดเกลาจิตให้ผ่องใส  กลับคืนสู่สภาวะเดิมของความเป็นประภัสสร

สิงหาคม

วิธีปฏิบัติแบบตันตระ
1.มองทุกสิ่งด้านบวกเสมอ  ดังคำกล่าวที่ว่ากิเลสคือโพธิ
2.ทุกชีวิตมีธรรมชาติ  พุทธะภาวะที่สมบูรณ์อยู่แล้วในตัวเองทั้งสิ้น
3.มรรคและผลคือสิ่งเดียวกันในการปฏิบัติ
4.อุบายในการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ  ในฐานะของเครื่องมือ  โดยไม่ยึดติดในอุบายนั้น
5.ทุกสิ่งอย่างสามารถนำมาเป็นเครื่องฝึกฝนที่มีคุณค่าได้
*ไม่มีกิเลสก็ไม่มีโพธิ
*ไม่มีกิเลสพระอรหันต์ก็เกิดขึ้นไม่ได้
*ไม่มีสกปรกความสะอาดก็ไม่มี
*ไม่มีร้อนก็ไม่มีเย็น
*ไม่มีมืดก็ไม่มีสว่าง

ทุกอย่างเป็นของคู่  ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ  การมองทุกสิ่งด้านบวกเสมอ  น่าจะหมายถึง  การมองสรรพสิ่งตามความเป็นจริง  ถ้ามองด้วยจิตที่เป็นกลางก็จะมองเห็น  ความจริงตามธรรมชาติทั้งสองด้าน  ถ้ามองกิเลสในเชิงลบ  ก็จะเกิดอดีตขึ้น  ทำให้มองเห็นกิเลสไม่ชัดเจน  ตามความเป็นจริง  กิเลสคือความเคยชิน  เหมือนเรากินหวานบ่อยๆก็ทำให้ติดรสหวานโดยไม่รู้ตัว  กลายเป็นกิเลสความเคยชิน  ถ้าไม่ระวังก็จะพัฒนาไปสู่ตัณหา(ความอยาก)  ถ้าทำตามความอยาก(เจตนา)  ก็จะพัฒนาให้เกิดอุปาทานขึ้น  ถ้าได้ดั่งใจก็จะรู้สึกว่ามีความสุข  เมื่อผิดหวังแล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์   “กิเลสทำให้เกิดตัณหา  ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน  อุปาทานทำให้เกิดทุกข์”  ฉะนั้นถ้ามองกิเลสตามความเป็นจริงอย่างรู้เท่าทัน  ก็พัฒนาไปเป็นตัณหาไม่ได้  อุปาทานก็ไม่เกิด  ทุกข์ก็ไม่เกิด

         มีคำถามที่ว่าคนในสมัยพุทธกาล  ทำไมจึงบรรลุธรรมได้เร็วกว่าคนยุคปัจจุบัน  คนยุคก่อนมีบารมีมากกว่าคนยุคปัจจุบันหรือ?
ถ้ามองด้วยจิตเป็นกลางก็จะเห็นว่า  ทุกๆดวงจิตก็มีทั้งขั้วบวกและลบในตัวเอง  ถ้าใช้หลักตรรกะมาพิจารณาเรื่องจิต  จิตมีอายุหลายแสนกัลป์  ช่วงแตกต่างระหว่างพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน  เพียงแค่สองพันหกร้อยปี  คงไม่ได้ทำให้จิตมีความแตกต่างกันมากนัก  ในเรื่องบารมีของจิต  ตรงกันข้าม  จิตปัจจุบันมีโอกาสสร้างบารมีเพิ่มมาอีกสองพันหกร้อยปี  จึงน่าจะมีบารมีมากกว่าจิตในอดีต  เมื่อมีความเชื่อว่าทุกชีวิตมีธรรมชาติพุทธะภาวะที่สมบูรณ์อยู่แล้วในตัวเอง  จิตปัจจุบันจึงไม่น่าจะมีบารมีน้อยกว่าจิตในอดีตอย่างแน่นอน  เพียงแต่ว่า  เมื่อจิตปัจจุบันมีอายุมากกว่า  ก็คงสร้างกรรมฝ่ายลบ  ซึ่งเป็นฝ่ายบาปมากกว่าจิตในอดีตเช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันหรือชาติปัจจุบัน  เราสามารถมองเห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจนว่า  มนุษยชาติปัจจุบันเราสร้างเงื่อนไขปรุงแต่งกลายเป็นบ่วงโซ่ดึงจิตไว้อย่างมากมาย  เหมือนลูกโป่ง2ลูกลอยอยู่พร้อมที่จะปลดปล่อยตัวเอง  ลูกโป่งลูกที่เป็นตัวแทนจิตปัจจุบัน  มีบ่วงโซ่ดึงไว้อย่างมากมาย  จึงค่อนข้างจะปลดปล่อย  ให้จิตเกิดอิสรภาพได้ยากกว่าจิตในสมัยพุทธกาล

         “มรรคและผลเป็นสิ่งเดียวกันในการปฏิบัติ”  เปรียบเสมือนเราวิ่งออกกำลังกาย  ผลที่ตามมาคือ  ร่างกายแข็งแรง  เมื่อร่างกายแข็งแรง  ก็ยิ่งวิ่งได้เร็วขึ้น   ความแข็งแรงของร่างกาย  ซึ่งเป็นผลของการวิ่งออกกำลังกาย  ก็ส่งผลให้การวิ่งออกกำลังกาย  มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ในขณะเดียวกัน   ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพิ่มขึ้น  การวิ่งและความแข็งแรง  จึงเป็นสิ่งเดียวกันในการปฏิบัติ

         อุบายวิธีในการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ  ในฐานะของเครื่องมือ  โดยไม่ยึดติดในอุบายนั้น  แต่บ้างครั้งเมื่ออยู่กับเทคนิคอุบายนั้นนานๆ  ทำให้ไปหลงติดอุบายนั้นโดยไม่ทันรู้ตัว  จนทำให้ลืมเป้าหมายในการปฏิบัติ  ไปยึดมั่นถือมั่นในอุบายนั้น  จนลืมเป้าหมาย  ดังเช่นเราใช้อุบายในการออกกำลังกาย  โดยการเดินช้าๆ  เมื่อเดินไปเรื่อยๆ  ก็ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น  แทนที่จะเดินไวขึ้น  เพื่อให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น  ก็ไปหลงติดอุบายนั้นว่าต้องเดินช้าๆ  เพราะกลัวจะผิดวิธี  แทนที่จะทำตามเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง  เนื่องจากเรามีความแข็งแรงมากขึ้น  แต่ก็ทำตามใจที่ไปยึดมั่นถือมั่นกับอุบายนั้น  ทำให้ความก้าวหน้าไม่เกิดขึ้น  หรือเกิดขึ้นช้ามาก

         “ทุกสิ่งอย่างสามารถนำมาเป็นเครื่องฝึกฝนที่มีคุณค่าได้”   
กายวิปัสสนา  คือรูปขันธ์  เป็นรูปธรรม
เวทนานุปัสนา  คือเวทนาขันธ์  เป็นนามธรรม
จิตตานุปัสนา  คือวิญญาณขันธ์  เป็นนามธรรม
ธรรมานุปัสนา  คือขันธ์ทั้ง5  เป็นรูปธรรมและนามธรรม
สติปัฏฐาน4  ก็คือรูป-นามนั้นเอง

ทุกสิ่งอย่างจึงสามารถนำมาเป็นเครื่องฝึกฝน  ที่มีคุณค่าได้  เพราะล้วนเป็นรูป-นามทั้งนั้น

กันยายน

“ความตายเป็นแค่ความเปลี่ยนแปลง  ไม่ใช่ความสูญเสีย”

         ความตายกลายเป็นความรู้สึกสูญเสีย  เพราะถูกอวิชชา  (ความรู้ผิด)  ครอบงำว่า  ตัวกูของกู

เริ่มจากเด็กทารกเกิดมาดูโลก  คุณพ่อแม่ก็ใส่โปรแกรมสัญญา  โดยตั้งชื่อสกุลให้  บางทีก็แถมศาสนามาให้นับถือด้วย  นี่พ่อนะ  นี่แม่นะ  นี่เงินนะ  นี่ชนะนะ นี่เก่งนะ  1สัญญา  2สัญญา  3สัญญา  หลายๆสัญญากลายเป็นฆณสัญญาเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา  เป็นกลุ่มเป็นก้อน  พัฒนากลายเป็นอัตตา  กลายเป็นสิ่งขวางกั้น  ทำให้ไม่เห็นความเป็นอนัตตา “คณะสัญญากั้นบังอนัตตา”  พอจะขาดใจตาย  จึงมีความรู้สึกว่าจะพลัดพรากจากของรักของหวง  ทำให้รู้สึกทุกข์  เพราะไม่พร้อมที่จะตาย ส่วนคนที่อยู่  ก็รู้สึกว่าสูญเสียคนที่รัก  ก็ทำให้เกิดทุกข์เช่นเดียวกัน

ตุลาคม

ในทางศาสนา ศีลวินัย น่าจะเป็นเครื่องมือเตือนสติ เพื่อกำกับดูแลให้อยู่ในมรรคในทาง เป็นเกาะป้องกันไม่ให้ไปสร้างกรรมเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น (ละชั่ว) แต่สังคมยุคปัจจุบัน ศีลวินัยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือจับผิด กำหนดโทษกัน สังคมจึงเกิดความขัดแย้งกันอย่างมากมาย

         ในทางสังคมโลก  ทุกประเทศก็ยึดหลักนิติรัฐ  นิติธรรมมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโดยมีกฎหมายเป็นตัวกำหนดสิ่งที่ต้องทำ  และสิ่งที่ห้ามกระทำ  พร้อมทั้งมีบทลงโทษมาในรูปของกฎหมาย  ซึ่งบันทึกเป็นตัวอักษร  เป็นภาษาที่สมมุติขึ้น  ภาษาก็หยาบเกินไปที่จะสะท้อนออกมาให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน  การมีโอกาสเข้าถึงกฎหมายหรือฉลาดใช้กฎหมายก็แตกต่างกันเช่นเดียวกัน  ถ้าคนในสังคมขาดคุณธรรม  ยิ่งรู้กฎหมายมากเท่าไร  ยิ่งฉลาดใช้ช่องว่างของกฎหมายเอาเปรียบคนอื่น  สังคมจึงเกิดความเหลื่อมล้ำ  และขัดแย้งไม่มีวันสิ้นสุด

         นาย ก เป็นหัวหน้าครอบครัว  ซึ่งมีฐานะดี  ไปเล่นกอล์ฟทุกวัน  เมื่อเล่นเสร็จก็กินเหล้าสูบบุหรี่  เลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆทุกวัน  พอเมาได้ที่ก็ไปต่อสถานเริงรมย์  ต่อด้วยการร่วมเพศ เสพกามกับบุคคลอื่น  กว่าจะกลับไปถึงบ้านก็ดึกดื่นทุกวัน  ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว  ในขณะที่ภรรยาก็ตั้งครรภ์  ต้องการความอบอุ่น  ก็ไม่ได้รับ

         นาย ข เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ยากจน ลูกเมียไม่มีจะกิน ลูกน้อยป่วยไข้ไม่มีปัญญาพาไปหาหมอ เลยเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไปเป็นขโมย เพื่อหาเงินมาแล้วพาลูกน้อยไปหาหมอ นาย ก ไม่ผิดกฎหมาย แต่ นาย ข ผิดกฎหมาย ถามว่าใครมีคุณธรรมมากกว่ากัน

         คุณธรรม = คุณสมบัติตามธรรมชาติ

พฤศจิกายน_

รถติดหล่ม  :  ผู้คนก็หาทางออกจากหล่มให้ได้  เพราะมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องไปให้ถึง  แต่ชีวิตติดหล่ม  กลับไม่มีใครคิดที่จะหาทางออกจากหล่มนั้น  เพราะต่างก็เข้าใจว่าชีวิตก็ต้องเป็นเช่นนั้น  ไม่กล้าแม้จะคิดต่างกับวิถีที่เป็นอยู่  เพราะกลัวว่าจะไม่เหมือนคนอื่นเขา วันแล้ววันเล่า  ปีแล้วปีเล่า  ชาติแล้วชาติเล่า  เวียนว่ายตายเกิด  ติดอยู่ในบ่วงวัฏฏสงสาร  เหมือนติดคุกติดตาราง  ทำดี ทำชั่ว  สุดท้ายก็ถูกตัดสินพิพากษาประหารชีวิตในทุกๆชาติเกิด

         คนหลงทางก็คือคนหลงทาง  มิใช่คนดีหรือคนชั่ว  หลงทางเราจึงไม่กลัว  กลัวอย่างเดียวคือไม่รู้ว่ากำลังหลง  ถ้ารู้ว่าหลงทางแล้ว  เปลี่ยนวิถีทางเดินใหม่ สักวันหนึ่งก็อาจไปถึงเป้าหมายได้  เหมือนรถติดหล่ม เมื่อหาทางออกจากหล่มให้ได้  ก็คงไปถึงเป้าหมายได้เช่นเดียวกัน