080-5519598 (คุณแก้ว) [email protected]
Select Page

มกราคม

หลงป่า ! “หาทางเดินออกจากป่า” เป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่ไปเสียเวลากับการฝึกวิชาทำให้เกิดสมาธิ ฝึกวิชาทำให้เกิดสติ เหมือนนักกีฬาเอาแต่ฝึกซ้อม ฝึกซ้อมแล้วก็ฝึกซ้อม แต่ไม่เคยลงสนามแข่งขันเลย ทักษะที่มีอยู่ไม่ได้ผ่านการถูกประเมิน อินทรีย์พละที่มีอยู่ไม่ได้นำมาใช้ ปฏิบัติแต่ไม่ประพฤติ มรรคผลนิพพานจึงเกิดขึ้นไม่ได้

มรรค ทางเดินเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ คือ

  1. เห็นชอบ
  2. ดำริชอบ
  3. วาจาชอบ
  4. อาชีพชอบ
  5. กระทำชอบ
  6. ความเพียรชอบ
  7. สติชอบ
  8. สมาธิชอบ

มรรค จึงเป็นการนำศักยภาพทั้ง อินทรีย์ พละ ทุกอย่างที่มีอยู่ไปกระทำในสิ่งที่ชอบ ดำเนินไปตามทางที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ ดังคำพูดของพระเด็จพระคุณท่านหลวงปู่ดุล ที่ได้ดำริไว้ว่า

จิตส่งออก คือ สมุทัย

ผลของจิตส่งออก คือ ทุกข์

จิตเห็นจิต คือ มรรค

ผลของจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง คือ นิโรธ

การฝึกให้เกิดสมาธิ การฝึกให้เกิดสติ จึงเป็นสมถะกรรมฐาน ต้องอยู่แค่สติเข้าไม่ถึงปัญญา แล้วอาจใช้สมาธิ สติ ไปกระทำในสิ่งที่ไม่ชอบได้ โจรก็มีสมาธิมีสติจึงปล้นสำเร็จ แต่มีการเบียดเบียนเกิดขึ้นจึงมิใช่ทำสิ่งที่ชอบ

ศีล  สมาธิ  ปัญญา  เป้าหมายไปจบอยู่ที่ปัญญา  ผลสูงสุดคือ นิพพาน  แต่สติก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งเป็นตัวกำกับให้อยู่ในมรรคในทาง

สติปัฏฐานสี่ คือ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม การจะเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติอย่างแจ่มแจ้ง จึงต้องเข้าไปในจิตในจิต   ส่วนหนึ่งก็เข้าไปขัดเกลาจิตให้ผ่องใส ส่วนหนึ่งก็เข้าไปสัมผัสประสบการณ์เดิมของจิตซึ่งบันทึกไว้ในรูปของสัญญาซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของจิต เป็นการรู้แจ้งของจิตไม่ใช่เกิดจากการนึกคิด

การเพ่งพิจารณาความเร็วของกระแสน้ำที่ไหลผ่าน   โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวคาดคะเนว่าความเร็วของน้ำจะประมาณแค่นั้นแค่นี้   อุณหภูมิของน้ำน่าจะประมาณกี่องศา   เป็นจินตมยปัญญาซึ่งเกิดจากการคาดคะเน ถ้าประสบการณ์มีเยอะก็อาจคาดคะเนได้ใกล้เคียงเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้รับประสบการณ์ซึ่งผ่านการได้รับสัมผัสจากอายตนะและวิญญาณ ภาวนามยปัญญาต้องโดดลงไปในน้ำนั่นเอง แรงกระทบของกระแสน้ำมากระทบอายตนะและวิญญาณรับรู้ก็จะเกิดผัสสะขึ้น ขณะเดียวกันก็สัมผัสกับอุณหภูมิของน้ำว่าร้อนเย็นแค่ไหน เป็นการรู้ซึ่งเกิดจากการรู้แจ้งของวิญญาณไม่ได้เกิดจากการนึกคิด

 จิตเห็นจิต คือ มรรค การเจริญมรรคจึงต้องมุ่งเข้าไปสู่จิตในจิตโดยตรง   อุบายวิธีเพื่อเจริญสติซึ่งยังใช้ฐานกายและเวทนาซึ่งเวทนาก็เกิดขึ้นที่ใจ ใจก็เป็นส่วนหนึ่งของอายตนะซึ่งยังอยู่ที่ฐานกาย (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นสรีระกาย วิปัสสนากัมมัฎฐานต้องปล่อยวางฐานกาย (สรีระกาย) เข้าไปสู่ทิพยกาย (จิต)เพื่อขัดเกลาจิตให้ผ่องใสในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้โดยสัมผัสกับธรรมารมณ์ (ธรรมในธรรม) ซึ่งเป็นประสบการณ์เดิมของจิต เมื่อจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ผลคือ นิโรธก็แสดงตัว

กุมภาพันธ์

ปรัชญาปรมิตาหฤทัยสูตร

โอม ขอนอบน้อมแด่พระปัญญาบารมีอันประเสริฐอันมีสวัสดิ์ภาคฯ

1.พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์  ผู้ประเสริฐทรง  ประพฤติพระปัญญาบารมี  จรรยาอันล้ำลึก พิจารณาดูขันธ์ 5  และ เห็นขันธ์ 5 เหล่านั้น  ว่าเป็นสภาวะว่างเปล่า

2.ดูก่อน สารีบุตร รูปในที่นี้เป็นธรรมชาติว่างเปล่า (สูญญตา) สูญญตาเองก็เป็นรูป สูญญตาไม่ต่างไปจากรูป รูปก็ไม่ต่างไปจากสูญญตา รูปอื่นใดสูญญตาก็อันนั้น สูญญตาอื่นใด รูปก็อันนั้น ถึงเวทนา  สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีนัยเช่นเดียวกันฯ

3.ดูก่อน  สารีบุตร ธรรมทั้งหมดในที่นี้  มีความว่างเปล่าเป็นลักษณะ  ไม่เกิด  ไม่ดับ  ไม่มีมลทิน  ไม่ปราศจากมลทิน  ไม่พร่อง ไม่เต็ม

4.เพราะฉะนั้น สารีบุตร  ในสูญญตานี้ ไม่มีรูป  ไม่มีเวทนา  ไม่มีสัญญา  ไม่มีสังขาร  ไม่มีวิญญาณ  ไม่มีตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ไม่มีรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  ธรรม  (อารมณ์ทางใจ)  ไม่มีจักขุธาตุ จนถึงมโนวิญญาณธาตุ  ไม่มีอวิชชา  ไม่มีความสิ้นอวิชชา จนถึงไม่มีชรามรณะ ไม่มีสิ้นชรามรณะ ไม่มีทุกข์ สมุทัย  นิโรธ  มรรค  ไม่มีความรู้ (ญาณ) ไม่มีการบรรลุ  และไม่มีการไม่บรรลุฯ

5.เพราะฉะนั้น สารีบุตร เพราะเหตุที่ไม่ติดอยู่ในการบรรลุและอาศัยพระปัญญาบารมีพระโพธิสัตว์  ย่อมอยู่ได้โดยไม่มีเครื่องกีดขวางจิต เพราะเมื่อปราศจากเครื่องกีดขวางจิตแล้ว ท่านก็ไม่หวาดหวั่นล่วงพ้นการมีความคิดเห็นผิดวิปลาส  และบรรลุถึงพระนิพพานในที่สุดฯ

6.พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ผู้ดำรงอยู่ในส่วน วิทยา (กาลไกล) ทั้ง 3 ทรงอาศัยพระปัญญาบารมีแล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดฯ

7.เพราะฉะนั้น พึงรู้เถิดว่า พระปัญญาบารมีเป็นมหามนตร์ เป็นมหาวิทยามนตร์ เป็นมนตร์ที่สูงสุด เป็นมนตร์ที่ไม่มีมนตร์ใดเหมือน เป็นมนตร์ที่ระงับทุกข์ทั้งปวงเป็นของจริงแท้  เพราะไม่มีของปลอมเจือปนในพระปัญญาบารมี นี้มีมนตร์ซึ่งใช้สวดกันว่า “ คเต  คเต  ปารคเต  ปราสงคเต  โพธิสวาหะ

ปรัชญาปรมิตาหฤทัยสูตร.เป็นสูตรซึ่ง พระพุทธองค์ ทรงตรัสถึง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ผู้ประเสริฐ  ทรงประพฤติพระปัญญาบารมี   โดยพระโพธิสัตว์ทรงได้ใช้จรรยาอันล้ำลึก พิจารณาดูขันธ์ 5  และเห็นขันธ์ 5 เหล่านั้น ว่าเป็นสภาวะว่างเปล่าฯ

พระสูตรนี้ตรัสโดย พระพุทธองค์  และผู้ที่บรรลุพระสูตรนี้คือ พระอวโลกิเตศวร โดยพระองค์ทรงประพฤติพระปัญญาบารมี  โดย พิจารณาดูขันธ์ 5   ผลของการประพฤติปฏิบัติ  ทำให้พระองค์เห็นขันธ์ 5เหล่านั้น  ว่าเป็นสภาวะว่างเปล่า

พระอวโลกิเตศวรทรง ประพฤติพระปัญญาบารมี โดย  พิจารณา ดูขันธ์ 5 การประพฤติปฏิบัติ ก็อยู่ในขบวนการ เจริญมรรค  เมื่อ มรรคบริบูรณ์ ย่อมทำให้ผลบริบูรณ์โดยทำให้เห็นขันธ์ 5 เหล่านั้นว่าเป็นสภาวะว่างเปล่า  ผลสูงสุดย่อมทำให้วิชชาและวิมุติสมบูรณ์

พระสูตรนี้ตรัสโดยพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้เห็นธรรมมาก่อนและเป็นสูตรซึ่งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้ ประพฤติปฏิบัติ จนบรรลุและเป็นผู้เห็นธรรมตามมาโดยเข้าถึงสภาวะสูญญตาอย่างแท้จริง  และเป็นพระสูตรซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงต่อพระสาวกฝ่ายขวาคือ พระสารีบุตร จึงมิใช้พระสูตรซึ่งบุคคลใดคิดว่าจะนำมากล่าวอ้างก็ได้ จะหมิ่นเหม่ทำให้เข้าใจกันผิดได้   เช่นกล่าวว่า  ไม่มีทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  บุญไม่มี  บาปไม่มี จิตว่างอยู่แล้ว  นิโรธมีอยู่แล้ว  ไม่ต้องทำอะไรเลย  ว่างอยู่แล้ว   เป็นการสะกดให้จิตหยุดคิดปรุงแต่ง เมื่อจิตปล่อยวางความคิด  จิตก็จะรู้สึกว่าง  ว่างจากการคิดฟุ้งซ่าน ก็จะรู้สึกผ่อนคลายมีความสุข  เป็นความว่างซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างอุปาทานใหม่กลบเกลื่อนอุปาทานเก่า  เป็นความว่างชั่วคราว  มิใช้ความว่างถาวร เป็นการใช้สติซึ่งเกิดจากสุตตมยปัญญามาควบคุมอุปาทาน  แต่กิเลสและตัณหาก็ยังอยู่   กดทับเหมือนขนม 3 ชั้น  อวิชชาหรือความรู้ผิดก็ยังคงอยู่

การรู้และความรู้ต่างกัน  การรู้ต้องเกิดขึ้นจากข้างใน  การรู้มาจากแหล่งกำเนิด และแหล่ากำเนิดนั้นอยู่ในตัวท่านอย่ามองหามันจากภายนอก จงมองเข้าไปในภายใน  ความรู้เกิดจากการท่องจำเลียนแบบเขามาไม่ได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงของตนเอง ครูตัวปลอมจะชักชวนให้คุณทำตามเขา ลอกเลียนแบบเขา  ครูที่แท้จริงจะไม่ยอมให้คุณเป็นกระดาษสำเนาของเขา  เขาต้องการให้คุณเป็นตัวเอง ปรารถนาให้คุณเป็นอิสระอย่างแท้จริง  อิสระจากการพึงพิงคนอื่น. “นานาจิตตัง”  ทุกๆดวงจิตจะต้องไม่เหมือนกันเพราะที่มาต่างกัน  การสร้างกรรมมาไม่เหมือนกัน  บุญวาสนาที่สะสมมาไม่เท่ากัน            ลัทธิที่พยายามทำให้ทุกคนเหมือนกันซึ่งฝืนความจริงตามธรรมชาติของจิต  ใช้อุบายวิธีในการฝึกจิตแบบตายตัวให้ทุกคนกำหนดเหมือนกันหมดก็กลายเป็นชุดวิชา  มิใช่ธรรมะ

สองครอบครัวเดินไปด้วยกันระหว่างทางไปเจอสนามเด็กเล่น  ครอบครัวที่ 1 อนุญาตให้ลูกลงไปเล่น  ครอบครัวที่ 2 ไม่อนุญาตให้ไปเล่น  แล้วก็ใช้ประสบการณ์ของคุณแม่บอกและสั่งสอนลูกต่างๆนาๆว่าไม่ต้องเล่น เพราะ … เช่นไม่ปลอดภัย  เราไม่ต้องเล่นก็แข็งแรงอยู่แล้ว ถามว่าเด็กทั้ง 2 คนนี้ใครจะปล่อยวางความอยากเล่นได้ก่อนกัน  แน่นอนเด็กในครอบครัวที่ 1  เมื่อไปเล่นแล้วแรกๆก็จะติดเล่นอยู่พักหนึ่ง เล่นไปเล่นมาเมื่อใดลิ้มรสสิ่งต่างๆแล้ว  ในขณะที่ได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองแล้ว  สุดท้ายก็หายอยาก  ปล่อยวางความอยากเล่นลงได้  เพียงแต่ต้องเตือนให้ ใช้สติ ในการเล่น  เล่นอย่างมีความรู้  ทำให้เกิดทักษะมีปัญญารู้แจ้งด้วยตัวเด็กเอง  ก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นลงได้  เพราะว่างจากความอยาก

อุบายวิธีที่แตกต่างกันในการบำเพ็ญภาวนาเป็นเรื่องปกติ  แต่อย่าไปหลงอุบายวิธีที่ใช้อยู่จะกลายเป็นเป้าหมาย ไปกำหนดโทษคนอื่นที่ใช้อุบายวิธีแตกต่างออกไปจากตนเอง  กล่าวหาว่าไม่ถูกต้องจะกลายเป็นวจีกรรม  คนที่รู้แจ้งเห็นจริง   เข้าสู่สภาวะ สูญญตา อย่างแท้จริงก็จะเข้าใจว่า นานาจิตตัง  ไม่มีสูตรสำเร็จและกติกาที่ตายตัวมาจำกัดเรื่อง จิต

 ต่างคนต่างอยู่  อยู่ร่วมกัน  อยู่ร่วมกัน  ต่างคนต่างอยู่  ทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียว  หนึ่งเดียวคือทั้งหมด  ทั้งหมดไม่ต้องเหมือนกัน  อยู่ในแก้วใบเดียวกัน  ต่างคนต่างอยู่  อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน  แต่ไม่ต้องเหมือนกัน แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง  เป้าหมายเดียวกัน  จริตแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ  ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์  ธรรมะคือหน้า  หน้าที่คือธรรมะ (ทำเพราะธรรม)  หน้าที่หลักของผู้เดินทางคือ :  ทาน  ศีล  ภาวนา

มีนาคม

ทาน  :  ทำบุญ  ทำทาน  บุญ  เกิดจากการให้ทาน  วัตถุทาน  ธรรมทาน  อภัยทาน  การใช้วัตถุเป็นปัจจัยในการให้ทาน  ก็อยู่ในส่วนของวัตถุทาน  การแบ่งปันประสบการณ์  ให้ความรู้  ให้วิทยาทานชี้ทางเดินที่ถูกต้อง  ก็อยู่ในส่วนของธรรมทาน  ถูกเบียดเบียน  ถูกกลั่นแกล้ง  ถูกรังแก  ถูกเอาเปรียบ  ไม่ถือโกรธ  ไม่ถือโทษ  ไม่เครียดแค้นพยาบาท เปลี่ยนกรรมที่เกิดขึ้นเป็นอโหสิกรรม  ผิดก็ให้อภัย  เรียกว่าอภัยทาน  การให้ทานที่แตกต่างกันก็ส่งผลและให้อานิสงส์ที่แตกต่างกัน  ดังที่พระท่านได้กล่าวไว้ว่า

การทำบุญกับมนุษย์ได้อนิจสงมากกว่าการทำบุญกับสัตว์  การทำบุญโดยสร้างศาสนวิหาร  ได้อานิสงส์มากกว่าการทำบุญกับพระพุทธเจ้า  การทำบุญโดยเผยแผ่พุทธธรรมได้อานิสงส์มากกว่าการสร้างวิหาร  การให้ทานทั้งหมดที่กล่าวมาก็มี  อานิสงส์น้อยกว่าการให้อภัยทานแค่ครั้งเดียว

จึงเห็นได้ว่าการให้อภัยทานมีอานิสงส์อย่างยิ่ง  การให้วัตถุทานต้องเริ่มจากการบากบั่นแสวงหาวัตถุแล้วแบ่งปันวัตถุที่ได้มาให้กับคนอื่นและส่วนรวม  เป็นอุบายวิธีเพื่อกำจัดความโลภความตระหนี่ถี่เหนียว  เมื่อสลัดความโลภออก (จาคะ)  เป็นอุบายในการขัดเกลาจิต  เหมือนโยนกิเลสตัวโลภออก  ก็ทำให้รู้สึกเบาอกเบาใจ (บุญคือเบา บาปคือหนัก) ถ้าทำบุญแล้วหนักอกหนักใจก็จะเปลี่ยนเป็นบาปเพราะเบียดเบียนตัวเอง  บางทีทำบุญไปหนึ่งร้อยบาทเปรียบเสมือนเราขจัดความโลภออกไป 10%  แล้วก็ขอให้ถูกรางวัลที่หนึ่ง  แล้วก็เพิ่มความโลภเข้ามาอีก 90%  เป็นการค้ากำไรเกิดควร  ถ้าในแง่บุญแล้วถือว่าขาดทุนไป 80%  เพราะความโลภมีมากขึ้น แทนที่จะเบา  ทำให้หนักขึ้น เราสามารถโกหกคนอื่นได้  แต่เราไม่สามารถโกหกจิตตัวเองได้

ส่วนการให้ธรรมทานนั้นก็ต้องเริ่มต้นจากการลงทุน  เวลาเพื่อศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมหรือความจริงตามธรรมชาติ  แล้วก็ต้องบริจาคเวลาและภูมิปัญญาที่มีอยู่แบ่งปันให้กับคนอื่น  โดยผ่านทางการแสดงธรรม  การสาธยายธรรม  ให้ผู้ฟังเกิดสุตมยปัญญา  เมื่อฟังแล้วก็นำไปตรึกตรองพิจารณาเพิ่มเติมก็เกิดจินตมยปัญญา  ส่วนผู้ให้เองก็เกิดบุญจากการได้ให้ธรรมทาน  เป็นอุบายวิธีขัดเกลาจิตให้ผ่องใส  ทำลายอวิชชา  ความรู้ผิดหรือความหลงที่ทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัว  ยิ่งให้ก็ยิ่งได้  ได้เหวี่ยงอวิชชา  คือความรู้ผิดออกไป  วิชชาหรือความรู้ที่ถูกต้องก็ยิ่งแสดงตัว

ส่วนการให้อภัยทาน  ง่ายที่สุด  ยากที่สุด  ง่ายเพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ไม่ต้องเสียวัตถุ  ไม่ต้องเสียเวลาพูด  เสียเวลาทำ  แค่เหวี่ยงความโกรธความพยาบาทออกไป  เหมือนยกภูเขาออกจากอก  ความเบาก็เกิดขึ้นทันที  บุญคือเบาก็แสดงตัวโดยฉับพลัน  จึงเป็นการให้ทานที่ง่ายที่สุด  ได้อานิสงส์มากที่สุดเพราะเบาที่สุด ได้ยกภูเขาออกจากอก  แต่ที่อยากที่สุดเพราะกิเลสตัวทิฐิมานะ  ซึ่งเกิดขึ้นจากความโกรธความพยาบาทไม่ยอมให้อภัย  เพราะไปหลงว่าการให้อภัยจะเป็นการเสียเปรียบ  เสียศักดิ์ศรีเพราะตัวเองเป็นคนถูก  เขาเป็นคนผิด  ความรู้ผิดแบบนี้จึงทำให้แบกภูเขาตัวโกรธไว้ตลอดเวลา  วันดีคือดีคิดถึงเรื่องความเครียดแค้นนี้ขึ้นมาก็ทำให้โกรธจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ  แล้วบอกว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว  คนเห็นแก่ตัวทำไมทำให้ตัวเองทุกข์  คนเห็นแก่ตัวจริงๆไม่ควรทำร้ายตัวเอง  การให้อภัยทานก่อคู่กรณีเขาไม่ได้อะไรจากเราเลย  เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราให้อภัยเขาแล้ว แต่เราเองได้ยกภูเขาออกจากอก  เราวางเองก็เบาเอง  บุญของการให้อภัยทานก็ทำให้เกิดเบาอกเบาใจขึ้น

ทำบุญตามบุญไม่ไช่บุญ  มีคำเล่าขานกันมาว่า  ครั้งหนึ่งพระโพธิธรรมซึ่งทางเมืองจีนเรียกว่าพระอาจารย์  ตั๊กม๊อ  ได้เดินทางจากประเทศอินเดีย  มุ่งมาสู่ประเทศจีน  พระจักรพรรดิหวูแห่งจีนได้นิมนต์ท่านพระโพธิธรรมเข้าไปในพระราชวัง  พระจักรพรรดิก็ทรงเล่าให้ฟังว่าพระองค์  ได้สร้างศาสนสถานมากมาย  แล้วได้ดูแลอุปถัมภ์พระสงฆ์หลายพันรูป  ใช้ผู้รู้นับพันคนแปลพระไตรปิฎก และได้สร้างมหาวิทยาลัยขึ้นแห่งหนึ่งเพื่อให้ศึกษาเรื่องพระพุทธเจ้า  สร้างโบสถ์วิหารหลายพันแห่ง  ข้าพเจ้าถวายจักรพรรดิและโลภทรัพย์ทั้งปวงแด่พระพุทธเจ้า  แล้วข้าพเจ้าจะได้รับสิ่งใดตอบแทนในที่สุดฯ

พระโพธิธรรมตอบ  :  “ไม่มี  ไม่ได้มีรางวัลอะไรเลย  ตรงกันข้าม  ท่านจะเตรียมพร้อมจะตกนรกขุมที่  7 เถิด”พระจักรพรรดิ์ตรัส   “แต่ข้าไม่ได้ทำอะไรผิดทำไมถึงต้องตกนรก  ข้าทำทุกสิ่งตามคำสอนที่บอกให้ทำแล้วนี้”

ท่านโพธิธรรมพูดว่า :  “หากท่านไม่เริ่มฟังเสียงตัวท่านเอง  ก็ไม่มีใครช่วยท่านได้  ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือไม่  ท่านยังไม่ได้ยินเสียงภายในของท่าน  หากท่านได้ยิน  ท่านจะไม่มีวันถามคำถามโง่ๆเช่นนี้  บนส้นทางแห่งพุทธะไม่มีรางวัลอะไร  เพราะความปรารถนาในรางวัลนั้นมาจากจิตที่ละโมบ  คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า  ก็คือให้ละวาง  ถ้าหากท่านทำสิ่งที่เรียกว่า  การทำบุญเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโบสถ์วิหาร  หรือถวายภัตตาหารพระ  โดยยังมีความต้องการอยู่ในใจ  ท่านก็เตรียมตัวไปนรก  หากท่านทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความชื่นชมยินดี แบ่งปันความชื่นชมของท่านกับจักรพรรดิ์ทั้งหมดโดยไม่มีความปรารถนาในรางวัลใดๆแม้เพียงเสี้ยวเดียว  การกระทำนั้นก็เป็นรางวัลในตัวของมันเองแล้วหากเป็นอย่างอื่นก็นับว่าท่านทำผิดพลาด

“ทำบุญตามบุญมิใช่บุญ”   เป็นแค่บุญกิริยา  มิใช่บุญกุศล  เพราะจิตไม่เป็นกุศลมีแต่อามิส

“สุญญตาทาน”  ทานซึ่งไม่มีผู้รับและผู้ให้  การให้คือกิริยาของทานเป็นบุญกิริยา  บุญกุศลจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่เจตนาของการให้ทาน  ถ้าเจตนาของการให้ทานมีอามิสแฝงอยู่  โดยมีลาภยศ  สรรเสริญ เป็นสิ่งตอบแทน  ก็เป็นแค่กิริยาในการทำบุญแต่ไม่ใช่บุญกุศล  เพราะเป็นการสนองตัณหา(สมุทัย) ซึ่งเป็นที่มาของทุกข์  ถ้าในทางจิตวิญญาณแล้วถือว่า  เป็นความชั่วร้ายอย่างยิ่ง  เพราะมิได้ขัดเกลาจิตให้ผ่องใส  แถมเพิ่มความเปื้อนให้กับจิต  แต่ถ้าเจตนาของการให้ทานเพื่ออยากได้บุญ  ยังนิยมสะสมบุญ  ก็เป็นกิเลสในทางบวก  ก็เป็นแค่บุญกิริยา  มิใช่บุญกุศล  แต่เป็นแค่กรรมดี  กรรมดีก็ต้องไปรับกรรมดีนั้นเพราะยังแฝงด้วยเจตนา กลายเป็นสวรรค์สมบัติ เทวดาทุกข์มากที่ได้เสพสุข  เมื่อเสพสุขรับใช้กรรมดีนั้นหมดแล้ว  ก็ตกสวรรค์ลงมาเกิดอีก  วันแรกที่เกิดมาต้องร้องไห้ทันที  เป็นสัญชาติญาณ  ญาณรู้ซึ่งเป็นสัญญาในอดีตชาติ ซึ่งจิตจำได้หมายรู้ว่าจากนี้ไปฉันทุกข์อีกแล้ว  การทำบุญเพื่อขึ้นไปอยู่บนสวรรค์จึงไม่พ้นทุกข์

ถ้าเรา  ทำบุญเพราะทำบุญ  ให้เพราะให้  ทำเพราะธรรม ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ  หน้าที่ในการเดินทางเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์ (นิพพาน)  คือ ทาน ศีล  ภาวนา การให้ทานจึงเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งในการเจริญมรรค  มรรคคือทางสายกลางเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์  การให้ทานจึงเป็นการสลัดความโลภความตระหนี่ออกจากจิต  ไม่ได้ให้ทานเพื่อจะได้อะไรเพิ่ม  จิตเดิมแท้เป็นประภัสสร  แต่จิตปัจจุบันถูกปรุงแต่งเกลือกกลั้วด้วย กิเลส ตัณหา อุปาทาน  จึงต้องขัดเกลาจิตให้ผ่องใส สุญญตาทานจึงเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง

เมษายน

อานาปานสติสูตร

ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  อานาปานสติ  อันบุคคลเจริญ  ทำให้มากแล้ว  ย่อมมีผลใหญ่  มีอานิสงส์ใหญ่

ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  อานาปานสติ  อันบุคคลเจริญ  ทำให้มากแล้ว  ย่อมทำสติปัฎฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์  สติปัฎฐานทั้งสี่  อันบุคคลเจริญ  ทำให้มากแล้ว  ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์   โพชฌงค์ทั้งเจ็ดอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว  ย่อมทำให้ วิชชาและวิมุติ ให้ สมบูรณ์ ……

ได้ยก  อานาปานสติสูตร  ส่วนซึ่งเป็นหลักการขึ้นมา  เพื่อชี้ให้เห็นว่า สมถะและวิปัสสนามีความเกี่ยวเนื่องและเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน  อานาปานสติเป็นหนึ่งใน 40 กองสมถะกัมมัฎฐาน  ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่วิปัสสนากัมมัฎฐานได้.

พระเดชพระคุณ พระอาจารย์ ชา  สุภัทโท  เคยแสดง  “การปฏิบัติที่ให้ผลเร็ว’’  “สมถะวิปัสสนา”  ในการทำกรรมฐานนั้นมีอารมณ์อยู่ 2 อย่าง

  1. ที่เรียกว่าให้เรามีความสงบ
  2. เรียกว่าให้เราเกิดปัญญาแล้วก็สงบทีหลัง

อารมณ์ที่ให้เรามีความสงบนั้นไม่ยากอะไรหลอก  เหมือนเด็กๆมันไม่นอน  เราก็ไปจับกระเช้าแกว่งไปมาเรื่อยๆ  เดียวมันก็หลับ  อารมณ์อันนั้นเรียกว่า สมถะกรรมฐาน  มีหลายอย่าง.

บางคนไปจับเอาอานาปานสติบ้าง  พุทโธบ้าง  ธัมโมบ้าง  สังโฆบ้าง  สารพัดอย่าง  ต้องหาความสงบนี้เป็นเบื้องแรกแต่ความสงบอันนี้  มันยิ่งมีอะไรเจือปนอยู่

สงบเพราะว่าของมันมีอยู่เราไม่รู้จักมัน  มันก็สงบ  เช่นว่า  ผ้าเช็ดเท้าที่ผมเหยียบอยู่เดียวนี้มันมีงูตัวหนึ่งอาศัยอยู่ตรงนี้  นี้คือ  สมถะทำให้จิตสงบ

กิเลสมีอยู่ก็ช่างมัน  เวลานี้อันสงบ  ที่เรียกว่าสงบจิต  ไม่ใช้สงบกิเลส  พูดตามภาษาอันนี้เรียกว่า  สมถะ  การฝึกทำจิตให้สงบ  แต่มันเป็นไวพจน์  ซึ่งกันและกัน  เพื่อจะทำให้กิเลสสงบต่อไป

เรื่องทำกิเลสให้สงบต่อไปนั้นเป็นเรื่องของ  “ปัญญา”  เรื่องของปัญญานี้ก็มีเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น ต้องเจริญอันนี้มากๆ  ไม่เกิดเดียวนั้น  ต่อไปมันก็เกิด  ถ้าเจริญไม่หยุด  ปัญญามันจะเกิดไม่หยุดต่อไป.

เรื่องทำให้จิตสงบเมื่อให้กิเลสสงบนั้น  ที่ผมว่าอารมณ์ของวิปัสสนา คือ  เรื่องอะไรบ้าง  คือเรื่องอนิจจัง  เรื่องทุกขัง  เรื่องอนัตตา  3  อย่างนี้เท่านั้นแหละ  มันเป็นเหตุให้ปัญญาเราเกิด  เราจะถูกอารมณ์ดีใจที่สุดก็ตาม  เสียใจที่สุดก็ตาม  รักที่สุดก็ช่างเถอะ  (หลวงพ่อชา)

อย่าลืมขบปัญหานี้ให้แตกหากอุปมาว่า  กิเลส   เหมือนกับงู  อย่างที่พระอาจารย์ชา ยกขึ้นมาเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ให้ตระหนัก  “เราท่านล้วนอยู่กับงู’’

การปฏิบัติไม่ว่า  สมถะกรรมฐาน  ไม่ว่าวิปัสสนากรรมฐาน  แท้จริงแล้วเป้าหมายก็เพื่อกำจัดงู  สัมถะอย่างเดียวไม่ถึงที่สุด  “งูก็ยังอยู่’’  (ผู้นำเสนอคำสอนหลวงพ่อชา)

อานาปานสติ  อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว  ย่อมทำสติปัฎฐานทั้งสี่ ให้  บริบูรณ์   หมายถึงฐานกาย  ฐานเวทนา  ฐานจิต  ฐานธรรม  บูรณาการ รวมเป็นหนึ่งเดียว  เป็นเอกคตารมณ์  ไม่มีผู้เพ่งและสิ่งที่ถูกเพ่ง  ไม่มีผู้ตามดู  ไม่มีผู้ตามรู้  ไม่มีอะไรให้เห็น  ไม่มีอะไรให้รู้  รู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างเป็น  อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา  มีความรู้สึกอย่างเดียวเท่านั้นคือ “สักแต่ว่ารู้’’

       ขั้นตอนแยกฐานพิจารณาทีละขั้น  ทีละสเต็บ  เป็นอุบายวิธีระดับสมถะกรรมฐาน  เพื่อฝึกสมาธิ  เพื่อเจริญสติ  เป็นบาทฐานเบื้องต้น  เมื่อพัฒนาจิตต่อไปสู่ระดับวิปัสสนากรรมฐาน  เพื่อให้เข้าถึง “ปัญญา’’  ปัญญาต้องเกิดขึ้นจากการเห็นแจ้งของจิต  ไม่ได้เกิดขึ้นจากการนึกคิด  จึงต้องปล่อยวางสรีระกายเข้าไปสู่ทิพย์กาย  (จิตในจิต)  เข้าไปขัดเกลาจิตให้ผ่องใสพัฒนาไปสู่ธรรมชาติเดิมของจิตคือ  ธรรมกาย  จึงหมดกิจในการเวียนว่ายตายเกิด  ขั้นตอนขัดเกลาจิตให้ผ่องใส (จิตในจิต)  บูรณาการ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นหนึ่งเดียวลื่นไหลไปตามธรรมชาติ  ธรรมารมณ์ของจิต  มีสติรู้เท่าทัน  อารมณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น  สักแต่ว่ารู้  เป็นขั้นตอน  เจริญมรรค  ทุกอย่างเกิดขึ้นตามธรรมชาติของจิต  ไม่มีการจัดตั้ง  ไม่มีการกำหนด  สักแต่ว่ารู้  ดำเนินไปเรื่อยๆ  โพชฌงค์ทั้งเจ็ดเริ่มแสดงตัว  พัฒนาโดยดำเนินมรรคไปเรื่อยๆ  โพชฌงค์ทั้งเจ็ด ก็บริบูรณ์   โพชฌงค์คือผลของการเจริญมรรคซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของจิตเดิมเมื่อผลเกิดขึ้นเต็มเปี่ยม  ผลสูงสุดคือวิชชาและวิมุติ ก็ สมบูรณ์

พฤษภาคม

การล้างพิษทางอารมณ์ (EMOTION DETOX)  เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับในชีวิตมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ถูกละเลยเพราะไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงกาลหรือความชะล่าใจขาดการใส่ใจในเรื่องของอารมณ์  เรียนรู้แต่เรื่องบำบัดรักษากายภาพและส่วนมากก็เป็นการบำบัดรักษาที่ปลายเหตุ  บำบัดรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้เน้นป้องกันที่ต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บ  ปวดหัวก็กินยาแก้ปวด  ท้องอืดก็กินยาแก้ท้องอืด  ท้องร่วงก็กินยาแก้ท้องร่วง  ปวดหัว  ท้องอืด  ท้องร่วง  คือความปกติที่ร่างกายส่งสัญญาณเตือนภัย ความไม่ปกติเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในการใช้ความคิด (มโนกรรม)  ที่มากเกินไปพฤติกรรมในการบริโภคที่ไม่ระมัดระวังความพอดี   ความมีคุณประโยชน์ของอาหาร แต่ไปเน้นที่รสชาติเป็นสำคัญ  อะไรที่มากไปหรือน้อยไปก็ส่งผลให้ร่างกายจำเป็นต้องปรับสมดุลตามธรรมชาติของเขา   วิธีรักษาโรคที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค  วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่ดีที่สุดคือ รักษาความสะอาด  สะอาดจิต   สะอาดร่างกาย  สะอาดสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมโลกปนเปื้อนไปด้วยมลภาวะทางสารเคมีโดยเกิดขึ้นจากความรู้ ความสามารถของมนุษย์ในยุคนี้  ความไม่สมดุลของ  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ ของโลกก็เกิดขึ้นจากความเก่งกาจสามารถของมนุษย์เช่นเดียวกัน   ซึ่งสร้างเครื่องมือที่ทันสมัยมาทำลายล้างความสมดุลของธรรมชาติ

เมื่อดินน้ำลมไฟภายนอกเกิดความไม่สมดุล ดิน  ฟ้า  อากาศ   ก็เกิดความแปรปรวนย่อมกระทบถึงธาตุทั้งสี่  ดินน้ำลมไฟที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ทำให้เกิดความแปรปรวนไปด้วย ภูมิคุ้มกันโรคที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติก็เกิดอ่อนแอลง โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่ถูกกระตุ้นให้แข่งขัน  เร่งรีบ  เคร่งเครียด  ความกังวล  ความห่วงใย  ความระแวดระวัง กลายเป็นความระแวง  อารมณ์เกิดความแปรปรวนทำให้อารมณ์เกิดความไม่สมดุล   ส่งผลถึงระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติอ่อนแอลงสารพิษต่างๆ ที่แฝงอยู่ใน อาหาร น้ำ  อากาศ ที่เข้าไปในร่างกายถูกขับออกมาไม่หมดกลายเป็นสารตกค้างอยู่ในร่างกาย  ย่อมทำให้กายภาพเกิดความไม่ปกติขึ้น  ส่วนมลภาวะทางอารมณ์  ไม่ว่าจะเป็นความกังวล  ความห่วงใย  ความสงสัย  ความกลัว ความเกลียดต่างๆ  ก็สะสมก่อตัวขึ้นภายในจิตใจ  กลายเป็นพิษทางอารมณ์   ทำให้  โกรธง่าย  ตกใจง่าย  หวาดกลัว   ไปหมดโดยไม่รู้ตัว อารมณ์ต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นอุปาทานที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ  แต่เป็นการแก้ปัญหาของคนในสังคม   ปัจจุบันก็แก้โดย สร้างอุปาทานใหม่เพื่อกลบเกลื่อนอุปาทานเก่า โดยไปแสวงหาความรื่นเริง บันเทิงใจ  เช่น การร้องรำ ฟังเพลง เล่นกีฬา หรือ เกมส์ละเล่นต่างๆ  เพื่อให้ลืมอารมณ์เครียดก็เป็นการกลบเกลื่อนอารมณ์ได้ชั่วคราว  มลภาวะทางอารมณ์ก็ยังคงอยู่

คำว่า  ขี้  ในภาษาไทยเดิม  ความหมายคือสิ่งปฎิกูล  หรือหมายถึงขยะ  หรือส่วนเกินที่ไม่พึงประสงค์   ในร่างกายมนุษย์เราก็มีขี้อยู่มากมาย  แบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ  ขี้รูปและขี้นาม
ขี้ซึ่งเป็นรูปธรรม เช่น  ขี้รังแค  ขี้ตา  ขี้หู   ขี้มูก  ขี้ฟัน  ขี้ไคร ขี้อุจจาระ  ขี้กาก  ขี้เกลื้อน  ขี้เมื่อย  ขี้อ่อนแอ  ฯลฯ  ขี้รูปเหล่านี้บำบัดรักษาได้โดย น้ำ, สบู่ ,ยาสระผม,  ยาสีฟัน , ยาล้างตา,ยาล้างหู ,ยาแก้โรคผิวหนัง , บีบนวด , อาหาร, วิตามิน ,หรือออกกำลังกาย  ใช้องค์ความรู้  ประสบการณ์การณ์ที่มนุษย์เราสร้างขึ้น เป็นการนำจากข้างนอกเข้าสู่ข้างใน (OUTSIDE   IN)
ส่วนขี้ซึ่งเป็นนามธรรม เช่น ขี้โลภ  ขี้โกรธ  ขี้หลง  ขี้อิจฉา  ขี้ริษยา ขี้กลัว  ขี้กังวน  ขี้สงสัย  ขี้ตกใจ  ขี้หึง  ขี้หวง  ขี้แย  ขี้เหนียว  ขี้เกียจ  ฯลฯ  ขี้นามธรรมเหล่านี้ไม่มียารักษา ต้องรักษาด้วยธรรมโอสถหรือการรักษาตามธรรมชาติ  แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหา  ขี้นามธรรมต้องๆเหล่านี้ก็คืออุปาทานซึ่งได้เกิดขึ้นในจิตใจของเราแล้ว  ที่มาของอุปาทานต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นจากตัว ตัณหา  (ความอยาก) ขี้ทุกข์รวมกันแล้วก็แยกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ขี้โลภ  ขี้โกรธ  ขี้หลง
ตัว ตัณหา จึงเป็นที่มาของความทุกข์ทั้งหมดเราจึงมีหน้าที่แก้ที่ต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด คือ ดับ ตัณหา

ทาน        =   ทำดี      = ละโลภ
ศีล           =   ละชั่ว   = ละโกรธ
ภาวนา     =   ขัดเกลาจิตให้ผ่องใส      = ละหลง

การทำดีละชั่ว  ชีวิตประจำวันทุกคนก็สามารถปฏิบัติได้เป็นปกติอยู่แล้วตลอดเวลาทุกสถานการณ์

ส่วนการเจริญภาวนา หรือ ขัดเกลาจิตให้ผ่องใสนั้น  ก็ต้องจัดเวลาให้กับจิตบ้าง  โดยหยุดการกระทำภายนอกก่อน  ส่งจิตเข้าไปสู่จิตภายในเพื่อเข้าไปล้างพิษทางอารมณ์ (EMOTION DETOX)   เปิดโอกาสให้จิตทำหน้าที่ขัดเกลาจิตให้ผ่องใส

คำว่า  HOLISTIE   MEDICLE  หรือ การรักษาแบบองค์รวม  จึงไม่ควรอยู่แค่   องคาพยพ   ของร่างกายเท่านั้น  (ALL  THE  PARTS  OF  THE  BODY)   น่าจะรวมถึงการบูรณาการระหว่างกายกับจิตด้วย  (OUTSIDE  IN + INSIDE  OUT)

มิถุนายน

เซ็นคืออะไร ?

       ตามตำนานการถือกำเนิดขึ้นของพุทธศาสนานิกายเซ็น กล่าวถึงการชุมนุมคณะสงฆ์ครั้งหนึ่ง ซึ่งเหล่าพระภิกษุต่างนิ่งอยู่เพื่อรอคอยสดับฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า   ผ่านไปเนิ่นนาน  พระพุทธเจ้าก็มิทรงเอื้อนเอ่ยตรัสถ้อยคำใดออกมา กระทั่งได้ทรงหยิบดอกบัวขึ้นมาชูต่อหน้า ขณะนั้นเองมีเพียงพระมหากัสสปะแย้มยิ้ม นั้นเป็นจุดกำเนิดของเซ็นซึ่งโดยแก่นแล้ว หมายถึง  พุทธะที่ไม่ได้ส่งทอดด้วยพระธรรม  เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์และเป็นธรรมชาติ แต่ก็ต้องผ่าน วินัย และ ความมุ่งมั่น อย่างมากพระโพธิธรรมหรือตั๊กม้อ  สังฆปรินายกองค์ที่ 28 ของอินเดีย เป็นผู้นำเซ็นมาเผยแพร่ในแผ่นดินจีน ซึ่งนับถือพุทธศาสนากันอย่างแพร่หลายแล้วในขณะนั้นศาสนาพุทธเริ่มเผยแผ่ถึงแผ่นดินจีนตั้งแต่สมัยฮั่น พร้อมกับการมีเส้นทางสายไหม ผ่านการแปลคัมภีร์ต่างๆในฐานระบบความคิดหนึ่งก่อน จนถึงสมัยของโจผีในยุคสามก๊ก จึงอนุญาตให้มีการบวชเป็นภิกษุสังคมจีนสมัยนั้นมีแนวคิดหลักคือ “ เต๋า”  กับ “ ขงจื้อ”  เต๋าออกไปทาง ปรากฏการณ์ธรรมชาติและการถือสันโดษ  ส่วน  ขงจื้อเป็นเรื่องของการสร้างหน้าที่ และกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน  เมื่อได้ยินว่าทางตะวันตกหรืออินเดียนั้นมีศาสนาที่ช่วยให้คน พ้นทุกข์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ พระจักรพรรดิ์  จึงได้ส่งคณะฑูตไปอัญเชิญพระคัมภีร์ของศาสนาพุทธเข้าสู่แผ่นดินจีนเป็นระยะ       ตอนที่ท่านตั๊กม้อ ได้เดินทางมาถึงเป็นสมัยที่แผ่นดินจีนแตกแยกเป็นราชวงศ์ เหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากยุค 5 เผ่า14 ก๊ก ทำให้ชาวฮั่นต้องถอยร่นมาตั้งเมืองหลวงอยู่ทางใต้ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์เหลียงการทำทานบารมีในพุทธศาสนาเริ่มนิยมกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เคยทำสงครามอย่างโหดร้ายมาก่อน  จนรู้สึกผิดบาปแล้วจึงทรงหันมานับคือศาสนาพุทธ  จากนั้นก็ทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นองค์อุปถัมภกต่อพุทธศาสนาให้มี ความเจริญ แพร่หลายไปทั่วภูมิภาคเหมือนกับว่าศาสนาพุทธเป็นทางออกของการกลับใจ หรืออย่างน้อยก็มีช่องทางเปลี่ยนจากความป่าเถื่อนแล้วหันมาเป็นคนใจบุญสุญทานแทน.เพราะเข้าใจแก่นพระพุทธศาสนาไปคนละอย่าง  ท่านตั๊กม้อจึงได้ละจากทางใต้  ข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงขึ้นไปทางเหนือบรรยากาศการนับถือพุทธศาสนาระหว่างทางใต้กับทางเหนือต่างกัน  ทางใต้นั้นเน้นไปที่พระสูตรคัมภีร์  ตีคามหลักธรรมคำสอนตามพื้นฐานของบัณฑิตชาวฮั่น  ส่วนทางเหนือเป็นคนเผ่าอื่นๆ ยอมรับพุทธศาสนาเพราะเห็นว่าเป็นศาสนาต่างด้าวเหมือนกับพวกตน  หากเน้นไปที่การนั่งกรรมฐานเพื่อสร้างตบะฌานซึ่งอาจจะไปกันได้ดีกับการปฏิบัติธรรมของท่านตั๊กม้อพุทธศาสนาของท่านตั๊กม้อได้ชื่อว่าเป็นนิกาย “ฉาน” (จีนกลาง) หรือ “ฌาน”(สันสกฤต) หรือ “เซ็น”(ญี่ปุ่น) ซึ่งแปลว่าการนั่งกรรมฐานท่านตั๊กม้อจึงเป็นผู้บุกเบิกทางธรรมอีกสายหนึ่งในแผ่นดินจีน คือสายที่มุ่งปฏิบัติเพื่อเข้าสู่พุทธะโดยตรง มิใช่โดยการท่องคัมภีร์หรือการทำทานบารมี  ซึ่งเท่ากับว่าต้องฝืนต่อกระแสความเชื่อของคนในสังคมขณะนั้น

ตามประวัติเล่ากันว่า  เดิมทีท่านเป็นเจ้าชายในวรรณะกษัตริย์ของอินเดีย  คือเป็นพระโอรสองค์ที่3ของพระเจ้าสิงหวรมันกษัตริย์ แห่งแคว้น คันธารราษฏร์ ซึ่งได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธและออกบวชเป็นพระภิกษุเพื่อ ข้ามพ้นความทุกข์และประจักษ์ถึงโพธิธรรมที่ผุดผ่องลึกซึ่งด้วยตนเอง

แต่แนวคิดเรื่อง “การพ้นทุกข์’’ ไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนจีนสักเท่าไหร่เพราะ “เต๋า”  และ “ขงจื้อ” ช่วยให้คนไม่ใคร่จะได้ตระหนักว่า ความทุกข์คืออะไร และ การอยู่กับธรรมชาติหรือหน้าที่ในสังคมเป็นสารัตถะที่เพียงพอกับความหมายของชีวิตแล้ว   อีกทั้งคนจีนยังเป็นชนชาติที่พบความยากลำบากได้อย่างไม่ย่อท้อ

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพุทธศาสนาผสมถึงลัทธิขงจื้อแล้ว  คนจีนก็ให้ความสนใจในเรื่องชาติภพของพุทธศาสนาว่าคนตายแล้วไปไหน  เพราะอยากรู้ว่าบรรพบุรุษของตนมีความเป็นอยู่อย่างอย่างไร  เพื่อจะได้แสดงว่าความ กตัญญู ได้ถูกต้องตามคำสอนของขงจื้อ  อย่างนี้เป็นต้น

ทว่า  เซ็นกลับไปกันได้กับเต๋าและโดยเฉพาะเต๋าของจวงจื่อนั้นถือว่าเป็นญาติสนิทกับเซ็นเลยทีเดียวเพราะมีแนวคิดเรื่องการ หลุดพ้น จากโลกปรากฏการณ์อยู่แล้ว เต๋ามีสภาวะของการไม่กระทำ เซ็นมีสภาวะของ ความว่าง

และเช่นเดียวกับเต๋าที่กล่าวว่า “ในหยินมีหยาง ในหยางมีหยิน เซ็นของตั๊กม้อก็กล่าวว่า  ในความนิ่งมีความเคลื่อนไหว ในความเคลื่อนไหวมีความสงบ

หากเข้าถึงความว่างอะไรก็เป็นเซ็นได้ทั้งนั้น  หรือเป็นเต๋าได้ทั้งนั้น

พียงแค่ทำใจให้ว่างได้ในทุกขณะแม้ว่ากายจะไม่อยู่เลย  เป็นเหมือนพุทธะที่เคลื่อนไหวมีชีวิต  หรือเป็นธรรมะที่ลุล่วงข้ามความว่าง

เซ็นมีหลักการง่ายๆว่า

 “ส่งมอบจากใจสู่ใจ อยู่นอกเหนือคัมภีร์  หากชี้ตรงไปที่จิต เพ่งสู่ภายในตนเพื่อเข้าถึงพุทธะ ด้วยการปฏิบัติ

หรือพอจะกล่าวได้ว่า “ถ้าเห็นจิตเดิมแท้ของตน  ก็ไม่จำเป็นต้องจดจำพระสูตร เพราะพุทธอยู่ในตัวท่าน”

“การบรรลุธรรมของเซ็นจึงเป็นการเข้าใจตัวเองด้วยการเพ่งให้เห็นธรรมชาติของตนก่อนจะละวางตัวตนนั้นเสีย”

แล้วคนเราจะไม่รู้จักตัวเองเชียวหรือ  หากเป็นการรู้จักในระดับของกิเลสคือรู้ว่า ตัวเองชอบอะไร –ไม่ชอบอะไร  อยากได้อะไร-ไม่อยากได้อะไร  แต่ไม่เคยรู้จักหรือเข้าใจความทุกข์ของตัวเอง  ขาดความใส่ใจที่จะให้ตัวเองพ้นทุกข์  เพราะเก็บซ่อนความเป็นพุทธะไว้ในส่วนลึกโดยไม่รู้ตัว  จนไม่สามารถโน้มนำออกมาทดแทนตัวตนที่เป็นตัณหา

การฝึกตน คือการออกกำลังเพื่อดึงเอาส่วนนั้นออกมาจากจิตใจของเราเอง  ซึ่งต้องผ่านความคิดอันฟุ้งซ่านหรือหนักหนามากมาย

วิธีการของท่านตั๊กม้อก็คือ “เมื่อประตูแห่งความรู้แจ้งยังไม่เปิด  ฉันก็ได้แต่เพียงเฝ้าดูใจไปเรื่อยๆ

การอยู่กับขณะนั้นๆหรือการจดจ่ออยู่กับจิตของตัวเองเป็นรูปแบบพื้นฐานของการนั่งสมาธิ  แต่ถ้าทำทุกอย่างได้โดยมีสมาธิก็วิเศษ  คือมีสมาธิอยู่ในทุกการกระทำนั้นเอง

เซ็นของท่านตั๊กม้อมีเพียงความเรียบง่าย ของการปฏิบัติและเพราะว่ามันเรียบง่ายเลยแตกแขนงไปได้อีกมากมาย

“ความว่าง”  ที่เหมือนหนึ่งเรียบง่ายแต่แท้แล้วยากยิ่งสำหรับมนุษย์ที่มีเรื่องวุ่นวายให้หมกมุ่น ครุ่นคิด หรือไม่ก็คิดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา

ก่อนอื่นจึงต้องเริ่มตั้งแต่การตระหนักว่า “จิตเดิมแท้ของคนเรานั้นเหมือนกันต่างไปที่การปรุงแต่ง การปรุงแต่งที่สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นต่างๆนานา  ถ้าเพ่งจนจิตว่าง ก็จะเห็นว่าจิตเดิมแท้นั้นบริสุทธิ์ใส” (ข้อมูลจากมติชนสุดสัปดาห์)

กรกฎาคม

สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือความจริง    สิ่งที่พระองค์  ทรงสอนคือ  ภาษา  จะเป็นภาษา มคธ  บาลี  สันสกฤต  อินเดียโบราณหรือแปลเป็นภาษาไทย  ก็คือภาษาที่มนุษย์เราสมมุติขึ้น  ภาษาหยาบเกินไปที่จะอธิบายสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  แต่พระองค์ใช้หลักภาษามาบอกเราว่า “ท่านจงมาดูเถิด ปฎิบัติเถิด ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นเห็นเราตถาคต”  เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น ไม่สามารถใช้หลักภาษามาพูดอธิบายให้เข้าใจและเข้าถึงได้.

เมื่อเรากินอะไรเข้าไป  ใช้ลิ้นและวิญญาณ ที่ลิ้นไปลิมรสสัมผัสจึงจะรู้ว่ารสชาติที่แท้จริงเป็นอย่างไร. ไม่สามารถจะใช้หลักภาษามาอธิบายให้เข้าใจในรสชาติที่แท้จริงได้เป็นสิ่งที่รู้ก็รู้ได้เฉพาะตัว  (ปัจจัตตัง)  เรื่องจิตวิญญาณก็เช่นเดียวกันการใช้หลักภาษามนุษย์  มาเรียนรู้แยกแยะเป็นหมวดเป็นหมู่เป็นขั้นเป็นตอนแบบวิทยาศาสตร์  “จำแนกแยกแยะหาเหตุเพื่อหวังผล  ยิ่งแยกยิ่งเยอะ  ยิ่งแยะยิ่งสับสน”  บางทีไปตีความหรือเข้าใจนัยยะของภาษาคลาดเคลื่อน  ก็ทำให้คิดผิดพูดผิดและทำผิด

อย่างคำว่า กิเลส  ทางวิชาการส่วนมากก็ไปแปลว่า  คือ  ความเศร้าหมอง ของจิต . เมื่อเราได้ยินคำว่า  เศร้าหมอง  ก็จะมีความรู้สึกไปในทางลบแต่ฝ่ายเดียว  คำว่า  เศร้า  นัยยะออกไปในทางรู้สึก  ทุกข์  สัญชาตญาณ ของปุถุชนทั่วไปไม่มีใครชอบ  ทุกข์  จึงทำให้มีความรู้สึกไม่ดีกับคำว่า  กิเลส  เพราะเข้าใจว่ากิเลสทำให้เกิดความเศร้าหมอง  กิเลสคือความเคยชิน. ความเคยชินทำให้เกิดอุปทาน  อุปทานทำให้เกิดความพอใจ, ชอบใจ,  รื่นเริง  ก็ได้.  ทำให้เกิดความเกลียด, ความไม่พอใจ,  และความเศร้าหมองก็ได้.  จิตเดิมแท้เป็นประภัสสร เมื่อ เกลือกกลั้ว  ด้วย  กิเลส  ตัณหา   อุปาทาน  แล้วก็ทำให้จิตไม่เป็นประภัสสร  เมื่อกระจกเงาที่ใสสะอาดเมื่อมีฝุ่นละอองมาเกาะติดก็จะทำให้กระจกมัว  ไม่ใสสะอาดเหมือนเก่า   กิเลสจึงมีทั้งโทษและประโยชน์อยู่ในตัวมันเองอยู่ที่ใครจะมีสติปัญญารู้เท่าทันกิเลสและรู้จักใช้กิเลสทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ตน  ประโยชน์ผู้อื่น  โดยไม่พัฒนาไปสู่ความเป็นตัณหา ทำเพราะธรรม ไม่เนื่องด้วยเจตนา  ก็สักแต่ว่าทำ  ไม่พัฒนาไปสู่ความเป็นวิบากกรรม . ถ้าปราศจากกิเลส  พระอรหันต์ก็คงเกิดขึ้นมาโลกนี้ไม่ได้.  วิธีชนะกิเลส  จึงมิใช่การมีความรู้สึกรังเกียจ หรือ  จะฟาดฟันทำลาย  แต่ต้องใช้สติปัญญารู้เท่าทันและไม่หลงในกิเลสนั้น . จึงจะเป็นการชนะที่สมบรูณ์

สิงหาคม

ทุกข์  สมุทัย   นิโรธ   มรรค   ความจริงที่ยิ่งใหญ่สี่ประการ หรือ  ที่เรียกว่า  อริยสัจสี่   เป็นความจริงซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ  ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

ทุกข์       คือความทุกข์      ต้องเห็น
สมุทัย     คือตัณหา            ต้องละ
นิโรธ       คือความดับทุกข์       ต้องทำให้เกิด
มรรค       คือหนทางสู่การดับทุกข์     ต้องดำเนิน

       ความจริงที่ยิ่งใหญ่ทั้งสี่ประการนี้เป็นธรรมะหลักที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ และทรงตรัสให้รู้ว่า  อะไรคือตัวทุกข์  อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์   อะไรคือความดับทุกข์  อะไรคือหนทางสู่การดับทุกข์ ส่วนธรรมะย่อยอื่นๆ ที่แตกต่างแขนงออกไปเป็นส่วนประกอบและเป็นแค่อุบายเพื่อส่งเสริมขบวนการดำเนินมรรคให้ขับเคลื่อนไป. เป้าหมาย  คือมุ่งสู่ความ  พ้นทุกข์ .

ศาสนาพุทธมิได้สอนให้ เป็น คนดี มิได้สอนให้ เป็น คนชั่ว แต่สอนให้คนพ้นทุกข์   ศาสนามิใช่เป็นเพียงคำสอน แต่เป็นการปฎิบัติเพื่อให้  พ้นทุกข์ มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะสอนให้ใครเป็นอะไรความคิดที่จะปฎิบัติเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์จะส่งให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ทั้งหมดก่อนแล้วจึงจะดับทุกข์ของตนเองถ้าความคิดแบบนี้ถูกต้อง  คำสอนของพระพุทธองค์ก็ไม่ถูกต้อง เพราะพระองค์ทรงพ้นทุกข์ไปก่อน  ไม่ใสสะอาดเหมือนเก่า

อริยสัจสี่ หรือความจริงที่ยิ่งใหญ่ทั้งสี่ประการนี้พูดถึงแต่เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์  ความดับทุกข์  และหนทางไปสู่การดับทุกข์   มิได้ชี้ทางให้ปฎิบัติเพื่อไปเป็นอะไร

กันยายน

โอวาทปาติโมกข์ : การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบหรือพูดตามภาษาง่ายๆคือ ทำดี ละชั่ว ขัดเกลาจิตให้ผ่องใส เครื่องมือในการทำดี คือ ทาน. เครื่องมือในการป้องกันไม่ให้ทำชั่ว คือ ศีล. เครื่องมือในการขัดเกลาจิตให้ผ่องใส คือ การภาวนา. ทานศีลภาวนา จึงเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ทาน : วัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน
ศีล : คือความปกติของจิต. เกิดขึ้นเมื่อจิตมีความสงบนิ่ง ไม่แส่ส่ายไปตามอารมณ์
ภาวนา : คือหนทางแห่งการที่จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากเงื่อนไขในสังคมต่างๆ จะค่อยๆ ปลอกเปลือกที่ห่อหุ้มออกจนเห็น “ตัวเรา” ที่เปลือยเปล่าจากเงื่อนไขต่างๆทั้งที่เราสร้างงานและสังคมสอนให้เราห่อหุ้มเอาไว้ การภาวนาจึงไม่ใช่เป็นเพียงการมาท่องบ่นอธิษฐาน แต่เป็นการทำอะไรก็แล้วแต่ “เต็มที่ไปกับมัน” ตั้งมั่นอยู่กับสิ่งนั้นนั้นแหละเป็นการภาวนา
“เปื้อน” ก็ขัดออกขัดออกไปเรื่อยๆเต็มที่กับการขัดเกลา. ไม่ย่อหย่อนความสะอาดย่อมแสดงตัว
“เมื่อประตูแห่งความรู้แจ้งยังไม่เปิด ฉันก็ได้แต่เพียงเฝ้าดูจิตเรื่อยไป”

หลักธรรมพระอาจารย์โพธิธรรม

ตุลาคม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย . อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว  ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ . สติปัฏฐานทั้ง 4  อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว  ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง 7 ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ทั้ง 7  อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว  ย่อมทำให้ วิชชา และวิมุติ สมบูรณ์

วิชชา  จึงมิใช่ความรู้ซึ่งเกิดจากการ เรียนรู้โดยการอ่าน  การได้ยิน ได้ฟัง หรือได้เห็นโดยตาเนื้อ  แต่ วิชชา  ต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการประพฤติ ปฏิบัติโดยการเจริญอานาปานสติ เจริญสติปัฏฐานทั้ง 4  เจริญโพชฌงค์ทั้ง 7  ให้บริบูรณ์  วิชชาและวิมุติจึงเกิดขึ้น.

อานาปานสติ คือการเจริญอนุสติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุบายในการเจริญอนุสติ 10 หรือเป็นส่วนหนึ่งของอุบายในการเจริญกรรมฐาน คือกรรมฐานทั้ง 40 กอง เป็นการเจริญสติเล็ก  อยู่ในส่วนของสมถะกรรมฐาน  ซึ่งเป็นบาทฐานเบื้องต้น เพื่อมุ่งสู่การเจริญวิปัสสนา

สติปัฏฐาน 4  คือเครื่องมือในการเจริญเข้าสู่การเจริญ มรรค กาย  เวทนา  จิต  ธรรม ฐานทั้ง 4 คือที่ตั้งแห่งการดำเนินมรรค โดยใช้สติพิจารณา กายในกาย เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  ธรรมในธรรม  ขั้นตอนนี้ต้อง ใช้ สติพิจารณา กาย  เวทนา  จิต  ธรรม  มิใช่ขั้นตอนของการเจริญสติ ซึ่งอยู่ในระดับสมถะกรรมฐาน เหมือนนักมวยช่วงกำลังฝึกซ้อมชกหรือเตะกระสอบทรายเพื่อให้เกิดสมาธิ เกิดสติมากขึ้น เพิ่มอินทรีย์พละของสมาธิและสติเกิดปัญญาขึ้นระดับหนึ่ง  ส่วนวิปัสสนากรรมฐานต้องพัฒนาไปสู่การเห็นแจ้งจึงต้อง ใช้ สติ  รู้เท่าทันสิ่งที่จะมากระทบ เหมือนนักมวยเมื่อต้องขึ้นเวทีชกกับคู่ต่อสู้จริง ซึ่งสามารถทำร้ายเราได้  ไม่เหมือนกระสอบทรายซึ่งเป็นเป้านิ่งชกเราคืนไม่ได้ ส่วนคู่ชกของเรานั้นเหมือนเป้าบินเพราะเขาเคลื่อนไหวได้  สามารถชกและเตะเราได้ด้วย เป้านิ่งถ้ายิงไม่ถูกก็ยิงใหม่ได้ และมีเวลาตั้งสมาธิที่จะทำการยิงสวนเป้าบินนั้น เราไม่มีเวลาตั้งสมาธิ  ตั้งสติ แต่ต้อง ใช้ สมาธิ ใช้ สติ  ที่มีอยู่แล้วอย่างฉับพลัน  มิฉะนั้นเป้าก็จะตกก่อน  พร้อมกันนั้น ยังต้องใช้ปัญญาหรือประการณ์ที่ฝึกฝนมาใช้ในการยิงด้วย

สมาธิ  สติ  ศีล  ปัญญา ส่วนหนึ่งก็มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ (โพชฌงค์) บวกกับการฝึกฝนพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในชาติปัจจุบันทำให้เกิดอินทรีย์  พละ  ที่จะเข้าไปสู่กระแสมรรค  (มรรคจิต) ซึ่งก็มีครูบาอาจารย์ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

จิตส่งออกคือสมุทัย
ผลของการส่งออกคือทุกข์
จิตเห็นจิต คือมรรค
ผลของจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งคือนิโรธ

สติปัฏฐานทั้ง 4 จึงเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่จิต (จิตในจิต) เพื่อขับเคลื่อนในการเจริญมรรค (มรรค ผล  นิพพาน)  ไม่ใช้ขั้นตอนในการเจริญสติเท่านั้น  เมื่อสติปัฏฐานทั้ง 4 เจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ฐานทั้ง 4 บริบูรณ์  คือ กาย  เวทนา  จิต  ธรรม  รวมเป็นหนึ่งในขณะจิตเดียว มหาสติก็เกิดขึ้น (สติใหญ่) สามารถระลึกรู้อดีตกรรมได้  ก็สามารถเข้าถึงขั้นตอนขัดเกลาจิตให้ผ่องใส และได้เรียนรู้จากปัญญาซึ่งเป็นประสบการณ์ตรง ซึ่งผ่านมาแล้วหลายภพหลายชาติ ซึ่งเป็นปัญญาที่แท้จริง  เป็นปัญญาซึ่งเกิดจากการเห็นแจ้งของจิต  มิใช่เกิดจากการนึกคิด หรือไปฟังไปเชื่อจากบุคคลอื่นที่บอกให้รู้ ซึ่งเป็นแค่ความจำ ไม่ใช้ความจริง  ทำให้เกิดอุปาทานขึ้นมาใหม่จากความจำ (สัญญา) ทำให้จมปลักและแช่  อยู่กับความจำซึ่งกลายเป็นสัญญาใหม่  โดยหลงว่าเป็นความรู้แจ้ง เป็นลักษณะที่เรียกว่า วิปัสสนึก คือนึกเอาเองว่าทุกอย่างเป็นสุญญตา นิโรธมีอยู่แล้ว ความว่างมีอยู่แล้ว  สติ สมาธิ ปัญญา มีอยู่แล้ว  ซึ่งเอาอารมณ์ของปฏิเวชมาพูด  แล้วก็มาฟัง  มาจำ  กลายเป็นการสร้างอุปาทานใหม่ขึ้นมากลบเกลื่อนอุปาทานเดิม แล้วทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัสกับความว่าง ซึ่งเป็นความว่างที่เกิดจากการกลบเกลื่อนอุปาทานเก่า และปล่อยวางความคิดชั่วคราว เหมือนเป็นการคิดบวกเพื่อมากลบเกลื่อนการคิดลบเท่านั้นเอง  ถ้าประคองได้ทุกขณะจิตไปเรื่อยๆ ก็จะมีความรู้สึกสุขสบายไม่ทุกข์  แต่ก็ยังไม่พ้นทุกข์  เป็นแค่วิปัสสนึก มิใช่วิปัสสนาที่แท้จริงเพราะอารมณ์แค่นี้ลิงก็ทำได้ ทาซานก็ทำได้ ถ้าพอใจแค่นี้ก็น่าเสียดาย หนึ่งชีวิตที่ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ

สรีระกาย ทิพยกาย  ธรรมกาย    ฐานกาย ฐานเวทนา ยังอยู่ในสรีระกายเมื่อปล่อยวางสรีระกายเข้าไปสู่ทิพยกายได้แล้วก็มีโอกาสได้ขัดเกลาจิตให้ผ่องใส  ขาวรอบเนื่องจากได้ขัดเกลาเอาสิ่งปฎิกูลซึ่งห่อหุ้มจิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร  ทำให้เกิดความมัวมองจนมองไม่เห็นความจริง  ได้มีโอกาสเกิดประภัสสรและเข้าสู่สภาวะเดิมคือ ธรรมกาย ส่วนขบวนการซึ่งกำลังขัดเกลาอยู่  (มรรค) ก็ต้องประสบกับอุปสรรคนานาประการตามกระแสกรรมที่เคยสร้างมา  ไม่ใช่ไปสร้างหนี้กรรมไว้แล้วก็ไปคิดเอาเองว่าความประภัสสรมีอยู่แล้ว  ว่างอยู่แล้ว  นิโรธมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไร ไปโง่ทำให้ตัวเองทุกข์ทำไม  ไปแช่ไปจมอยู่กับอดีตทำไม (อดีตเป็นบทเรียนทำให้เห็นอนาคต) ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรม ไม่ใช่ไปติดอดีต แต่ไปเรียนรู้อดีตเพื่อให้จิตไปเห็นเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องเวียนว่ายตายเกิด บางครั้งก็ใช้เวลาเรียนรู้ โปรแกรมในอดีตใช้เวลาช้า-เร็ว ก็ขึ้นอยู่กับโปรแกรมในอดีตว่าไปยึดมั่นถือมั่นมากน้อยแล้วแต่กรณี  จิตปัจจุบันถ้ามีสติปัญญาที่เพียงพอก็สามารถผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว  แต่ช้าหรือเร็วก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไรเพราะหมดอารมณ์นี้อารมณ์ใหม่ก็เกิดขึ้นอีก ให้ใช้สมาธิ สติ  ปัญญา รู้เท่าทันอารมณ์ (ธรรมในธรรม) ต่างๆที่เกิดขึ้นคือครูของจิตปัจจุบัน สักแต่ว่ารู้  สักแต่ว่าเห็น แล้วก็เหวี่ยงทึ้ง   ไม่ใช่เหวี่ยงอารมณ์เหล่านั้นทึ้ง ไม่ใช่เหวี่ยงขันธ์ 5 ทึ้ง แต่เหวี่ยงความยึดมั่นถือมั่นที่จะไปหลงติดกับอารมณ์นั้นทึ้ง ไม่ใช่ไปติดไปแช่ไปจม อยู่กับอารมณ์นั้น  แต่เข้าไปเรียนรู้กับอารมณ์นั้นๆ ซึ่งจิตเดิมไปหลงยึดติดอยู่เพียงแค่สำรวมระวังอย่าให้จิตปัจจุบันไปหลงยึดด้วย แต่ไม่ใช่กลัวว่าจะไปยึดติดจนไม่กล้าที่จะตรวจสอบอินทรีย์ พละ  ของจิตปัจจุบันว่ามีปัญญาแค่ไหน จะผ่านอารมณ์นั้นๆได้หรือไม่ ถ้าจิตปัจจุบันมีกิเลสมีจริตที่ชอบอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยก็เผลอไปยึดติดอยู่ชั่วขณะ แต่ถ้าดำเนินเจริญมรรคไปเรื่อยๆก็ผ่านอารมณ์นั้นไปได้ (เป็นหนี้จ่ายหนี้ก็หมดหนี้ไม่ใช่หนีหนี้) อดีตกรรมที่ได้สร้างมาก็เนื่องจากจิตไม่รู้เท่าทันอารมณ์  ก็เผลอไปทำตามอารมณ์นั้นๆ เมื่อโกรธก็โกรธตามไปเลย แต่ถ้าจิตปัจจุบันคอยเข้าไปดูอารมณ์ในอดีตอย่างมีสติ  จิตปัจจุบันก็จะเห็นอารมณ์ในอดีตเวลาโกรธอย่างชัดเจน และเห็นผลของความโกรธว่าเป็นทุกข์. ทำให้จิตปัจจุบันเกิดปัญญา  ปัญญาจึงต้องเกิดจากการเห็นแจ้งของจิต ที่จิตเข้าไปสัมผัสอารมณ์นั้นจริงๆ. ไม่ใช่เกิดจากการนึกคิดหรือแค่ไปเพ่งดูแล้วสร้างจินตนาการขึ้นมาเอง. ใครๆก็รู้ว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา สมองรู้แต่จิตไม่รู้ก็ยังวางไม่ลงเหมือนเดิม การเข้าไปสู่จิตในจิตจึงเป็นเรื่องจำเป็น

พฤศจิกายน_

ทางสายกลาง  ไม่ใช่ครึ่งๆกลาง  กล้าๆกลัวๆ  เบื่อๆอยากๆ   แต่ต้องเต็มที่ไปกับมัน  (TOTALLY)  เพียงแต่มีสติรู้ความพอดีและเหมาะสมกับตัวเอง  ไม่หย่อนเกินไปไม่ตรึงเกินไป  และก็ไม่ใช่ชั่วครึ่งหนึ่งดีครึ่งหนึ่ง  ถูกครึ่งหนึ่งผิดครึ่งหนึ่ง  ละชั่วคือไม่กระทำความชั่วเลย ทำดีก็ยึดหลักสายกลาง  คือทำดีทำแค่พอดี  พอเหมาะพอสมกับกำลังตนเองและไม่ติดดี  ทำดีเพราะทำดี   การขัดเกลาจิตให้ผ่องใส  ก็ยึดหลักความพอดี  ไม่มากไปไม่น้อยไป  พอเหมาะพอสมตามที่ควรที่จะเป็น  ไม่ใช่มั่งมุ่นจนเกินควร ทรมานสังขารจนเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย  ไม่ใช่ความเพียรชอบ สุดโต่งไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ไม่เรียกว่าทางสายกลาง

อาชีพ   อาศัยยังชีพ
คืออยู่ได้  ไม่ตาย
ดำรงชีวิตนี้ใช้เพื่อเจริญมรรค
มิใช่ไปเล่นเกมรวยกัน
ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ
ทำอะไรเกินตัวทำให้เกิดทุกข์
มิใช่ทางสายกลาง

คิดพอดี  ทำพอดี   ใช้พอดี กินพอดี  ละชั่ว  ทำดี   ขัดเกลาจิตให้ผ่องใสอย่างพอดี

ธันวาคม

อกาลิโก : ไม่จำกัดกาลเวลา หรือสถานที่ในการเจริญภาวนา หรือเจริญมรรค วุ่นวายก็เจริญ ไม่วุ่นวายก็เจริญ สงบก็เจริญ ไม่สงบก็เจริญ เสียงอึกกะทึกครึกโครมไม่ใช่ที่มาของความไม่สงบ ความไม่สงบเกิดขึ้นจากอารมณ์และท่าทีที่มีกับมัน ถ้าเราฝึกเจริญภาวนาอยู่ในสถานที่สงัด สงบเงียบ เป็นประจำ เวลาผ่านไปเนิ่นนานก็จะกลายเป็นความเคยชิน ทำให้เกิดอุปาทานขึ้นว่าจริตเราชอบความสงบเงียบ เมื่อเจอสิ่งแวดล้อมที่วุ่นวาย ก็ทำให้เป็นอุปสรรคของการเจริญภาวนา เพราะอุปาทานทำให้เกิดวิตกจริต ทำให้จิตรวมเป็นหนึ่งได้ยาก

สงบเงียบเป็นสภาวะสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่เกี่ยวกับจิต เราฝึกจิตเพราะจิตเป็นตัวหลุดพ้น จิตต้องสงบนิ่ง ไม่เกี่ยวกับสงบเงียบ สงบนิ่งก็เป็นเรื่องของจิต ไม่เกี่ยวกับกิริยา หรืออิริยาบถของร่างกาย จิตต้องนิ่งอยู่กับการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถของร่างกาย ยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายอยู่ในอิริยาบถนิ่งก็ได้เคลื่อนไหวก็ได้ จิตนิ่งอยู่กับการรับรู้อิริยาบถต่างๆ ที่เกิดขึ้น

เสียงดังก็สักแต่ว่ารู้เสียงดัง เงียบก็สักแต่ว่ารู้ว่าเงียบ ไม่ต้องไปรู้ว่าทำไมถึงเสียงดัง ทำไมถึงเงียบ สักแต่ว่ารู้ก็เพียงพอแล้ว รู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อยู่ได้กับทุกสถานการณ์ มิใช่ยิ่งเจริญภาวนายิ่งอุปาทานมากขึ้น อะไรมากระทบก็รับไม่ได้ เป็นการขาดสติ เพราะพละกำลังของสติไม่พอ