คำว่า “เฝ้ามอง” เป็นภาษาที่เค้าใช้ทางพุทธศาสนา ซึ่งคล้ายๆกับ “สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น” คือ เฝ้ามองดู ไม่ใช่ไปตามรู้ ไม่ใช่ไปตามดู ไม่ใช่ไปเพ่งพิจารณา
กับดักของคำว่า “ตามรู้ ตามดู” มันแฝงด้วยตัณหา แฝงด้วยความอยากรู้ อยากเห็น มันยังแฝงด้วยนิสัยเราที่ถูกบ่มเพาะมา
เราถูกสอนให้เป็นนักเรียนรู้ ทำให้ติดบ่วงตัวตัณหาโดยเราไม่รู้ตัว
เมื่อเราไปตามรู้ ไปตามดูอารมณ์ ที่เกิดขึ้น มันก็ง่ายมากที่จะถูกดูดเข้าไป ยิ่งถ้ามีกระแสกรรมลูกโตๆ
มันจะดูดเราเข้าไป แล้วเราจะไปทำตามอารมณ์นั้น
การเฝ้าดู เปรียบเสมือนเราเป็นคนเฝ้าบ้าน เฝ้าดูเฉยๆ ต้องไม่แฝงด้วยความรู้สึกที่จะไปใฝ่หาอะไร ต้องไม่มีอารมณ์
และก็ต้องไม่มีอารมณ์ที่คิดว่า ไปผลักไสไล่ส่ง ไม่มีอารมณ์อยากได้ หรือไม่อยากได้
ถ้าไม่อยากได้ไปผลักไส ก็เป็น วิภวตัณหา อยากได้ หรือทำเพื่อมีเจตนา ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน
การเฝ้ามอง ต้องจิตเป็นกลางๆ อารมณ์เฝ้ามอง ก็คือ สักแต่ว่ารู้ เราไม่อยากรู้อะไรเลย เพราะธรรมชาติไม่มีอะไรให้รู้
…มันเป็นอนิจจัง…ทุกขัง…อนัตตา…
– พ่อครู บัญชา ตั้งวงษ์ไชย –