080-5519598 (คุณแก้ว) plarnkhoi@hotmail.com
Select Page

เต้นสู่ธรรม : หนทางสู่นิพพานที่ไร้รูปแบบ

———–

ล่าสุดมีโอกาสได้ไปปฏิบัติที่ศูนย์พลาญข่อยที่อุบลฯมา น่าสนใจมากๆ อยากเอามาเล่าให้ฟังกัน (ไปทำสารคดี ตามรอดูกันนะ)

ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าการไปที่นี่ต้องเปิดใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการฉีกออกมาจากรูปแบบที่สังคมไทยคุ้นชินมามากมายทีเดียว

หากเข้าไปในศาลาปฏิบัติธรรมของที่พลาญข่อย โดยไม่รู้อะไรมาก่อนเลย สิ่งที่เห็นจะทำให้ตกใจมากๆบางคนอาจจะเก็บผ้าหนีกลับบ้านไปเลย นึกว่าลัทธิอะไรบางอย่าง

สิ่งที่จะได้เห็นทุกๆค่ำคืนที่นี่ คือศาลาปฏิบัติฯที่มีเสียงเพลงอึกทึกครึกโครมเหมือนอยู่ในผับ เป็นเพลง Dance จังหวะเร้ารัว มีผู้คนจำนวนมากมายหลับตาเคลื่อนไหว
ไปตามเสียงเพลง บ้างกลิ้งไปกลับพื้น บ้างหมุนตัวอย่างรวดเร็ว บ้างส่งเสียงร้องดั่งไม่ใช่ภาษาคน บ้างออกท่ารำต่างรูปแบบกันไป รำไทยบ้าง รำมวยจีนบ้าง
บ้างก็กระโดดโลดเต้นไร้รูปแบบเหมือนอยู่ในผับจริงๆ

ความแตกต่างคือพวกเขากำลังเต้น อย่างมี”สติ” …

…เอาเข้าจริงๆแล้ว ไม่ใช่ตัว “พวกเขา”ด้วยซ้ำ ที่กำลังเต้นอยู่ แต่มันคือ “จิต” ของพวกเขา ที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป้นอิสระ

อิสระ จากมารยาท จากสถานะทางสังคม จากความกลัว ความอาย จากความเหนื่อยล้า จากกิเลสที่ทั้งหยาบและละเอียดทั้งปวง

มันคือใจที่นิ่งสงบ ภายในกายที่คลื่นไหวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

วิธีการนี้ ชื่อว่า “นานาจิตตัง” เป็นวิธีการที่ถูกออกแบบโดยพ่อครูบัญชา ตั้งวงษ์ไชย ผู้ก่อตั้งศูนย์พลาญข่อย โดยตั้งอยู่สมมุติฐานที่ว่า จิต (Subconciousness)
ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน มีวิธีการพัฒนาตัวเองที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ จิตของเรารู้วิธีขัดเกลาตัวเองเพื่อให้เกิดปัญญาที่สามารถมองเห็นกิเลสตัณหาอยู่แล้ว
พูดง่ายๆคือปัญญา(ในเชิงพุทธ)นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปเรียนรู้จากข้างนอกเพิ่มเติม แต่อยู่ในส่วนลึกของสามัญสำนึกของทุกๆคน เพียงแค่ต้องปล่อยให้มันเป็นอิสระ
และทำหน้าที่ในการค้นหาของมันอย่างเต็มที่ ด้วยวิถีทางที่แตกต่างกันไป

เพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น เราคงต้องเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราคุ้นชิน

ในการปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ว่าที่ไหน เราก็มักพบว่า

1. เราต้องถือศีล เพิ่มเติมจากชีวิตปกติ ไม่ว่าจะเป็นกินข้าวมื้อเดียว สองมื้อ ไม่กินเนื้อสัตว์ งดสูบบุหรี่ เก็บวาจา ฯลฯ

2.สถานปฏิบัติธรรมแต่ละที่ก็จะมีรูปแบบของตัวเองในการเจริญสติ เพื่อให้เกิดสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลมหายใจ(อานาปานสติ) เดินจงกลม
การขยับมือ14 จังหวะแบบหลวงพ่อเทียน นั่งสมาธิสิบชั่วโมงรวดแบบท่านโคเอนก้า ฯลฯ

3. เน้นการเจริญสติ ที่อยู่ในภาวะสงบนิ่ง บรรยากาศร่มเย็น ไม่มีสิ่งยั่วกิเลสและรบกวนจิตใจ

ซึ่งลักษณะเหล่านี้ หากปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเกิด ศีล สมาธิ และ ปัญญา ขึ้นตามลำดับ

ซึ่งจากความเข้าใจของผม มุมมองของพ่อครูบัญชานั้น (ผ่านการวิเคราะห์เพิ่มเติมของตัวผม) มองว่าสามข้อนี้ ทำให้เกิดปัญหาคือ

1. การเริ่มจากการ”ถือ”ศีลนั้น จิตมนุษย์มักไปจดจ่ออยู่ที่เรื่องความผิดความถูกมากกว่าการใช้ศีลเป็นเครื่องมือในการสร้างสมาธิและปัญญา ทำให้เกิดกิเลสเพิ่มเติม
ทั้งความกังวลเรื่องความเหมาะสม การตัดสินตัวเอง และที่พบบ่อยที่สุดคือการใช้ศีลไปเป็นเครื่องมือตัดสินผู้อื่น (พ่อครูพูดว่าศีลอย่าไป”ถือ”มัน ถือแล้วหนัก ศีลเป็นธรรมชาติ ให้มันเกิดขึ้นเอง)

2. รูปแบบใช้ไม่ได้ผลเท่าเทียมกันกับทุกคน จริตติดตัวตั้งแต่เกิด (ซึ่งเป็นกิเลสที่ละยากมากๆๆๆ) ของเราทำให้เราโอเคกับการปฏิบัติคนละแบบแตกต่างกันไป
ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำบริกรรมยุบหนอ พองหนอ นับลมหายใจพุทธ-โท สิ่งเหล่านี้ล้วนนับเป็นรูปแบบ หรือ Form ทั้งสิ้น เพราะ ฉ นั้น การไม่มีรูปแบบ(ทางกายภาพ)
จริงๆน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ให้จิตแต่ละดวงค้นหาทางสู่ปัญญาของตนเอง

3. การอยู่ในรูปแบบละสภาวะสงบนิ่ง ทำให้สุขและสงบในขณะนั้น แต่มักจะค่อยๆเลือนหายเมื่อต้องกลับเข้าสู่ชีวิตเมือง ที่กิเลสและความทุกมาอย่างรวดเร็วและฉับไว
การติดสงบเหมือนการชกมวยสนามซ้อม ยิงเป้านิ่ง แต่เวลาลงสนามจริง ยิงเป้าบินในชีวิตจริง กลับตามกิเลสไม่ทัน คือปฏิบัติจนเกิดสติ แต่ยังไม่เกิดปัญญา
เพราะยังไม่ได้สู้กับกิเลสของจริง เกิดเพียงอนุสติชั่วคราว ไม่ใช่มหาสติที่เป็นการShiftความเป็นจริงของเรา เพราะฉะนั้นควรใช้วิธีที่อารมณ์ กิเลส รูปนาม
เกิดและดับอย่างรวดเร็ว เพื่อให้จิตของเราแข็งแรงมากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็ต้องหนีเมืองไปพึ่งธรรมเป็นร่ำไป

ด้วยแนวคิดเหล่านี้ นำมาสู่การออกแบบวิธีการปฏิบัติในศูนย์พลาญข่อย (ที่เอามาจากประสบการณ์ที่ตัวพ่อครูเองเล่าว่า 25 ปีก่อน เคยเป็นนักธุรกิจ ประสพความสำเร็จ
รวยมาก แต่ไม่มีความสุข อยู่ดีๆก็ตัดสินใจนั่งสมาธิคนเดียวสามชม.โดยไม่เคยศึกษาธรรมะใดๆมาก่อนเลย แต่ในสามชม.นั้นจิตสามารถสอนตัวเอง จนเกิดปัญญาเห็นธรรมขึ้นมาได้)
กล่าวคือไร้รูปแบบ ไร้กฏระเบียบ และเน้นการปฏิบัติที่รูปนามความคิดเกิดและดับอย่างรวดเร็ว

เกิดการเรียงลำดับใหม่ของการปฏิบัติ คือเดิมจาก ศีล ไป สมาธิ ไป ปัญญา เรียงใหม่เป็น สมาธิ ในการปล่อยจิตเป็นอิสระทำให้ เกิดปัญญา และศีลจะตามมาเอง
หลังจากเกิดปัญญาแล้ว เป็นธรรมชาติ เป็นวิถี กล่าวคือผู้มีปัญญาเห็นทุกข์และทางดับทุกข์ ย่อมไม่ละเมิดศีลข้อใดโดยอัตโนมัติ ถึงแม้ว่าจะไม่รู้ว่าศีลแต่ละข้อมีอะไรบ้างก็ตาม

“นานาจิตตัง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่พลาญข่อย นี้ใช้เสียงเพลงเป็นตัวแทนผัสสะ ที่มากระทบประสามสัมผัสของเราจากโลกภายนอก ซึ่งปกติจะทำให้เกิดอารมณ์ชอบไม่ชอบ
แต่ในที่นี้ให้เพลงเป็น แค่”เสียง”ที่มากระทบหูเฉยๆ และเมื่อ”เข้าจิต”ได้ถึงจุดหนึ่ง ร่างกายก็จะค่อยๆเคลื่อนไหวไปเองอย่างอัตโนมัติ autopilot
โดยที่ผู้ปฏิบัติเลิกพยายามที่จะควบคุมทุกสรรพสิ่ง และปล่อยให้จิตที่เป็นอิสระจากความกลัว ความอาย สถานะ ฯลฯ ควบคุมร่างกายเราไป และสมองส่วนที่เป็น
Conciousness มีสติก็ยังตื่นรู้อยู่ และคอยเฝ้าสังเกตุ เฝ้าระวัง อีกชั้นหนึ่ง สังเกตุสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไป ทั้งในเชิงกายภาพ และนามธรรม ยิ่งทำอย่างเชี่ยวชาญ
ก็จะยิ่งเห็นการทำงานของจิตมากขึ้น เห็นกิเลสมากขึ้น เห็นความคิดตัวเองได้ชัดขึ้น โดยที่ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ของจิต คือเราไม่ต้องไปควบคุมมัน มันจะไปของมันเอง

จากประสบการณ์ลองทำของตัวผมเอง (ซึ่งตอนแรกขมวดคิ้วสงสัยอย่างแรง) ขอยืนยันว่าได้ลองเข้าไปในภาวะจิตดังกล่าวเองแล้ว และมันแปลกประหลาดมาก
กับการไม่ใช่ผู้ควบคุมร่างกายตนเองอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันกลับรู้สึกสงบอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งหากมีเวลาเดี๋ยววันหลังจะมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดอีกที
หรือไม่ก็ติดตามในสารคดีที่กำลังทำกันอยู่นะครับ

อย่างไรก็ตาม หากอ่านแล้วสนใจ หรือมีคำถาม ผมคงให้คำตอบอะไรไม่ได้ เพราะคำตอบทุกอย่างอยู่ในการลองทำเองครับ ใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม
ไปดูได้ที่เวปไซต์ www.plarnkhoi.com หากอยากลองไม่ต้องไปถึงอุบล เพราะมีศูนย์ย่อยที่กรุงเทพด้วยครับ ลองติดต่อที่นี่ดูครับhttp://www.plarnkhoi.com/contactUs_bangkok.html

หากยังเข้าจิตไม่ได้ไม่เป็นไร ยืนยันว่าเหงื่อท่วมชัวร์ อย่างน้อยหุ่นเฟิร์มครับ

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ป.ล. มีคนชอบถามผมว่าตอนนี้เป็นชาวพุทธแล้วเหรอ (เพราะเมื่อสี่ปีก่อน ตอนเริ่มทำพื้นที่ชีวิต ประกาศออกไปว่าไม่มีศาสนา) ขอตอบอย่างงี้แล้วกันนะครับว่า
ตอนนี้ “นับถือ”ศาสนาพุทธ แต่ไม่ได้เป็นชาวพุทธในแง่ประเพณีวัฒนธรรม และไม่ได้เป็นชาวพุทธในแง่จำกัดให้เราต้องดูคำสอนของพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว
และคำว่า”นับถือ”ในที่นี้ ก็คือนับถือในความหมายตรงตัวจริง ที่พอจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Respect แต่ไม่ใช่ Worship ครับ