080-5519598 (คุณแก้ว) plarnkhoi@hotmail.com
Select Page

บทความพ่อครู-02

ในยุคพุทธบริษัทเราได้เสียเวลากับการสร้างวัตถุมากจนเกินไป จนไม่ค่อยมีเวลากับการเดินทาง ทางก็คือทางรอดพ้น หรือทางหลุดพ้น ทางก็ได้แก่
วิธีปฏิบัติ สำหรับ กาย วาจา ใจ เพื่อเดินออกจากความมีทุกข์ ทางๆ นี้พระพุทธศาสนาเรียกว่า ทางสายกลาง หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ถ้าทางที่เอียง
ไปซ้ายหรือเอียงไปขวา ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาทางพุทธศาสนาต้องเป็นกลาง หนทางๆ นี้มีส่วนประกอบแปดส่วน เรียกว่าทางมีองค์แปด หรือมรรคมีองค์แปด

หมวดของปัญญา

(1) ความเข้าใจถูกต้อง

(2) ความมุ่งหมายถูกต้อง

หมวดของศีล

(3) การพูดจาถูกต้อง

(4) การกระทำที่ถูกต้อง

(5) การดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง

หมวดของสมาธิ

(6) ความพยายามถูกต้อง

(7) การดำรงสติควบคุมตัวถูกต้อง

(8) การดำรงใจมั่นอย่างถูกต้อง

“ทางมีองค์แปด”หรือ “มรรคมีองค์แปด”นี้จึงเป็นที่ชุมนุมของ “ไตรสิกขา”
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นทางสายเดียว แต่ประกอบไปด้วยองค์แปด ซึ่งจะต้องประพฤติปฏิบัติครบทั้งแปดอย่างในขณะเดียวกัน
จะไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จึงจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ทาง” ขึ้นมา

ความเข้าใจถูกต้อง หรือความเห็นชอบนั้นหมายถึงปัญญาหรือความรู้ ซึ่งก็ได้แก่วิชชาที่ตรงข้ามกับอวิชชา มีทิฏฐิที่ถูกต้อง คือเข้าใจว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สังขารทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกข์เป็นอย่างนั้น เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนั้น ความไม่มีทุกข์เป็นอย่างนั้น ทางให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างนั้น หรือว่ากรรมหรืองสังสารวัฏเป็นอย่างนั้นๆ เมื่อมีความรู้ความเห็นโดยถูกต้อง หรือโดยชอบแล้ว เรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิ

ความมุ่งหมายถูกต้อง หรือความดำริชอบนี้ย่อมเดินไปตามความเข้าใจที่ถูกต้อง คือเดินไปในทางที่จะดับทุกข์นั่นเอง เมื่อรู้เรื่องความดับทุกข์แล้ว ความมุ่งหมายก็ดิ่งไปแต่ในทางที่จะดับทุกข์ก็คือกาม ของรักของใคร่ทั้งปวง มุ่งหมายที่จะไม่โกรธ ไม่ประทุษร้าย มุ่งหมายที่จะไม่ทำความลำบากให้เกิดขึ้นแก่ตนเองหรือผู้อื่น เรียกว่า มีความมุ่งหมายชอบหรือถูกต้อง

การพูดจาถูกต้อง คือจะต้องมีความรู้ในการพูดจาให้ถูกต้องให้สำเร็จประโยชน์ให้จริงและให้ไพเราะ คำพูดนั้นมีประโยชน์ คำพูดนั้นจริง คำพูดนั้นน่าฟัง ส่วนมากมักจะพูดเล่นกันเป็นส่วนใหญ่ พูดเล่นสนุกสนานพอเผอเรอเรื่องก็พลอยไม่เป็นจริงไปตาม ถ้าไม่แน่ใจก็นิ่งเสียดีกว่า ไม่ควรพูดออกมา ถ้าพูดก็ควรพูดให้เป็นธรรม คือพูดโดยชอบ มีประโยชน์จริง และน่าฟัง ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ทั้งหมดก็เริ่มมาจากข้อที่หนึ่ง คือมีความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงจะทำให้พูดจามีประโยชน์ ให้จริง ให้น่าฟังได้โดยง่าย

มีการงานหรือการกระทำชอบ คือการงานนั้นต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น ไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม เพราะการฆ่า การขโมย การประพฤติผิดในกามนั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งหมดก็คือการไม่กระทบกระทั่งประโยชน์และความสุขของผู้อื่นนั่นเอง

การดำรงชีวิตชอบ ความหมายว่าต้องแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ แล้วบริโภคปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตที่หามาได้โดยอาการที่ชอบ เพื่อทำให้การเป็นอยู่นั้นเป็นปกติสุข หรือเจริญก้าวหน้าไป เรียกว่า อาชีพชอบ อาชีพอาศัยยังชีพ คืออยู่ได้ไม่ตาย อาชีพชอบ ก็คือการดำรงชีพอย่างถูกต้อง ทำให้มีความเจริญทางร่างกายนี้ ให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

มีความพยายามถูกต้อง คือพยายามมีจิตใจที่บากบั่น ไม่ถอยหลังไปจากทางที่จะรอดพ้น เมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นทางรอดพ้น หรือมีเป้าหมายซึ่งเป็นจุดที่จะรอดพ้น ก็บากบั่นพยายาม มีจิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญ อดกลั้นอดทน บากบั่นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่จะรอดพ้นอย่างไม่ท้อถอย เรียกว่าพยายามชอบ

ความระลึกชอบ หรือการควบคุมความรู้สึกให้มีความรู้สึกในทางที่ถูกต้อง สติคือการรำลึกประจำอยู่ในจิตใจ แปลว่าระลึกได้ทันท่วงทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น สติเปรียบเสมือนคนมีอาชีพเป็นคนเฝ้ายาม ต้องไม่เคยเผอเรอเลยอย่างยิ่ง คนเฝ้ายามนี้มีหน้าที่หลักคือดูแลประตูทางเข้าทั้งหก หรือที่เรียกว่าทวารหก หรือเรียกว่าอายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใน เพราะข้าศึกหรือภัยอันตรายที่เรียกว่ากิเลส พร้อมที่จะบุกรุกเข้ามาทุกเมื่อถ้ามีการเผอเรอ ในขณะเดียวกันยังมีหน้าที่เป็นยามเฝ้าดูประตูทางออกอีกสามทางคือทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ปล่อยให้ศัตรูหรือตัวอันตรายที่เรียกว่ากิเลสที่ได้หลบซ่อนอยู่ข้างในบ้านอยู่แล้ว ได้ใช้ประตูทางออกทั้งสามทางนี้เป็นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ และเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อมาสร้างความแข็งแกร่งและขยายเผ่าพันธุ์ โดยมีเป้าหมายที่จะปฏิวัติยึดบ้านหลังนี้เป็นของตน พระพุทธศาสนาจึงมีวิธีปฏิบัติอย่างมากมายเพื่อทำให้เกิดสติ ถ้าใช้สติไปในทางที่ถูกที่ควร คือไม่ไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น จึงเรียกว่าสัมมาสติ แต่ถ้าใช้สติไปในทางไม่ถูกไม่ควร คือมีการเบียดเบียนเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเบียดเบียนตัวเองหรือผู้อื่น เช่น ผู้ที่ยึดอาชีพขโมยหรือโจร ก็ต้องมีสติจึงจะทำหน้าที่สำเร็จ แต่ไม่ถือว่าเป็นสัมมาสติ เพราะมีการเบียดเบียนเกิดขึ้น

ตั้งใจมั่นถูกต้อง หรือตั้งใจมั่นชอบ สมาธิแปลว่า ตั้งมั่น แต่ไม่ใช่ตั้งมั่นอย่างก้อนหิน หรือว่าตั้งมั่นอย่างคนไม่มีชีวิต มันตั้งมั่นด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง ไม่ใช่ไม่มีความรู้สึก สงบก็สงบอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้าเพ่งพิจารณาสิ่งใดอยู่ ก็พิจารณาอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบ ความสงบทำให้เกิดความนิ่ง ไม่ใช่ทำให้เกิดความสงบเงียบ ความสงบเงียบเป็นเรื่องของสภาวะภายนอก ไม่เกี่ยวกับจิต จิตต้องสงบนิ่ง ไม่ใช่สงบเงียบ สงบนิ่งก็ไม่ได้หมายความว่าอยู่เฉยๆ เหมือนตอไม้ ซึ่งมันเป็นเรื่องของวัตถุ แต่สงบนิ่งนี้มันเป็นเรื่องของจิต เป็นภาวะความรู้สึกของจิต เราฝึกจิตเพราะจิตเป็นตัวหลุดพ้น ไม่ใช่ฝึกสังขารร่างกาย สังขารร่างกายเป็นแค่ฐานของการฝึก ถ้าเป็นเรื่องทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือการปฏิบัติทางจิต ก็หมายความว่าจิตตั้งมั่นอยู่ในลักษณะที่จะเห็นแจ้งต่อไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่เรียกว่าตั้งมั่นอย่างถูกต้อง หรือเรียกว่าตั้งมั่นชอบก็ได้ ซึ่งจิตมีสภาวะสงบนิ่งอยู่กับการเพ่งพิจารณาให้เห็นแจ้งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ถ้าจิตสงบนิ่งอยู่กับการดื่มสุราของมึนเมา ซึ่งเป็นเหตุให้ขาดสติ ไม่เรียกว่าตั้งมั่นชอบ เพราะมันไม่ถูกต้อง มันเบียดเบียนตัวเอง

เมื่อจิตตั้งมั่นได้แน่วแน่แล้ว ท่านเรียกว่าฌาน ฌานนี้เรียกว่าความเพ่งอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ฌานจึงเป็นการเพ่งอยู่เป็นประจำอย่างถูกต้อง ส่วนญาณคือความรู้ที่เกิดขึ้น เมื่อมีความเพ่งอยู่เป็นประจำอย่างถูกต้อง ความรู้ก็จะค่อยๆ แสดงตัวออกมา ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ รู้ ตามลำดับ ซึ่งเป็นความรู้ซึ่งเกิดขึ้นเองจากปัญญาของจิต ซึ่งมิใช่ความรู้ซึ่งเกิดขึ้นจากความนึกคิด ที่เกิดขึ้นจากสมองและใจ ซึ่งเป็นเพียงการคาดคะเนตามประสบการณ์และสัญญาเดิมที่ถูกบันทึกไว้โดยขันธ์ 5 เป็นความรู้ซึ่งเกิดจากการปรุงแต่ง มิใช่ความรู้ซึ่งเป็นสัจธรรมที่แท้จริง

ทางมีองค์แปด หรือมรรคมีองค์แปด ถือว่าเป็นธรรมะปฏิบัติที่สำคัญที่สุด คือเป็นตัวพุทธศาสนา ธรรมะปฏิบัติอื่นๆ อีกแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น
ถือว่าเป็นธรรมะลูกที่แตกแขนงออกไปเป็นส่วนย่อยๆ แต่รวมลงได้ในคำว่า “ทาง” ทางคือทางเดินเพื่อมุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ เช่น การให้ทาน
ถ้าให้เพราะว่ามีความเข้าใจถูกต้อง มีศรัทธาถูกต้องก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้ามีการกระทำโดยการให้ทาน ก็เป็นการกระทำชอบ คือ เป็นสัมมากัมมันตะ

เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเรียนรู้เรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรคมีองค์แปดแล้ว ยังไม่ใช่ตัวแท้ของศาสนา มันเป็นเรื่องความรู้ และคำกล่าวให้รู้เรื่องศาสนาเท่านั้น
ตัวแท้ตัวจริงของศาสนาต้องเป็นตัวการปฏิบัติ เพราะศาสนามิใช่เป็นเพียงคำสอน แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์

อุปมาดั่งผู้ปฏิบัติธรรมที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ถ้ามีความเชื่อความศรัทธาว่ากรุงเทพฯ คือแดนแห่งความพ้นทุกข์แล้ว สิ่งที่ต้องทำต้องปฏิบัติ
อันดับแรก ก็ต้องศึกษาพิจารณา ดูว่าจะเลือกวิธีเดินทางอย่างไร ทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางเครื่องบิน ทางเรือ หรือจะเดินเท้า
อย่างไรที่เหมาะกับจริตของตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องกระทำเหมือนกันคือ“เดินทาง” บางทีถูกวิตกจริตครอบงำ มัวแต่วิเคราะห์วิจัย
ถ้าจะเดินทางโดยทางรถทัวร์ ต้องรู้ก่อนว่าเจ้าของบริษัทรถทัวร์คือใคร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร มีอุปนิสัยเป็นเช่นไร ใช้รถยี่ห้องอะไร
มาจากประเทศไหน ประกอบด้วยอุปกรณ์อะไร มีน็อตกี่ตัว ใครเป็นคนขับ มีลูกมีเมียหรือยัง ระหว่างทางจะเป็นอย่างไร กรุงเทพฯ
เป็นอย่างไร เขาดินตั้งอยู่บนถนนอะไร มีลิง มีเสือ อย่างละกี่ตัว ศึกษาจนหมดแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์แล้วก็ตายพอดี
ชาติหน้าเกิดมาใหม่ก็ลืมหมด ก็มานับหนึ่งใหม่ แล้วเมื่อไรจะถึงกรุงเทพฯ เสียที

ไม่เคยพูดว่าปริยัติเป็นสิ่งไม่ดี ปริยัติเปรียบเสมือนคู่มือ
ในการปฏิบัติ ตัวปริยัติเองไม่มีอะไรเสียหาย ซ้ำยังมีคุณค่าทางศาสนาอย่างมากมาย ปัญหาอยู่ที่ผู้ศึกษาปริยัติ มิได้อยู่ที่ตัวปริยัติ
ผู้ศึกษาปริยัติส่วนมากจะไม่รู้จักความหมายของคำว่า “ธรรม” คืออะไร การแปลบัญญัติส่วนมากจะมีทิฏฐิของตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง
ตามความเข้าใจของตนเอง จึงทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดกันอย่างมากมาย ถ้ารู้จักศึกษาปริยัติเพียงพอแค่เอื้อต่อการปฏิบัติ
บางทีอาจเจอแนวทาง มีดวงตาเห็นธรรมบ้าง เพราะธรรมนั้นถ้าผู้ใดได้เห็นแล้ว จะไม่มีอะไรแตกต่าง เมื่อเห็นธรรมแล้ว
ถ้ามีความประสงค์อยากรู้ว่าสมมุติและบัญญัติของธรรมนั้นๆ เรียกว่าอย่างไร ก็สามารถกลับมาศึกษาปริยัติอีกได้ การแปลบัญญัติ
ก็จะไม่มีทิฏฐิของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง อุปมาเหมือนเมื่อเราได้เดินทางไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว
ถ้ามีความประสงค์ที่อยากจะรู้เรื่องรายละเอียดของสวนสัตว์เขาดิน เราก็สามารถเดินทางไปที่เขาดิน สัมผัสเขาดินด้วยตนเอง
อยากรู้ว่าสัตว์แต่ละชนิดเขาสมมุติและ บัญญัติชื่อว่าอย่างไร เราก็ดูป้ายที่เขาเขียนไว้ ข้อสงสัยใดๆ ก็จะไม่มี เพราะมันเป็นแค่สมมุติ
และบัญญัติเท่านั้น

“มรรคมีองค์แปด” ทั้งแปดส่วนมีความต่อเนื่องและเอื้อกันอยู่อย่างแยกไม่ออก ถ้าเรามีความเห็นชอบหรือมีความเข้าใจ
ถูกต้องเป็นเบื้องต้น ซึ่งเป็นตัวปัญญา ความดำริชอบ วาจาชอบ การกระทำชอบ อาชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกรู้ชอบ
การดำรงใจมั่นชอบก็จะตามมาทุกส่วน ปัญหามีอยู่ว่าเริ่มต้นตัวปัญญาไม่มี ทำให้เราเห็นชอบและดำริชอบไม่ได้ จะทำอย่างไร
ไม่ใช่มานั่งคิดเอาเองว่าฉันต้องเห็นชอบนะ ต้องดำริชอบนะ คิดยังไงก็ทำไม่ได้ เพราะมันไม่มี ขบวนการที่จะทำให้ เกิดปัญญาจึงเกิดขึ้น
โดยเริ่มต้นจากศีลก่อนก็ได้ สมาธิก่อนก็ได้ ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ปัญญาไม่เกิด เพราะขาดสติ การเจริญสติ จึงเป็นแนวทางหนึ่ง
ของพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดปัญญา สติจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสมาธิก่อน อุบายวิธีเพื่อทำให้เกิดสมาธิ ในพระพุทธศาสนาจึงมีอยู่มากมาย
แต่ก็รวมอยู่ในการปฏิบัติกรรมฐาน