080-5519598 (คุณแก้ว) plarnkhoi@hotmail.com
Select Page

บทความพ่อครูnew-05

สิ่งกั้นบังมิให้เห็นไตรลักษณ์ คือ
สันตติกั้นบัง อนิจจัง
อิริยาบถกั้นบัง ทุกขัง
ฆนสัญญากั้นบัง อนัตตา

ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เกิดวิปัสสนา หรือเห็นไตรลักษณ์ได้นั้น ต้องทำลายเครื่องกั้นบังไตรลักษณ์เสียก่อน
ถ้าไม่สามารถทำลายเครื่องกั้นบังไตรลักษณ์ให้หมดไป ก็จะไม่มีโอกาสที่จะเห็นไตรลักษณ์ได้

สันตติ คือ แรงแห่งความสืบต่อของกาลเวลา ระหว่าง อดีต ปัจจุบัน อนาคต เกิดขึ้นตั้งอยู่ สลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลาย
สันตติส่วนซึ่งเป็นแรงสืบต่อของ กาย เวทนา จิต ธรรม หรือ รูป นาม นั้น เกิดดับ เกิดดับ ติดต่อสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว
คือ รูปและนาม มีทั้งเกิดและดับ สืบติดต่อกันตลอดเวลา ไม่มีหยุดหย่อน และเป็นการเกิดดับติดต่อกัน
อย่างรวดเร็วมาก จนไม่สามารถที่จะเห็นความดับได้ เพราะรูปใหม่นามใหม่นั้นเกิดขึ้นมาแทนกันอยู่เรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว
ทำให้เราเห็นเหมือนกับว่า รูปนั้นนามนั้นยังคงอยู่ตลอดเวลา การเห็นรูปนามไม่เที่ยงจึงเป็นของยาก เมื่อเห็นความจริงไม่ได้
วิปลาส คือ ความสำคัญผิดว่า เที่ยง ก็ต้องเกิดขึ้นปิดบัง อนิจจัง

สันตติแรงสืบต่อของรูปและนาม เป็นปัจจัยตามธรรมชาติ
ดับไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำจึงไม่ใช่ไปดับที่ตัวสันตติ แต่ต้องทำการเจริญสติเพื่อให้รู้เท่าทันสันตติแรงสืบต่อของรูปนาม
ทุกเวลาและทุกอิริยาบถ ตามดูตัวสันตติอย่างไม่ประมาทจนคล่องตัว สามารถย้อนหลังแรงนี้สืบสาวไปหาอดีต และไปข้างหน้า
ถึงอนาคต รู้เหตุรู้ผลที่เราจะได้รับจากการที่เรา ได้ทำกรรมไว้แล้ว และยอมรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะเราทำเหตุ กายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม มาแล้วในอดีต ปัจจุบันเป็นผลที่เราได้รับ และผลจากี่เรากำลังทำปัจจุบันอยู่ แรงสันตตินี้เป็นตัวเชื่อมโยงให้เป็น
ไปตามกฎแห่งกรรมเช่นเดียวกัน เมื่อเรามีสติรู้เท่าทันสันตติแรงสืบต่อของรูปนามแล้ว รูปนาม เกิดขึ้นตั้งอยู่สลาย คือเกิดแล้วก็ดับ
เกิดแล้วก็ดับเป็นธรรมดาของมัน สัตว์โลกต้องเป็นไปตามกรรม ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเหตุหมดไป วิปลาสซึ่งสำคัญผิดว่า
รูปนามนั้นเที่ยงแท้แน่นอนก็หมดไป เหตุดับผลก็ดับ

ในเวลานั่งปฏิบัติกรรมฐาน นั่งไปนั่งมาเริ่มมีอาการปวดเมื่อยชาขา
เกิดอาการกังวลเบื่อหน่าย ทรมาน ความกลัว ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นผลของวิบากกรรมทั้งนั้น อย่าไปหนีมัน
ไม่มีผู้ใดหนีกรรมตัวเองพ้น เราหนีมันวันนี้ก็ต้องไปใช้ในวันหน้า ใช้ในชาติหน้า ในชีวิตจริงซึ่งไม่ค่อยจริงของเรา
ถูกอิริยาบถปิดบังทำให้ไม่เห็นทุกข์ พอนั่งในท่าไหนนานๆ ขาเริ่มชาและเจ็บปวด ก็เปลี่ยนอิริยาบถใหม่ ทำให้ทุกข์ที่จะเกิดมา
ในรูปของความชาและเจ็บปวดหายไป เมื่ออยู่ในบ้านนานๆ อาการเบื่อหน่ายเริ่มเกิดขึ้น ก็เปลี่ยนอิริยาบถใหม่ โดยการเดินออกไป
นอกบ้าน ความทุกข์ซึ่งมาในรูปของความเบื่อหน่ายก็หายไป เดินไปเดินมาเกิดอาการเหนื่อยก็เปลี่ยนอิริยาบถใหม่โดยไปนั่งรถยนต์แทน
ความทุกข์ซึ่งมาในรูปของความเหนื่อยก็หายไป นั่งรถไปนั่งรถมาความรู้สึกว่าเสียเวลาก็เกิดขึ้น ก็เปลี่ยนอิริยาบถใหม่
ความทุกข์ซึ่งมาในรูปของ ความรู้สึกเสียเวลาก็หายไป เราใช้อิริยาบถเพื่อหนีทุกข์เรื่อยมา จนทำให้ไม่เห็นทุกข์ เป็นเหตุทำให้
ไม่เห็นว่ารูปนามนี้มีทุกข์เบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา จึงสำคัญผิดว่าชีวิตมีสุขดีสุขวิปลาสด้วยอำนาจของทิฏฐิจึงเกิดขึ้นเป็นปัจจัยแก่ตัณหา
ทำให้อยากมี อยากเป็น อยากได้ ทำให้ยินดีพอใจขวนขวายเพื่อจะได้มีโอกาสเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อหนีทุกข์เป็นพฤติกรรมซึ่งพยายาม
หนีกฎแห่งกรรม เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ จึงทำให้ไม่เห็นทุกข์ แลทำให้สุขวิปลาสเกิดขึ้น เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเจริญสติ
เพื่อให้รู้เท่าทันอิริยาบถ ซึ่งเป็นเหตุทำให้ไม่เห็นทุกข์ เมื่อเหตุหมดไป สุขวิปลาสซึ่งเป็นผลก็หมดไป เหตุดับผลก็ดับ

อิริยาบถเพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์ โดยทั่วไปก็ไปใช้วิธีเสพกามคุณทั้งห้า ให้จิตไปรับอารมณ์ที่เป็นสุขจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
เพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์ แต่ก็กลบเกลื่อนได้เพียงชั่วขณะ ทุกข์ก็ยังคงอยู่ บางทีแถมยังไปเพิ่มอารมณ์ใหม่เข้ามาอีก
บางทีก็ใช้วิธีหนีเข้าไปอยู่ในอารมณ์ของฌาน แต่ก็ดับได้ชั่วคราวขณะที่อยู่ในฌานเท่านั้น เมื่อออกจากฌานแล้ว
ทุกข์ก็ยังอยู่เพราะมิได้ระบายอารมณ์ที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นออกไป เพียงกดข่มมันไว้ชั่วขณะเท่านั้นเอง

ฆนสัญญากั้นบังอนัตตา เวลาเกิดมาใหม่ๆเรียกว่าทารก ยังไม่มีชื่อ คุณพ่อคุณแม่ก็ตั้งชื่อว่าเด็กชายแดง
บันทึกไว้แล้วหนึ่งสัญญา นี่พ่อนะ นี่แม่นะ นี่เงินนะ นี่รวยนะนี่ชนะนะ นี่เก่งนะ นี่สะดวกนะ นี่สบายนะ นี่ถูกนะ นี่ผิดนะ นี่ดีนะ นี่ชั่วนะ
หลายๆสัญญารวมกันเป็นฆนสัญญา ซึ่งมาในรูปของภาษา ถ้าขาดสติไม่ระมัดระวัง ย้ำคิดย้ำทำอยู่เนืองๆจนไปหลงติดกับสัญญาเหล่านั้น
กลายเป็นนิสัยประทับจิตติดวิญญาณแปรรูปเป็นกิเลส พัฒนาไปสู่ตัณหา อุปาทาน ภาษาซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นจึงเป็นสิ่งปรุงแต่งต้นๆ
ที่มนุษย์เราใส่เข้าไปบันทึกกลายเป็นสัญญา ถ้าสติปัญญาไม่แก่กล้าก็จะทำให้ไปหลงติดกับสัญญานั้นซึ่งมาในรูปของภาษา(ภาษาบ่งบอกนิสัย)
ฆนสัญญาเหล่านั้นทำให้เกิดอัตตาขึ้นเป็นตัวเป็นตน จนทำให้ไม่เห็นความจริงตามธรรมชาติคืออนัตตา

พระพุทธองค์ทรงได้ทดลอง ทดสอบ ทั้งการเสพกาม การเข้าฌาน การทรมานสังขาร และอีกหลายๆ วิธี ก็ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริง

วิปัสสนากรรมฐานคือวิธีการที่มีคุณสมบัติ
ที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้จริงโดยยึดหลักปฏิบัติ
ทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา